เอเจนซีส์ / ASTV ผู้จัดการออนไลน์ - รัฐบาลกรีซภายใต้การนำของนายกรัฐมนตรีอเล็กซิส ซีปราส และกลุ่มการเมืองฝ่ายซ้าย “ซีริซา” เดินหน้าแผนการปฏิรูปรัฐวิสาหกิจครั้งสำคัญ ด้วยการให้ความเห็นชอบต่อแผนการขายกิจการ “สนามบิน 14 แห่ง” ทั่วประเทศให้กับบริษัทเอกชนจากเยอรมนีแล้ว ในวันอังคาร ( 18 ส.ค.)ที่ผ่านมา
รายงานข่าวล่าสุดจากกรุงเอเธนส์ระบุว่า รัฐบาลของนายกรัฐมนตรีอเล็กซิส ซีปราสเห็นชอบขายกิจการสนามบินรวม 14 แห่งทั่วประเทศ ให้กับบริษัทฟราพอร์ต เอจีจากประเทศเยอรมนี ซึ่งเป็นผู้ดูแลกิจการของสนามบินนานาชาติที่นครแฟรงค์เฟิร์ตอยู่ในเวลานี้
สื่อท้องถิ่นในกรีซรายงานว่า ข้อตกลงการขายกิจการสนามบินทั้ง 14 แห่งนี้ ให้กับบริษัทเอกชนชื่อดังจากเมืองเบียร์ในคราวนี้ จะส่งผลทำให้รัฐบาลกรีซมีรายได้เข้าประเทศมากกว่า 1,230 ล้านยูโร (หรือคิดเป็นเงินไทยราว 48,403 ล้านบาท) และถือเป็นหนึ่งในแผนการปฏิรูปรัฐวิสาหกิจที่ง่อยเปลี้ยของกรีซ ซึ่งอาจครอบคลุมถึงการพิจารณาขายกิจการท่าเรือ และกิจการโรงไฟฟ้าในอนาคต
รายงานข่าวระบุว่า ในความเป็นจริงแล้ว บริษัทฟราพอร์ต เอจี จากเยอรมนี ซึ่งเป็นผู้ดูแลกิจการของสนามบินนานาชาติที่นครแฟรงค์เฟิร์ต ได้ยื่นข้อเสนอขอซื้อกิจการสนามบินทั้ง 14 แห่งของกรีซมาตั้งแต่ช่วงปลายปีที่แล้ว แต่รัฐบาลฝ่ายซ้ายของกรีซได้สั่งชะลอการขาย เพื่อตรวจสอบความโปร่งใสในกระบวนการเสนอราคา และพิจารณาถึงความคุ้มค่าของผลตอบแทนที่รัฐบาลเอเธนส์จะได้รับ
อย่างไรก็ดี โฆษกรัฐบาลกรีซออกมาแถลงที่กรุงเอเธนส์โดยยืนยันว่า การขายกิจการสนามบิน 14 แห่งของกรีซให้กับบริษัทฟราพอร์ต เอจี จากเยอรมนี ในครั้งนี้ “มิใช่การขายขาด” แต่เป็นเพียงการมอบสิทธิ์ในการบริหารจัดการสนามบินทั้ง 14 แห่งให้กับบริษัทเอกชนดังกล่าวจากเยอรมนี เป็นผู้ดูแลเป็นระยะเวลา 40 ปี และเมื่อครบกำหนด สนามบินทั้งหมดก็จะกลับมาอยู่ภายใต้การดูแลของรัฐบาลกรีซตามเดิม
ความเคลื่อนไหวล่าสุดในการขายกิจการสนามบินทั้ง 14 แห่งของกรีซ มีขึ้นไม่นานหลังจากที่ที่ประชุมรัฐมนตรีคลังยูโรโซน (ยูโรกรุ๊ป) ได้ให้ความเห็นชอบแพ็คเกจเงินกู้ช่วยชีวิตก้อนที่ 3 ที่มีระยะเวลา 3 ปี ในวงเงิน 86,000 ล้านยูโรเมื่อวันศุกร์ ( 14 ส.ค.) ที่ผ่านมา เพื่อช่วยประคับประคองให้กรีซอยู่รอดต่อไป และหลีกเลี่ยงความวุ่นวายที่อาจเกิดขึ้นจากกรณีที่รัฐบาลเอเธนส์ต้องออกนำประเทศของตน ก้าวออกจากกลุ่มยูโรโซนหรือกลุ่ม 19 ประเทศที่ใช้เงินสกุลยูโรร่วมกัน
