xs
xsm
sm
md
lg

‘ข้อตกลงนิวเคลียร์อิหร่าน’ปรับเปลี่ยนพลิกโฉมการต่อสู้ช่วงชิงใน ‘ยูเรเชีย’

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: เปเป้ เอสโคบาร์

(เก็บความจากเอเชียไทมส์ www.atimes.com)

Historic Iran nuke deal resets Eurasia’s ‘Great Game': Escobar
BY Pepe Escobar
14/07/2015

กลุ่ม P5+1 หรือ 6 ชาติมหาอำนาจ สามารถทำข้อตกลงเรื่องโครงการนิวเคลียร์ของอิหร่านได้ เมื่อต้นเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ข้อตกลงนี้ไม่เพียงทำให้เตหะรานหลุดพ้นข้อกล่าวหาของฝ่ายตะวันตกในเรื่องการมุ่งครอบครองอาวุธนิวเคลียร์ และทำให้ต้องมีการยกเลิกมาตรการลงโทษคว่ำบาตรต่างๆ ต่ออิหร่านเท่านั้น หากยังส่งผลกระทบที่เป็นการเร่งเปลี่ยนแปลงพลิกโฉมของดินแดนยูเรเซีย ซึ่งกำลังกลายเป็นศูนย์กลางใน “ระเบียบใหม่ทางภูมิรัฐศาสตร์” ของโลก

นี่แหละครับ ลงท้ายเราก็มาถึงตอนจบปิดฉากกันจนได้ มันเป็นการสร้างประวัติศาสตร์อย่างแท้จริง โดยในที่สุดวิถีทางการทูตก็เป็นผู้ชนะ แล้วเมื่อพิจารณาจากแง่มุมของการต่อสู้ช่วงชิงกันอย่างใหญ่โตมโหฬารครั้งใหม่ซึ่งกำลังเกิดขึ้นในยูเรเชีย ตลอดจนจากแง่มุมของการจัดระเบียบกันใหม่ในยูเรเชีย ซึ่งเป็นการปรับเปลี่ยนพลิกโฉมอย่างกว้างไกลลึกซึ้งที่กำลังดำเนินอยู่อย่างต่อเนื่องอยู่ในขณะนี้ สิ่งที่อิหร่านกับ 6 ชาติมหาอำนาจตกลงกันได้ที่กรุงเวียนนา, ออสเตรีย ในคราวนี้ ต้องถือว่าเบ้อเริ่มมหึมาจริงๆ กล่าวคือ อิหร่าน –ด้วยความสนับสนุนของรัสเซียและจีน— ลงท้ายแล้วก็ประสบความสำเร็จในการแก้ลำโลกตะวันตก โดยบังคับให้ฝ่ายสหรัฐฯและยุโรปต้องยอมแบไพ่และหมอบราบถอยฉากออกไปจากการโหมประโคมอย่างเกินจริงที่ดำเนินมายาวนานถึง 12 ปี ในเรื่องเกี่ยวกับโครงการ “อาวุธนิวเคลียร์” ของเตหะราน

การทำข้อตกลงในคราวนี้ ลงเอยกันจนได้ ก็เพียงเพราะคณะบริหารของประธานาธิบดีบารัค โอบามา มีความจำเป็นที่จะต้อง 1) สร้างความสำเร็จทางด้านนโยบายการต่างประเทศสักเรื่องหนึ่ง เพื่อเอาไว้โอ่อวดว่าได้ฝากมรดกอันมีค่าเอาไว้ให้ภายหลังหมดวาระพ้นจากตำแหน่งไปแล้ว และ 2) สร้างความคืบหน้าในความพยายามที่จะแทรกเข้าไปมีอิทธิพล --แม้กระทั่งแค่เป็นเพียงอิทธิพลห่างๆ อ้อมๆ ก็ยังดี-- ต่อการสถาปนาระเบียบใหม่ทางภูมิรัฐศาสตร์ ซึ่งจะมีดินแดนยูเรเชียเป็นศูนย์กลาง

