เอเจนซีส์ - เครื่องบินสายการบินอินโดนีเซียสูญหาย พร้อมลูกเรือและผู้โดยสาร 54 คน ระหว่างบินอยู่ในเส้นทางภายในจังหวัดปาปัว ซึ่งเป็นดินแดนห่างไกลทางภาคตะวันออกของประเทศ ท่ามกลางสภาพอากาศเลวร้ายเมื่อบ่ายวันอาทิตย์ (16 ส.ค.) ต่อมาอีกหลายชั่วโมงเจ้าหน้าที่อาวุโสของกระทรวงคมนาคมแดนอิเหนาแถลงว่ามีชาวบ้านพบซากเครื่องบินลำนี้แล้ว
“(ชาวบ้าน) พบเครื่องบินลำนี้แล้ว ตามคำบอกเล่าของชาวบ้าน เครื่องบินลำนี้ได้ตกลงมาในบริเวณภูเขา เวลานี้กำลังอยู่ระหว่างการดำเนินการตรวจสอบยืนยัน” สุปราเซตโย อธิบดีกรมการขนส่งทางอากาศ กระทรวงคมนาคมอินโดนีเซีย แถลงในคืนวันอาทิตย์
เขาให้รายละเอียดเพิ่มเติมว่า ได้พบซากเครื่องบินของไตรกานาลำนี้ที่บริเวณ แคมป์ 3 ตำบล ออค บาเป ในเขตปกครองเทือกเขาบินตัง โดยที่ชาวบ้านระบุว่าเครื่องบินได้ตกลงในบริเวณภูขาตันก็อค
เวลานี้ยังไม่มีข่าวคราวใด ๆ ว่ามีผู้รอดชีวิตหรือไม่
ก่อนหน้านั้น หน่วยค้นหาและกู้ภัยของแดนอิเหนา ระบุว่า เครื่องบินที่สูญหายลำนี้เป็นของสายการบินไตรกานา แอร์ ซึ่งขาดการติดต่อกับศูนย์ควบคุมการจราจรทางอากาศเมื่อตอนเกือบจะ 15.00 น. (13.00 น. ตามเวลาเมืองไทย) หลังทะยานขึ้นจากสนามบินเซนตานี ในจายาปุระ ซึ่งเป็นเมืองเอกของปาปัว จังหวัดที่อยู่ปลายสุดด้านตะวันออกของอินโดนีเซีย
เครื่องบินลำนี้ซึ่งเป็นแบบเอทีอาร์ 42-300 เครื่องยนต์ใบพัดคู่ ขณะสูญหายไปนั้นบรรทุกผู้โดยสารผู้ใหญ่ 44 คน, เด็ก 5 คน และลูกเรือ 5 คน ในเส้นทางบินที่ตามกำหนดใช้เวลาราว 45 นาที
จากข้อมูลของเอวิเอชัน เซฟตี เน็ตเวิร์ก ซึ่งเป็นฐานข้อมูลออนไลน์นั้น เครื่องเอทีอาร์ 42-300 ขึ้นบินครั้งแรกเมื่อ 27 ปีที่แล้ว โดยเอทีอาร์เป็นบริษัทร่วมทุนระหว่างแอร์บัส และอลิเนีย แอร์มักคี บริษัทในเครือของฟินเมกคานิกาของอิตาลี
หน่วยค้นหาและกู้ภัยเสริมว่า เที่ยวบินดังกล่าวออกจากจายาปุระประมาณครึ่งชั่วโมง ก่อนที่จะขาดการติดต่อ โดยกำลังมุ่งหน้าสู่เมืองอ็อกซิบิล ซึ่งเป็นเมืองห่างไกลที่ตั้งอยู่ในบริเวณที่เต็มไปด้วยภูเขาและเข้าถึงได้โดยเครื่องบินเท่านั้น
กัปตันเบนี สุมาร์ยันโต ผู้อำนวยการฝ่ายปฏิบัติการของไตรกานา แอร์ เผยว่า เครื่องบินลำดังกล่าวติดต่อกับหอควบคุมการบินในอ็อกซิบิล 10 นาที ก่อนถึงเพื่อขอลงจอด แต่กลับหายไปไร้ร่องรอย และครึ่งชั่วโมงต่อมา ไตรกานา แอร์ได้ส่งเครื่องบินอีกลำออกค้นหาในเส้นทางดังกล่าว แต่ไม่พบและต้องบินกลับสนามบินเซนตานีเนื่องจากสภาพอากาศเลวร้ายมาก
