xs
xsm
sm
md
lg

เคร์รีระบุ “ครบรอบ 70 ปีบอมบ์ฮิโรชิมา” แสดงให้เห็นความสำคัญ “ดีลนุกอิหร่าน”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


รอยเตอร์ - จอห์น เคร์รี รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ระบุในวันนี้ (6 ส.ค.) ว่า การครบรอบ 70 ปีการทิ้งระเบิดปรมาณูของสหรัฐฯ ที่เมืองฮิโรชิมาของญี่ปุ่นเน้นย้ำให้เห็นถึงความสำคัญของข้อตกลงว่าด้วยโครงการนิวเคลียร์ของอิหร่านที่ได้รับการบรรลุเมื่อเดือนที่แล้ว

ในวันนี้ (6) งานพิธีต่างๆ ถูกจัดขึ้นในเมืองฮิโรชิมาเนื่องในโอกาสครบรอบ 70 ปีของการทิ้งระเบิดปรมาณูครั้งแรกของโลก คาซุมิ มัตซุย นายกเทศมนตรีของเมืองนี้ เรียกร้องให้อาวุธนิวเคลียร์ถูกกำจัดทิ้งออกไปให้หมดและต้องการให้มีการสร้างระบบความมั่นคงที่ไม่ต้องอาศัยอำนาจทางทหาร

ในช่วงเริ่มต้นของพบปะกับ ฟูมิโอะ คิชิดะ รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศญี่ปุ่นระหว่างการประชุมระดับภูมิภาคในมาเลเซีย เคร์รี ถูกถามว่า เขาคิดว่าการครบรอบครั้งนี้มีนัยสำคัญใดๆ หรือไม่

เคร์รีตอบว่า “มันเป็นไปไม่ได้เลยที่จะไม่มี ผมได้เห็นงานพิธีรำลึก ซึ่งเห็นได้ชัดเลยว่ามันเป็นเครื่องเตือนใจที่ทรงพลังมหาศาลถึงไม่เฉพาะเพียงแค่ผลกระทบของสงครามที่ยังคงเหลือในทุกวันนี้กับผู้คนและประเทศต่างๆ เท่านั้น แต่มันยังเน้นย้ำถึงความสำคัญของข้อตกลงที่เราได้บรรลุกับอิหร่านเพื่อลดความเป็นไปได้ของการมีอาวุธนิวเคลียร์เพิ่มขึ้น”

เคร์รีกล่าวว่า การครบรอบครั้งนี้ยังเน้นย้ำถึงความสำคัญของการทำงานร่วมกันระหว่างสหรัฐฯ และประเทศอื่นๆ โดยเฉพาะรัสเซีย เพื่อลดจำนวนอาวุธนิวเคลียร์ที่มีอยู่

ภายใต้ข้อตกลกกับอิหร่านเมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม สหรัฐฯ และชาติมหาอำนาจเห็นพ้องที่จะยกเลิกมาตรการคว่ำบาตรอิหร่านแลกกับการควบคุมโครงการนิวเคลียร์ ซึ่งฝ่ายตะวันตกสงสัยว่ามีเป้าหมายเพื่อพัฒนาวิธีการสร้างระเบิดปรมาณู

สมาชิกพรรครีพับริกันของสหรัฐฯต่างคัดค้านข้อตกลงนี้ โดยอ้างว่ามันไม่รัดกุมพอที่จะป้องกันไม่ให้อิหร่านได้มาซึ่งอาวุธนิวเคลียร์ในระยะยาว และสภาคองเกรสสหรัฐฯมีกำหนดที่จะต้องลงมติยอมรับและปัดตกข้อตกลงนี้ก่อนวันที่ 17 กันยายน

การทิ้งระเบิดปรมาณูของสหรัฐฯที่เมืองฮิโรชิมา ซึ่งคร่าชีวิตผู้คนไป 140,000 รายในช่วงสิ้นปี 1945 เป็นการทิ้งระเบิดปรมาณูครั้งแรกของโลก ก่อนที่จะมีลูกต่อไปที่เมืองนางาซากิเมื่อวันที่ 9 สิงหาคม ปี 1945 ซึ่งคร่าชีวิตคน 40,000 คนในทันที ทั้งนี้สงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุดลงในวันที่ 15 สิงหาคม


กำลังโหลดความคิดเห็น