ถึงตอนนี้มันก็วางแบให้เห็นอย่างกระจะอยู่ต่อหน้าเราแล้ว เจ้าเอกสารความยาว 159 หน้าที่พยายามบรรจุรายละเอียดลงไปให้มากที่สุดเท่าที่สามารถกระทำได้ และมีชื่อเรียกขานอย่างเป็นทางการว่า “แผนการปฏิบัติการร่วมอย่างครอบคลุมรอบด้าน” (Joint Comprehensive Plan of Action ใช้อักษรย่อว่า JCOOA) (ดูรายละเอียดของเอกสารฉบับนี้ได้ที่ http://www.documentcloud.org/documents/2165388-iran-deal-text.html) ซึ่งในทางเป็นจริงก็คือข้อตกลงเรื่องนิวเคลียร์ระหว่างอิหร่านกับ กลุ่มมหาอำนาจ P5+1 [1] โดยที่นักการทูตฝ่ายอิหร่านกล่าวเน้นย้ำว่า เอกสาร JCPOA ฉบับนี้จะต้องยื่นเสนอต่อคณะมนตรีความมั่นคงยูเอ็น เพื่อพิจารณาออกเป็นมติภายในระยะเวลา 7 ถึง 10 วัน รับรอง JCPOA ให้เป็นเอกสารระหว่างประเทศอย่างเป็นทางการ

จาวัด ซาริฟ (Javad Zarif) รัฐมนตรีต่างประเทศของอิหร่าน พูดถึงข้อตกลงฉบับนี้ –เป็นความเห็นที่สำคัญทีเดียว— ว่า คือการแก้ไขปัญหาในวิถีทาง “ทุกฝ่ายต่างเป็นผู้ชนะ” (“win-win” solution) ตามแบบอย่างของคนจีนเอามากๆ ทว่า มันยังไม่มีความสมบูรณ์เพียบพร้อมหรอก เขากล่าวว่า “ผมเชื่อว่าเวลานี้คือชั่วขณะแห่งการสร้างประวัติศาสตร์ พวกเรากำลังบรรลุข้อตกลงซึ่งไม่ได้มีความสมบูรณ์เพียบพร้อมไม่ว่าสำหรับฝ่ายไหนก็ตาม ทว่ามันก็เป็นสิ่งที่พวกเราสามารถตกลงกันได้และสามารถทำให้สำเร็จขึ้นมาได้ วันนี้ทำท่าว่าอาจจะกลายเป็นจุดจบจุดอวสานของความหวัง แต่แล้วในขณะนี้พวกเรากลับสามารถเริ่มต้นพลิกเข้าสู่ความหวังบทใหม่เข้าสู่ความหวังตอนใหม่”

ซาริฟ ยังพูดเน้นย้ำ –อย่างถูกต้อง— ว่า นี่คือการแก้ไขคลี่คลายที่เสาะแสวงหากันมายาวนาน เพื่อจะได้ไม่ต้องเดินไปสู่ “วิกฤตการณ์ที่ไม่มีความจำเป็น” สืบเนื่องจากมีการนำเอาบันทึกแฟ้มข้อมูลทางวิทยาศาสตร์และทางเทคนิค มาทำให้กลายเป็นประเด็นทางการเมือง –โดยตัวการสำคัญในเรื่องนี้ก็คือสหรัฐฯนั่นเอง

ขณะที่ รัฐมนตรีต่างประเทศ แฟรงก์-วอลเตอร์ ชไตน์ไมเออร์ (Frank-Walter Steinmeier) ของเยอรมนี แสดงให้เห็นถึงความปลาบปลื้มยินดีของตัวเขาเอง โดยกล่าวว่า “นี่เป็นวันแห่งประวัติศาสตร์จริงๆ เราสามารถที่จะโยนทิ้งระยะเวลา 35 ปีของการเงียบงันพูดไม่ได้ บวกกับอีกกว่า 12 ปีของความขัดแย้งอย่างร้ายแรง เอาไว้ข้างหลังเราได้สำเร็จแล้ว”