เบนียังบอกอีกว่า สภาพอากาศของอ็อกซิบิลไม่สามารถคาดการณ์ได้ เนื่องจากอาจเปลี่ยนเป็นมีหมอกมาก มืดครึ้มและลมแรงได้ทันทีทันใดโดยไม่มีสัญญาณเตือนใด ๆ
“เราสงสัยว่า สภาพอากาศน่าจะเป็นสาเหตุ เนื่องจากเครื่องบินไม่ได้บรรทุกผู้โดยสารมากเกินไป โดยปกติแล้ว เครื่องบินรุ่นนี้สามารถรองรับผู้โดยสารได้ 50 คน”
ด้าน เจ.เอ. บาราตา โฆษกกระทรวงคมนาคมอินโดนีเซีย แถลงว่า รัฐบาลกำลังประสานงานกับเจ้าหน้าที่ท้องถิ่น และว่า สภาพอากาศที่มืดครึ้มและมีหมอกหนาไม่เอื้ออำนวยต่อการออกค้นหา
ไตรกานา แอร์เป็นสายการบินขนาดเล็กที่ก่อตั้งขึ้นในปี 1991 ให้บริการเที่ยวบินภายในประเทศประมาณ 40 เส้นทาง สายการบินแห่งนี้ถูกสหภาพยุโรป (อียู) ขึ้นบัญชีดำห้ามให้บริการในยุโรปนับจากปี 2007 เนื่องจากกังวลด้านมาตรฐานความปลอดภัยของสายการบินเอง รวมทั้งสภาพแวดล้อมการบังคับใช้กฎระเบียบการบินของอินโดนีเซีย
ไตรกานาเคยประสบอุบัติเหตุร้ายแรง 14 ครั้งนับจากเริ่มให้บริการในปี 1991 และหากไม่นับครั้งล่าสุดนี้ สายการบินแห่งนี้ต้องปลดระวางเครื่องบินมาแล้ว 10 ลำ
ทั้งนี้ เครื่องบินเล็กเป็นพาหนะที่ใช้กันทั่วไปในการเดินทางไปยังปาปัว และสภาพอากาศเลวร้ายเป็นสาเหตุของอุบัติเหตุหลายครั้งในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา
วันพุธที่แล้ว (12) เครื่องบินที่ใช้ใบพัดที่ผลิตโดยบริษัทเซสนาและดำเนินการโดยสายการบินโคมาลา แอร์ ตกในเขตยาฮูกิโมของปาปัว ทำให้มีผู้เสียชีวิต 1 คน และบาดเจ็บ 5 คน ซึ่งเจ้าหน้าที่สงสัยว่า เกิดจากสภาพอากาศเลวร้าย
ขณะเดียวกัน อินโดนีเซียมีประวัติความปลอดภัยทางการบินที่ไม่ดีนัก เดือนธันวาคมปีที่แล้ว เครื่องบินของแอร์เอเชียที่บินจากเมืองสุราบายาในอินโดนีเซียและมุ่งหน้าสู่สิงคโปร์ ตกในทะเลชวาระหว่างที่มีพายุ ทำให้ผู้โดยสารและลูกเรือทั้งหมด 162 คนเสียชีวิต
ภาคการบินแดนอิเหนาขยายตัวอย่างรวดเร็วตามการเติบโตทางเศรษฐกิจ และประชาชนจำนวนมากขึ้นเลือกเดินทางโดยเครื่องบินภายในประเทศหมู่เกาะที่ใหญ่ที่สุดในโลกแห่งนี้
ทว่า สายการบินต่างๆ ของอินโดนีเซียประสบปัญหาขาดแคลนนักบินและช่างเทคนิคที่ผ่านการอบรมอย่างดีเพื่อรองรับการขยายตัวของอุตสาหกรรม
อุบัติเหตุของแอร์เอเชียเมื่อปลายปีที่แล้วกระตุ้นให้รัฐบาลลุกขึ้นมาประกาศกฎระเบียบใหม่เพื่อปรับปรุงความปลอดภัยในการบิน นอกจากนั้นในเดือนกรกฎาคม ประธานาธิบดีแดนอิเหนายังให้คำมั่นจะตรวจสอบฝูงบินกองทัพอากาศ หลังจากเครื่องบินขนส่งทางทหารตกลงในย่านชุมชนทางเหนือของประเทศ ทำให้มีผู้เสียชีวิตมากกว่า 100 คน