เงินกู้งวดรอบใหม่วงเงินสูงสุด 86,000 ล้านยูโรนี้ จะถูกจัดสรรแก่กรีซในช่วง 3 ปีข้างหน้า หลังการหารือของที่ประชุมรัฐมนตรีคลังยูโรโซน (ยูโรกรุ๊ป) ที่ใช้เวลานานกว่า 6 ชั่วโมง เพื่อหาบทสรุปของแผนปฏิรูปที่เข้มข้นและครอบคลุมที่ทางรัฐบาลเอเธนส์ จะต้องนำไปปฏิบัติ เพื่อแลกกับเงินช่วยเหลือก้อนดังกล่าว
ด้านฌอง-โคล้ด ยุงเกอร์ ประธานคณะกรรมาธิการยุโรปเปิดเผยว่าการเจรจา กับรัฐบาลฝ่ายซ้ายของนายกรัฐมนตรี อเล็กซิส ซีปราสแห่งกรีซ ที่ยืดเยื้อยาวนานกว่า 6 เดือน ต้องฟันฝ่าความยุ่งยากและบททดสอบต่างๆนานา
"มันเหมือนกับเรายืนอยู่บนขอบเหว แต่วันนี้ผมยินดีที่จะบอกว่าทุกฝ่ายได้เคารพต่อพันธะสัญญาของพวกเขา กรีซกำลังดำเนินชีวิตโดยยึดตามความมั่นสัญญาปฏิรูปที่ต้องใช้ความพยายามสูง" ยุงเกอร์ระบุในถ้อยแถลงและว่า "สารจากการประชุมวันนี้เสียงดังฟังชัด และบนพื้นฐานนี้ กรีซยังเป็นสมาชิกของพื้นที่ยูโรไม่เปลี่ยนแปลง"
ด้านแหล่งข่าวทางการทูตในกรุงบรัสเซลส์ของเบลเยียม เผยว่าเงินช่วยเหลืองวดแรกที่จะจัดสรรแก่กรีซในสัปดาห์นี้ อาจมียอดรวมทั้งสิ้นราว 13,000 ล้านยูโร
มีรายงานว่า รัฐบาลเอเธนส์นั้นต้องการเงินช่วยเหลือ อย่างช้าที่สุดคือในวันที่ 20 สิงหาคมนี้ ซึ่งเป็นวันครบกำหนดชำระหนี้ก้อนที่มีมูลค่ากว่า 3,000 ล้านยูโร คืนให้แก่ธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) และเป็นที่แน่ชัดแล้วว่า รัฐบาลของกรีซจะไม่มีเงินจ่ายคืนหนี้ก้อนนี้ หากไม่ได้รับแพ็คเกจความช่วยเหลือก้อนนี้ ซึ่งเป็นเงินกู้ก้อนที่ 3 ในรอบ 5 ปี ที่ผ่านมา
การอนุมัติของรัฐมนตรีคลัง 19 ชาติยูโรโซนในวันศุกร์(14 ส.ค.) มีขึ้นหลังจากเหล่าสมาชิกรัฐสภากรีซ โหวตลงมติผ่านข้อตกลงความช่วยเหลือก้อนใหม่ ดังกล่าวก่อนหน้านี้ในวันเดียวกัน ตามหลังการอภิปรายอย่างเผ็ดร้อนตลอดคืนวันพฤหัสบดี(13 ส.ค.) ต่อมาตรการปฏิรูปที่เข้มข้นและกว้างขวางอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน ที่รัฐบาลเอเธนส์ต้องนำมาบังคับใช้อย่างจริงจัง
ทั้งนี้ อเล็กซิส ซีปราส ก้าวเข้าสู่อำนาจในเดือนกรกฎาคมปีก่อน จากระลอกแห่งความโกรธแค้นของประชาชนต่อเงื่อนไขปฏิรูปที่เรียกร้องโดยเหล่าเจ้าหนี้ระหว่างประเทศ แลกกับเงินช่วยเหลือ 2 ก้อนก่อนหน้านี้ที่มีวงเงินรวม 240,000 ล้านยูโร ขณะที่นักวิจารณ์บอกว่าแผนปฏิรูปที่เจ็บปวดนี้รังแต่เป็นบ่อนทำลาย มากกว่าที่จะช่วยกอบกู้เศรษฐกิจของกรีซ ซึ่งหลุดพ้นจากช่วงเวลา 6 ปีแห่งภาวะถดถอยในปี 2014