ทางด้านประธานาธิบดีฮัสซัน รูฮานี (Hassan Rouhani) ของอิหร่าน ดูพยายามที่จะมองไปในอนาคต เมื่อเขาทวิตข้อความว่า เวลานี้เราสามารถที่จะ “โฟกัสไปที่ปัญหาท้าทายที่เราต่างต้องเผชิญร่วมกันได้แล้ว” – อันเป็นการพาดพิงถึงการต่อสู้ที่แท้จริงซึ่งองค์การนาโต้ และอิหร่าน ควรที่จะดำเนินการไปด้วยกัน เพื่อต่อสู้ปราบปรามรัฐกาหลิบ (Caliphate) เก๊ๆ ของกลุ่ม ISIS/ISIL/Daesh [2] ซึ่งเส้นสายโยงใยในทางอุดมการณ์ก็คือลัทธิวาห์หะบี (Wahhabism) ชนิดไร้ขันติธรรม อีกทั้งกำลังเปิดการโจมตีเล่นงานทั้งชาวมุสลิมนิกายชีอะห์และทั้งชาวตะวันตก

ส่วนประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน ของรัสเซีย ก็ออกมาแถลงสอดรับได้อย่างเหมาะเหม็งเรียบเนียน โดยกล่าวเน้นว่า ข้อตกลงคราวนี้จะมีคุณูปการแก่การต่อสู้กับลัทธิก่อการร้ายในตะวันออกกลาง โดยที่ยังไม่ต้องพาดพิงไปถึง “การมีส่วนช่วยเหลือเพิ่มความเข้มแข็งให้แก่ความมั่นคงในระดับทั่วโลกและในระดับภูมิภาค, ให้แก่การไม่แพร่กระจายอาวุธนิวเคลียร์ในทั่วโลก” และ –ตรงนี้บางทีปูตินอาจจะเสนอความคิดที่เป็นการฝันหวานเสียมากกว่ากระมัง?— “ให้แก่การสร้างเขตปลอดจากอาวุธเพื่อการทำลายร้ายแรง (weapons of mass destruction) ขึ้นในตะวันออกกลาง”

สำหรับรัฐมนตรีต่างประเทศ เซียร์เกย์ ลาฟรอฟ (Sergey Lavrov) ของรัสเซีย เน้นว่าข้อตกลงฉบับนี้ “ตอบสนองได้อย่างสมบูรณ์” ต่อประเด็นต่างๆ ที่รัสเซียกำหนดไว้ว่าควรจะออกมาจากการเจรจากันครั้งนี้ ข้อเท็จจริงมีอยู่ว่าเป็นไปไม่ได้เลยที่จะบรรลุข้อตกลงใดๆ ขึ้นมา หากไม่มีรัสเซียเข้าไปเกี่ยวข้องพัวพันด้วยอย่างกว้างขวาง --และนี่เป็นสิ่งที่คณะบริหารโอบามาก็ทราบดี (แต่ไม่สามารถที่จะยอมรับออกมาอย่างเปิดเผยต่อสาธารณชน)

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่จะกลายเป็นปัญหาอย่างแท้จริงต่อไปข้างหน้า เริ่มต้นขึ้นทันทีเมื่อลาฟรอฟ กล่าวต่อไปว่า มอสโกคาดหมายว่ามาถึงตอนนี้วอชิงตันจะยกเลิกแผนการสร้างระบบป้องกันขีปนาวุธได้เสียที เพราะหลังจากที่สามารถทำข้อตกลงกับอิหร่านได้เช่นนี้ ย่อมเป็นบทพิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า เตหะรานนั้น เวลานี้ไม่ใช่ และในอนาคตก็จะไม่ใช่ “ภัยคุกคาม” ทางด้านนิวเคลียร์

อุปสรรคขัดขวางนั้นมีอยู่อย่างแน่นอน กระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ (เพนตากอน) ไม่มีทางหรอกที่จะยอมยกเลิกสิ่งซึ่งถือเป็นส่วนสาระสำคัญส่วนหนึ่งของหลักนิยมทางทหาร (military doctrine) ของตนที่มีชื่อว่า “การมีฐานะครอบงำแบบเต็มตลอดทั้งสเปคตรัม” (Full Spectrum Dominance) [3] เพียงเพราะเกิดความสำเร็จทาง “การทูต” ขึ้นมา อันที่จริงนักวิเคราะห์ด้านความมั่นคงไม่ว่ารายไหนก็ตามทีที่ตาไม่มืดบอดเนื่องจากความคิดอุดมการณ์ ต้องทราบอยู่แล้วว่าระบบป้องกันขีปนาวุธซึ่งสหรัฐฯเป็นแกนนำจัดสร้างขึ้นในยุโรปรอบๆ แดนหมีขาวนั้น ไม่เคยมีเป้าหมายอยู่ที่อิหร่านเลย หากแต่เป็นการพุ่งเป้ามาที่รัสเซียต่างหาก ในเอกสารทบทวนยุทธศาสตร์ทางทหารฉบับใหม่ประจำปี 2015 ของเพนตากอนซึ่งเพิ่งนำออกเผยแพร่เมื่อต้นเดือนกรกฎาคมนี้ ก็ยังคงระบุ –ไม่ใช่เป็นการระบุเอาไว้เพียงด้วยความบังเอิญอย่างแน่นอน— ว่าพวกผู้เล่นรายสำคัญๆ ของยูเรเชีย อย่าง อิหร่าน, จีน, และรัสเซีย นี่แหละ คือ “ภัยคุกคาม” ต่อความมั่นคงแห่งชาติของสหรัฐฯ

