เอเจนซีส์ /เอเอฟพี/ASTVผู้จัดการออนไลน์ - วันนี้ (9 ส.ค.) ญี่ปุ่นจัดพิธีรำลึกครบรอบ 70 ปี สหรัฐฯ ทิ้งระเบิดนิวเคลียร์ใส่นางาซากิ ซึ่งรวมไปถึงการสงบนิ่งไว้อาลัยให้กับผู้สูญเสียทันทีร่วม 74,000 คนที่อยู่ใกล้กับโรงงานผลิตอาวุธด้วยความร้อนที่เกิดขึ้นจากแรงระเบิดสูงถึง 4,000 องศาเซลเซียส พร้อมทั้งการออกแถลงการณ์ทั้งนายกรัฐมนตรีชินโซ อาเบะ และนายกเทศมนตรีนางาซากิ
บีบีซี สื่ออังกฤษรายงานในวันอาทิตย์ (9) ถึงพิธีรำลึกคล้ายวันครบรอบ 70 ปีโศกนาฏกรรมของประชาชนชาวนางาซากิที่ต้องเสียชีวิตหลังจากถูกสหรัฐฯหย่อนระเบิดนิวเคลียร์ 3 วันหลังจากที่ทิ้งลูกแรกที่ฮิโรชิมา ส่งผลให้คนตายทันที 74,000 คนในบริเวณใกล้กับโรงงานผลิตอาวุธผลจากอานุภาพความร้อนที่สูงถึง 4,000 องศาเซลเซียส ซึ่งสามารถหลอมโลหะได้
ทั้งนี้ ในพิธีรำลึกครบรอบ 70 ปีที่นางาซากิ โบสถ์หลังเดิมที่ถูกทำลายในระหว่างการถูกสหรัฐฯ โจมตี และต่อมามีการสร้างขึ้นมาใหม่ในภายหลัง ได้ร่วมพิธีรำลึกครั้งนี้โดยมีการจัดทำพิธีมิสซาขึ้นที่นั่น
สื่ออังกฤษรายงานว่า เพนตากอนเลือกที่จะใช้ระเบิดนิวเคลียร์โจมตีนางาซากิเพราะเป้าหมายเดิมคือ “โคคุระ” นั้นไม่สามารถลงมือปฏิบัติการได้เนื่องจากมีเมฆบดบังในวันนั้น
พิธีรำลึกที่สงบเริ่มต้นขึ้นในเช้าวันอาทิตย์ (9) ที่มีเด็กๆ ชาวนางาซากิออกมาอ่านแถลงการณ์เสรีภาพและตามด้วยการสั่นระฆังเพื่อเป็นสัญลักษณ์ และตามด้วยการสงบนิ่งไว้อาลัยในเวลา 11.02 น.ตามเวลาท้องถิ่นของการถูกโจมตี และในพิธีนี้คาดว่า เอกอัคราชทูต แคโรไรน์ เคนเนดี จะเดินทางมาร่วมงานด้วยเช่นกัน
บีบีซีรายงานว่า ระเบิดนิวเคลียรส่งผลทำลาย 1 ใน 3 ของเมืองทันที และมีผู้เสียชีวิตหลายหมื่นคนในวินาทีที่ระเบิดนิวเคลียร์ตกถึงพื้น นอกจากนี้รังสีนิวเคลียร์ยังคร่าชีวิตชาวนางาซากิเป็นจำนวนมากในเวลาต่อมา
และในวันถัดมาหลังจากที่นางาซากิถูกทำลายจนพินาศ ญี่ปุ่นประกาศยอมแพ้สงครามโลกครั้งที่ 2 ถึงแม้ว่ามาจนถึงทุกวันนี้ยังเป็นข้อถกเถียงที่ว่าเป็นความจำเป็นแค่ไหนที่ต้องใช้ระเบิดนิวเคลียร์ 2 ลูกเพื่อทำให้ญี่ปุ่นยอมแพ้
