รอยเตอร์ – สื่อต่างประเทศตีแผ่เรื่องราว 2 หนุ่มคู่เกย์จากสหรัฐฯ ที่โอดครวญว่าชีวิตของพวกเขากำลังถูกทำลายย่อยยับ หลังแม่อุ้มบุญชาวไทยปฏิเสธที่จะเซ็นเอกสารยินยอมให้นำ “น้องคาร์เมน” ลูกสาววัย 6 เดือนออกนอกประเทศ
นับเป็นอีกครั้งที่ไทยตกเป็นข่าวอื้อฉาวเกี่ยวกับธุรกิจอุ้มบุญให้ชาวต่างชาติ หลังจากกรณีของ “น้องแกรมมี” ที่ถูกสามีภรรยาชาวออสเตรเลียทอดทิ้งไว้กับแม่อุ้มบุญเพราะป่วยเป็นดาวน์ซินโดรม
กอร์ดอน แอลลัน เลค หนุ่มเกย์ชาวอเมริกัน และ มานูเอล ซานโตส สามีชาวสเปนของเขา ระบุว่า น.ส. ปทิตตา กุศลสร้าง วัย 34 ปี ซึ่งเป็นแม่อุ้มบุญของ “น้องคาร์เมน” ตัดสินใจไม่ยกเด็กให้แก่พวกเขา เพราะไม่ไว้ใจในรสนิยมทางเพศของทั้งคู่
เลค กล่าวว่า ตนเคยนัดแนะให้ น.ส.ปทิตตา ไปพบกันที่สถานทูตสหรัฐฯ ในกรุงเทพมหานครเมื่อเดือนมกราคม เพื่อเซ็นคำร้องขอทำหนังสือเดินทางให้แก่ ด.ญ. คาร์เมน และมอบเอกสารที่จำเป็นต่อการนำเด็กออกจากประเทศไทย แต่แม่อุ้มบุญรายนี้กลับไม่ไปตามสัญญา
“เราสองคนอยู่ในเมืองไทยมา 6 เดือนแล้ว และชีวิตคู่ของเราก็กำลังถูกทำลายย่อยยับ” เลค ให้สัมภาษณ์กับรอยเตอร์
“ครอบครัวเราต้องสูญเสียโอกาสที่จะเห็นความสวยงามในช่วงชีวิต 6 เดือนแรกของ คาร์เมน”
ด้าน น.ส.ปทิตตา ยังไม่ตอบรับคำขอสัมภาษณ์ของผู้สื่อข่าวรอยเตอร์
ประเทศไทยเป็นหนึ่งในจุดหมายปลายทางที่คู่รักต่างชาตินิยมเข้ามาใช้บริการอุ้มบุญ ส่วนหนึ่งเพราะข้อบังคับทางกฎหมายที่ยังหละหลวม และมีค่าใช้จ่ายถูกเมื่อเทียบกับการอุ้มบุญในประเทศอื่น แต่หลังจากเกิดกรณีของ “น้องแกรมมี” ที่ถูกพ่อแม่โดยสายเลือดทอดทิ้งเมื่อปีที่แล้ว รัฐบาลไทยก็ได้ออกกฎหมายห้ามการอุ้มบุญแทนชาวต่างชาติ ซึ่งจะเริ่มมีผลบังคับในวันที่ 30 กรกฎาคมนี้
สถานทูตสหรัฐฯ ในกรุงเทพมหานครได้ตอบอีเมล์ถึงรอยเตอร์ ระบุว่าพลเมืองอเมริกันที่พำนักอยู่ในเมืองไทยจำเป็นต้องปฏิบัติตามกฎหมายของไทย
“ตามกฎหมายสหรัฐฯ กระทรวงการต่างประเทศไม่สามารถออกหนังสือเดินทางให้แก่ผู้เยาว์ หากไม่ได้รับการยินยอมจากบิดามารดาหรือผู้ปกครอง” เมลิสซา สวีนีย์ โฆษกสถานทูต เผย
วัลลภ ตันคณานุรักษ์ หรือ “ครูหยุย” สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ซึ่งมีส่วนในการร่างกฎหมายอุ้มบุญ ระบุว่า กฎหมายปัจจุบันของไทยถือว่าหญิงที่อุ้มท้องและให้กำเนิดคือมารดาของเด็ก ส่วนพ่อแม่ที่มาขอใช้บริการอุ้มบุญยังไม่มีสิทธิ์เป็นผู้ปกครองเด็กในทันที
เลค และสามีมีบุตรชาย 1 คนชื่อ “อัลบาโร” ซึ่งเกิดจากแม่อุ้มบุญชาวอินเดียเมื่อ 2 ปีก่อน แต่หลังจากรัฐบาลอินเดียแก้กฎหมายอุ้มบุญ ทั้งคู่จึงตัดสินใจมาเมืองไทยเพื่อหาหญิงที่จะช่วยอุ้มท้องลูกสาวคนที่สอง
“ประเทศไทยมีบริการทางการแพทย์ที่ทันสมัย มีโรงพยาบาลและนักวิทยาศาสตร์ที่เชี่ยวชาญด้านการเพาะเลี้ยงตัวอ่อน (embryologist) นอกจากนี้ ธุรกิจอุ้มบุญในเมืองไทยก็มีมานานหลายปีแล้ว” เลค กล่าว
“พ่อแม่ทุกคนก็ตั้งความหวังเอาไว้สูงทั้งนั้น ไม่มีใครคาดคิดว่าจะเกิดปัญหาอย่างนี้ขึ้น”