คราวนี้เราลองหันมาพิจารณาด้านที่จะบังเกิดความสดใสมากขึ้นในความสัมพันธ์อิหร่าน-รัสเซีย สืบเนื่องจากการบรรลุข้อตกลงนิวเคลียร์ฉบับนี้ แน่นอนทีเดียวว่าการค้าจะต้องเพิ่มทวีขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านเทคโนโลยีนาโน, ชิ้นส่วนเครื่องจักรอุปกรณ์, และภาคการเกษตร สำหรับเรื่องแนวรบทางด้านพลังงาน ซึ่งเป็นด้านที่มีผลกระทบอย่างใหญ่โตกว้างขวางนั้น เป็นที่แน่ใจได้ว่าอิหร่านและรัสเซียซึ่งต่างเป็นผู้ส่งออกน้ำมันและก๊าซรายใหญ่กันทั้งคู่ จะต้องเกิดการแข่งขันกันในตลาดสำคัญๆ อย่างเช่นตุรกี และอีกไม่ช้าไม่นานก็น่าจะช่วงชิงตลาดกันในยุโรปตะวันตกด้วย อย่างไรก็ตาม ยังมีทางเบี่ยงทางขนานอีกมากมายล้นเหลือสำหรับให้ กาซปรอม (Gazprom รัฐวิสาหกิจยักษ์ใหญ่ด้านพลังงานของรัสเซีย) และ บริษัทน้ำมันอิหร่านแห่งชาติ (National Iranian Oil Company ใช้อักษรย่อว่า NIOC) ประสานร่วมมือกันเกี่ยวกับส่วนแบ่งตลาดของพวกเขา โมห์เซน กอมซารี (Mohsen Qamsari) ผู้บริหารของ NIOC พูดหยั่งเชิงออกมาแล้วว่า อิหร่านจะให้ความสำคัญลำดับต้นแก่การส่งออกสู่เอเชีย และจะพยายามฟื้นคืนส่วนแบ่งตลาดในยุโรปให้ได้อย่างน้อยที่สุด 42% อันเป็นสัดส่วนที่อิหร่านครองอยู่ก่อนหน้าจะถูกเล่นงานจากมาตรการลงโทษคว่ำบาตร

เมื่อเปรียบเทียบกับการแสดงทัศนะมุมมองอันสดใสก่อให้เกิดกำลังใจจากประเทศที่เกี่ยวข้องรายอื่นๆ เป็นจำนวนมาก ปฏิกิริยาของวอชิงตันต่อความสำเร็จในการบรรลุข้อตกลงคราวนี้ ต้องถือว่าเป็นไปอย่างค่อนข้างจืดชืดราบเรียบ ประธานาธิบดีบารัค โอบามา เลือกที่จะเน้นย้ำเพียงว่า –ถึงแม้จะเป็นเน้นย้ำที่ถูกต้อง— เส้นทางทุกๆ สายที่อิหร่านจะสามารถเดินไปสู่การครอบครองอาวุธนิวเคลียร์นั้น ได้ถูกตัดขาดไปจนหมดสิ้นแล้ว เขาประกาศว่าจะใช้อำนาจวีโต้ความพยายามใดๆ ก็ตามในรัฐสภาสหรัฐฯที่จะขัดขวางสกัดกั้นข้อตกลงฉบับนี้ เมื่อตอนที่ผมอยู่ในกรุงเวียนนา (สถานที่เจรจาจัดทำข้อตกลงนิวเคลียร์อิหร่านในขั้นสุดท้าย) เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ผมได้รับการยืนยันอย่างมั่นอกมั่นใจ –จากแหล่งข่าวยุโรปรายหนึ่ง— ว่าคณะบริหารโอบามารู้สึกเชื่อมั่นว่าตนสามารถชนะใจได้เสียงโหวตตามที่ต้องการจากรัฐสภาอเมริกัน

แล้วเรื่องเกี่ยวกับน้ำมันของอิหร่านล่ะ จะเป็นยังไงต่อไป?