หนึ่งในผู้รอดชีวิตชาวนางาซากิ ที่ปัจจุบันทำงานเป็นมัคคุเทศก์ประจำพิพิธภัณฑ์นางาซากิที่จัดแสดงเกี่ยวกับเหตุการณ์วันระเบิดนิวเคลียร์โจมตี โทรุ มิเนะ (Toru Mine) ได้เล่าถึงเหตุการณ์วันนั้นว่า “เป็นวันที่อากาศสดใส มีแสงแดด แต่ทว่าจู่ๆ กลับมีแสงจ้าเกิดขึ้น ซึ่งในความคิดแวบแรกของผมคือ บางทีอาจเป็นฟ้าแลบก็เป็นได้ แต่ทว่าผมกลับฉุกคิดว่าจะเป็นไปได้อย่างไรในการเกิดฟ้าแลบในวันที่ฝนไม่ตก”
นอกจากนี้ ผู้รอดชีวิตอีกคน ซูมิเทรุ ทานิกูชิ (Sumiteru Taniguchi) วัย 86 ปี ได้เปิดเผยถึงเหตุการณ์ในวันนั้นเช่นกัน ซึ่งมาจนถึงทุกวันนี้ ชายชราผู้นี้ยังมีแผลเป็นที่น่ากลัวบริเวณหลังของเขา รวมไปถึงซี่โครง 3 ซี่ที่ยังเหลืออยู่เพียงครึ่งเนื่องจากอานุภาพของระเบิดนิวเคลียร์
“ในขณะที่คนอื่นๆ รอบตัวผมต่างเสียชีวิต แต่ผมกลับยังคงมีชีวิต ผู้คนคิดว่าผมมีชีวิตรอดแต่ตัวของผมเองกลับคิดว่าผมถูกทำให้มีชีวิตรอด ซึ่งผมยังคงต้องทนทรมานอยู่” ทานิกูชิกล่าว
เอเอฟพีรายงานว่า ในวันพฤหัสบดี (6) นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น ชินโซ อาเบะ ประกาศที่ฮิโรชิมาเนื่องในวันครบรอบ 70 ปี ที่ฮิโรชิมาถูกสหรัฐฯ ทิ้งระเบิดนิวเคลียร์ ซึ่งส่งผลให้มีผู้คนเสียชีวิตราว 140,000 คน รวมไปถึงผู้ที่เสียชีวิตในภายหลังเนื่องมาจากผลกระทบจากได้รับสารกัมมันตภาพรังสีในระดับสูง
โดยอาเบะประกาศจะพยายามทำให้โลกนี้ปลอดอาวุธนิวเคลียร์ ซึ่งเอเอฟพีชี้ว่าคำประกาศของอาเบะเกิดขึ้นในขณะที่ญี่ปุ่นมีกำหนดการเริ่มต้นเปิดเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ในทางตอนใต้ของญี่ปุ่นเพื่อการผลิตไฟฟ้าอีกครั้ง ซึ่งจะถือเป็นเตาแรกที่เริ่มเปิดใช้หลังจากการเกิดวิกฤตโรงงานไฟฟ้านิวเคลียร์ฟูกูชิมะที่มีรังสีรั่วไหลออกมาหลังจากสึนามิขนาดยักษ์ได้เข้าทำความเสียหายโรงงานไฟฟ้าของบริษัทเทปโกที่ตั้งติดชายฝั่งโรงงานนี้ในปี 2011
นอกจากการผลักดันเกี่ยวกับการใช้พลังงานนิวเคลียร์เพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าของอาเบะแล้ว เขายังได้รับเสียงวิพากษ์อย่างหนักในเรื่องการผลักดันให้มีการตีความรัฐธรรมนูญญี่ปุ่นที่ร่างโดยสหรัฐฯเพื่อต้องการเพิ่มอำนาจของกองกำลังป้องกันตัวเองญี่ปุ่นในการปฏิบัติการทางทหาร
ความเคลื่อนไหวครั้งนี้เกิดขึ้นหลังจากญี่ปุ่นมีปัญหากับปักกิ่งในเขตพิพาททางทะเลจีนตะวันออกบริเวณหมู่เกาะเซนกากุ หรือหมู่เกาะเตี้ยวอี๋ว์ในภาษาจีน