เอเจนซีส์/ASTVผู้จัดการออนไลน์ – ความคืบหน้าคดีสังหารนักท่องเที่ยวชาวอังกฤษ ฮันนาห์ วิทเธอริดจ์ วัย 23 ปี และเดวิด มิลเลอร์ วัย 24 ปีบนเกาะเต่าในวันที่ 15 กันยายน 2014 ล่าสุดในการไต่สวนในชั้นศาลเกาะสมุยเมื่อวานนี้(23) พ.ต.อ.เชิดพงษ์ ชิวปรีชา ผกก.สส.ภ.8 ออกมายอมรับว่า “ไม่ได้ตรวจสอบหลักฐานกล้องโทรทัศน์วงจรปิดบริเวณท่าเรือช่องทางหลบหนีเดียวออกนอกเกาะเต่าติดกับหาดที่เกิดเหตุฆาตกรรม” อ้างเหตุผลเนื่องจากไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง ถึงแม้จะมีการรายงานพบเห็นเรือเล็กวิ่งออกไปจากเกาะหลังเกิดเหตุก็ตาม ในขณะที่ศาลไทยอนุญาตให้ทนายแรงงานพม่า สามารถยื่นขอตรวจซ้ำหลักฐาน DNA ได้
เดอะมิเรอร์ และบีบีซี สื่ออังกฤษรายงานเมื่อวานนี้(23)ว่า ทนายความฝ่ายจำเลยของเวพิว หรือวิน ไม่มีนามสกุล อายุ 21 ปี สัญชาติพม่า เชื้อสายยะไข่ และซอ ลิน หรือโซเรน ไม่มีนามสกุล อายุ 21 ปี สัญชาติพม่า เชื้อสายยะไข่ ขื้นซักค้านในการไต่สวนชั้นศาลคดีฆ่าสังหาร นักท่องเที่ยวชาวอังกฤษ ฮันนาห์ วิทเธอริดจ์ วัย 23 ปี และเดวิด มิลเลอร์ วัย 24 ปีบนเกาะเต่า
โดยในการกล่าวซักค้าน นคร ชมพูชาติ ทีมทนายความฝ่ายจำเลยอ้างว่า เจ้าหน้าที่สอบสวนไทยเจ้าของคดีไม่ยอมตรวจสอบกล้องทีวีวงจรปิดซึ่งติดตั้งบริเวณท่าเรือเกาะเต่าหลังจากเกิดเหตุ ถึงแม้ว่าจะมีรายงานว่า มีการพบเห็นเรือเล็ก 1 ลำวิ่งออกนอกเกาะไม่นานหลังเกิดเหตุฆาตกรรมแล้ว
ทั้งนี้เดอะมิเรอร์ชี้ว่า ท่าเรือแห่งนี้เป็นช่องทางเดียวที่คนร้ายจะสามารถหลบหนีออกนอกเกาะได้ และอีกทั้งยังใกล้กับหาดจุดเกิดเหตุฆาตกรรมเขย่าขวัญ
ด้านฝ่ายไทย พ.ต.อ.เชิดพงษ์ ชิวปรีชา ผกก.สส.ภ.8 ขึ้นให้การต่อศาลเกาะสมุยยอมรับว่า “ไม่ได้ตรวจสอบกล้องโทรทัศน์วงจรปิดบริเวณท่าเรือที่ช่องทางหลบหนีออกนอกเกาะเต่าจริง” เพราะไม่เห็นว่ามีความข้องเกี่ยวในคดีนี้
โดยนคร ทนายความฝ่ายจำเลยชาวพม่ากล่าวในศาลว่า “กระผมได้ถามตำรวจว่า ได้มีการตรวจภาพจากกล้องทีวีวงจรปิดบริเวณท่าเรือหรือไม่ ซึ่งพ.ต.อ.เชิดพงษ์ พยานในคดีนี้ได้ตอบว่า “ไม่” ถึงแม้ว่าจะมีการเก็บรวบรวมหลักฐานจากกล้องวงจรปิดที่ติดตั้งอยู่ แต่ทางทีมตำรวจสอบสวนเจ้าของคดีกลับไม่ตรวจสอบ โดยอ้างเพียงว่า “ไม่มีความเกี่ยวข้อง” ”
และบีบีซี รายงานเพิ่มเติมว่า ทางทีมทนายความของผู้ต้องสงสัยชาวพม่าทั้งสอง ร้องขอต่อศาลเกาะสมุยให้อนุญาต ตรวจสอบหลักฐาน DNA อีกครั้งเพื่อหาเงื่อนงำเพิ่มเติม
และเป็นเพราะขาดพยานที่พบเห็นเหตุการณ์จึงทำให้ DNA ถือเป็นหลักฐานเพียงอย่างเดียวที่จะสาวไปถึงตัวคนร้ายได้ ทั้งนี้ในการขึ้นให้การต่อชั้นศาล บีบีซีรายงานว่า เจ้าหน้าที่นิติวิทยาศาสตร์ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติออกมายืนยันว่า สามารถตรวจสอบหลักฐาน DNA อีกครั้งได้
สอดคล้องกับการให้สัมภาษณ์ของนครจากการรายงานของ Sentinelrepublic สื่อออนไลน์ โดยทนายความฝ่ายจำเลยชาวพม่าผู้นี้กล่าวว่า ทางศาลได้สั่งให้ทางจำเลยส่งคำร้องระบุถึงตัวอย่าง DNA พร้อมเจาะจงประเภทที่ต้องการตรวจซ้ำ
และในชั้นศาล ทางพนักงานสอบสวนตกลงที่จะยอมส่งมอบจอบ อาวุธสังหาร รวมไปถึงรองเท้า และถุงพลาสติก เพื่อตรวจสอบ
ทั้งนี้ในการให้สัมภาษณ์ของอัยการฝ่ายไทย ได้ออกมาแถลงว่า DNA หลักฐานนั้นมัดตัวผู้ต้องสงสัยคนงานพม่า เวพิว และโซเรนแต่ทางทนายความฝ่ายจำเลยระบุว่า คนทั้งสองจำต้องยอมรับสารภาพหลังจากโดนตำรวจสอบสวนใช้วิธีการสอบปากคำแบบทารุณ แต่ภายหลังคนทั้งคู่กลับคำให้การปฎิเสธไม่เป็นผู้กระทำผิดในคดีนี้
นอกจากนี้ทีมทนายฝ่ายจำเลยแรงงานพม่ายังออกมาระบุว่า รายงานการตรวจสอบหลักฐาน DNA ที่ร่วมจัดทำโดยทางตำรวจไทยและเจ้าหน้าที่ชันสูติอังกฤษนั้นมีความขัดแย้ง
และในต้นเดือนนี้ ตำรวจไทยได้ออกแถลงการณ์ขัดแย้งเกี่ยวกับหลักฐาน DNA อ้างว่า มีบางส่วนสูญหาย หรือได้ใช้ตัวอย่าง DNA ไปหมดแล้ว
Sentinelrepublic รายงานเพิ่มเติมว่า กลุ่มสิทธิมนุษยชนชี้ว่า เวพิว และโซเรน ผู้ต้องสงสัยชาวพม่าเป็นแพะในคดีนี้เพราะสถานภาพเป็นผู้ใช้แรงงานพม่าในไทยที่มักจะถูกกดขี่ เอาเปรียบ และไม่ได้รับการยอมรับจากสังคม รวมไปถึงมีภาพลักษณ์ในแง่ลบ ซึ่งตกเป็นเป้าของตำรวจได้ง่ายในการยัดคดี