ตอริก รออุฟ (Tariq Rauf) อดีตผู้อำนวยการฝ่ายพิสูจน์ยืนยันและนโยบายความมั่นคง (Head of Verification and Security Policy) ของทบวงพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ (International Atomic Energy Agency ใช้อักษรย่อว่า IAEA เป็นองค์กรชำนัญพิเศษในด้านพลังงานนิวเคลียร์ของสหประชาชาติ) และปัจจุบันเป็นผู้อำนวยการของโครงการลดกำลังรบและการไม่แพร่กระจายอาวุธ (Disarmament and Non-Proliferation Program) อยู่ที่ สถาบันวิจัยสันติภาพระหว่างประเทศสต็อกโฮล์ม (Stockholm International Peace Research Institute ใช้อักษรย่อว่า SIPRI) กล่าวยกย่องข้อตกลงฉบับนี้ว่า เป็น “ข้อตกลงทางนิวเคลียร์ระดับพหุภาคีฉบับสำคัญที่สุดในรอบ 20 ปี –ข้อตกลงที่ทรงความสำคัญเช่นนี้ฉบับสุดท้ายก่อนหน้านี้คือ สนธิสัญญาห้ามทดลองอาวุธนิวเคลียร์ปี 1996” รออุฟกระทั่งเสนอความเห็นว่า รางวัลโนเบลสาขาสันติภาพประจำปี 2016 ควรจะตกเป็นของรัฐมนตรีต่างประเทศ จอห์น เคร์รี (John Kerry) ของสหรัฐฯ และรัฐมนตรีต่างประเทศ ซาริฟ ของอิหร่าน

อย่างไรก็ตาม เราคงต้องยอมรับว่าการทำให้สหรัฐฯกับอิหร่านเกิดความไว้วางใจกันขึ้นมาใหม่อีกครั้งนั้น จะเป็นกระบวนการอันยาวนานและยากลำบาก

ในข้อตกลงคราวนี้ เตหะรานยินยอมที่จะหยุดพักไม่ดำเนินการเพิ่มความเข้มข้นของวัสดุยูเรเนียมในระดับสูงเกินกว่า 3.67% เป็นระยะเวลา 15 ปี นี่หมายความว่าอิหร่านตกลงที่จะลดศักยภาพในการเพิ่มความเข้มข้นทางนิวเคลียร์ของตนเองลงมาราวๆ สองในสาม ต่อจากนี้ไปมีเพียงโรงงานด้านนิวเคลียร์ในเมืองนาตันซ์ (Natanz)[4] แห่งเดียวเท่านั้นที่จะดำเนินการเพิ่มความเข้มข้น ขณะที่โรงซึ่งตั้งอยู่ในเมืองฟอร์โด (Fordo) [5] ไม่เพียงงดกิจกรรมด้านนี้เท่านั้น แต่จะไม่เก็บสะสมวัสดุฟิสไซล์ (fissile material)[6] อีกด้วย

อิหร่านตกลงว่าจะเก็บสะสมยูเรเนียมที่เพิ่มความเข้มข้นในระดับต่ำเป็นจำนวนรวมไม่เกิน 300 กิโลกรัม –ลดลงมาถึง 96% เมื่อเปรียบเทียบกับระดับในปัจจุบัน สำหรับเตาปฏิกรณ์ที่เมืองอารัค (Arak)[7] จะถูกนำมาปรับปรุงเปลี่ยนแปลงใหม่ และจะไม่ถูกใช้ในการผลิตพลูโทเนียม ส่วนพวกเชื้อเพลิงนิวเคลียร์ที่ใช้แล้ว จะให้ทีมงานระหว่างประเทศเป็นผู้ดูแล

ในอีกด้านหนึ่ง IAEA กับอิหร่าน ได้ร่วมลงนามกันในเอกสารโรดแมปฉบับหนึ่งที่กรุงเตหะรานเมื่อวันอังคาร (14 ก.ค.) วันเดียวกับที่มีการลงนามข้อตกลง Joint Comprehensive Plan of Action ในกรุงเวียนนา โดยที่เอกสารโรดแมปนี้ สามารถทำความตกลงกันได้ในระหว่างการเจรจาที่กรุงเวียนนาตั้งแต่ช่วงสัปดาห์ก่อนหน้านั้น เอกสารที่ร่วมลงนามกันระหว่าง IAEA กับ อิหร่าน นี้ กำหนดเอาไว้ว่า ภายในวันที่ 15 ธันวาคม ประเด็นปัญหาทั้งหมดที่ยังคั่งค้างอยู่ไม่ว่าในอดีตหรือในปัจจุบัน –เป็นจำนวนรวมทั้งสิ้น 12 รายการ— ควรจะต้องมีการชี้แจงทำความกระจ่างกันให้เสร็จสิ้น แล้ว IAEA จะได้ยื่นเสนอผลการประเมินขั้นสุดท้าย สำหรับเรื่องที่ IAEA จะมีสิทธิเข้าไปตรวจสอบในพื้นที่ทางทหารที่ปาร์ชิน (Parchin military site) [8] –ซึ่งเคยเป็นประเดินที่ขัดแย้งกันอย่างมากเรื่อยมา— ก็เป็นส่วนหนึ่งของข้อตกลงที่จัดทำโดยแยกออกไปต่างหาก

มีประเด็นใหญ่ซึ่งติดขัดค้างคากันมานานหลายประเด็นทีเดียว ที่สามารถแก้ไขคลี่คลายไปได้ในระหว่างสองสามวันสุดท้ายของการเจรจาที่กรุงเวียนนา --เรื่องหนึ่งได้แก่การที่เตหะรานตกลงอนุญาตให้คณะเจ้าหน้าที่ตรวจสอบของสหประชาชาติ เข้าตรวจเยี่ยมสถานที่ต่างๆ ชนิดที่ในความเป็นจริงแล้วก็คือ สามารถเข้าตรวจสถานที่แห่งไหนก็ได้ ทั้งนี้อิหร่านยังอาจคัดค้านการเข้าไปตรวจสถานที่เฉพาะบางแห่งได้อยู่ ทว่าคณะกรรมการร่วม –ของ P5+1+อิหร่าน— จะสามารถลบล้างการคัดค้านใดๆ ก็ตาม ด้วยคะแนนโหวตเสียงข้างมากในคณะกรรมการร่วมนี้ โดยในกรณีที่อิหร่านเป็นฝ่ายแพ้ในการออกเสียง ก็จะมีเวลา 3 วันในการปฏิบัติตามมติเสียงข้างมาก คณะเจ้าหน้าที่ตรวจสอบของยูเอ็นนี้จะไม่มีชาวอเมริกันร่วมอยู่ด้วย –เนื่องจากความระแวงข้องใจซึ่งสะสมเพิ่มพูนขึ้นมาจากพฤติการณ์ของเจ้าหน้าที่ตรวจสอบอเมริกันในช่วงก่อนที่สหรัฐฯจะส่งกองทัพบุกเข้ารุกรานและยึดครองอิรัก โดยสำหรับในคราวนี้เตหะรานประสงค์จะได้เจ้าหน้าที่ตรวจสอบซึ่งมาจากประเทศที่มีความสัมพันธ์ทางการทูตกับอิหร่านเท่านั้น

คาดหมายกันว่า การปฏิบัติให้เป็นไปตามข้อตกลงฉบับนี้จะต้องใช้เวลาอย่างน้อยที่สุด 5 เดือนต่อจากนี้ไป และมาตรการลงโทษคว่ำบาตรต่างๆ ต่ออิหร่านกว่าจะได้รับการยกเลิกก็ต้องถึงช่วงต้นปี 2016

กระนั้น เรื่องที่จะต้องเกิดขึ้นอย่างแน่นอนแล้วก็คือ อิหร่านจะกลายเป็นแม่เหล็กตัวใหม่ในการดึงดูดเม็ดเงินลงทุนของต่างชาติ เวลานี้พวกบริษัทนานาชาติรายใหญ่ๆ ทั้งสัญชาติตะวันตกและสัญชาติเอเชีย ต่างเข้าจับจองที่มั่นเหมาะๆ กันแล้วเพื่อเริ่มต้นเจาะตลาดที่ในทางปฏิบัติต้องถือเป็นตลาดเวอร์จินแห่งนี้ โดยที่มีจำนวนประชากรมากกว่า 70 ล้านคน รวมทั้งมีชนชั้นกลางที่ได้รับการศึกษาอย่างดีเลิศ คาดหมายได้ว่าจะเกิดความรุ่งเรืองเฟื่องฟูในภาคส่วนเศรษฐกิจอย่างเช่น สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ผู้บริโภค, อุตสาหกรรมรถยนต์, ตลอดจนกิจการด้านบริการและนันทนาการต่างๆ

แน่นอนที่สุดว่า อุตสาหกรรมสำคัญที่สุดซึ่งจะได้เป็นตัวชูโรงอีกครั้งหนึ่งก็คือ น้ำมัน เวลานี้อิหร่านมีน้ำมันปริมาณมหาศาลอาจจะถึง 50 ล้านบาร์เรลเก็บไว้บนเรือต่างๆ ที่ลอยลำอยู่ในทะเล และเตรียมตัวพร้อมพรักแล้วที่จะบุกโจมตีตลาดโลก สำหรับผู้ที่จะมาซื้อหานั้น หลีกเลี่ยงไม่พ้นว่าจะต้องเป็นประเทศจีน เนื่องจากขณะนี้โลกตะวันตกยังคงซวนเซอยู่ในภาวะเศรษฐกิจซบเซา งานแรกๆ ที่อิหร่านจะต้องเร่งทำคือการช่วงชิงส่วนแบ่งตลาดกลับคืนมา จากที่ได้สูญเสียไปให้แก่พวกผู้ผลิตอื่นๆ ในอ่าวเปอร์เซีย กระนั้นต้องยอมรับว่าแนวโน้มของราคาน้ำมันในปัจจุบันนั้นอยู่ในช่วงขาลง ดังนั้นอิหร่านยังไม่สามารถวาดหวังว่าจะได้กำไรเป็นกอบเป็นกำในช่วงระยะสั้นไปจนถึงระยะกลาง

ถึงเวลาแล้วใช่ไหมที่จะทำสงครามปราบก่อการร้ายกันจริงๆ?

มาตรการห้ามนานาชาติทำการซื้อขายอาวุธตามแบบแผน (conventional arms) กับอิหร่าน โดยสาระสำคัญแล้วจะยังคงมีผลบังคับต่อไปอีกเป็นเวลา 5 ปี เรื่องนี้ต้องถือว่าไร้เหตุผล เมื่อเราเปรียบเทียบกับกรณีของอิสราเอล และราชวงศ์ซาอุด (House of Saud) แห่งซาอุดีอาระเบีย ซึ่งกำลังติดอาวุธให้กับตนเองตั้งแต่ศีรษะจรดเท้า

เมื่อเดือนพฤษภาคมที่แล้ว รัฐสภาสหรัฐฯได้อนุมัติการขายอาวุธรวมมูลค่า 1,900 ล้านดอลลาร์ให้แก่อิสราเอล ในบรรดาอาวุธเหล่านี้ มีทั้ง ระเบิดทำลายบังเกอร์ใต้ดิน BLU-113 จำนวน 50 ลูก –ระเบิดพวกนี้จะเอาไว้ทำอะไร? เอาไว้ใช้ถล่มโรงงานนิวเคลียร์ที่นาตันซ์หรือ? แล้วยังมีขีปนาวุธแบบ “เฮลล์ไฟร์” (Hellfire) จำนวน 3,000 ลูก ขณะที่ซาอุดีอาระเบียนั้น ตามข้อมูลของสถาบัน SIPRI ราชวงศ์ซาอุดได้ใช้จ่ายงบประมาณก้อนมหึมาถึง 80,000 ล้านดอลลาร์ไปในเรื่องอาวุธเมื่อปีที่แล้ว มากยิ่งกว่ามหาอำนาจนิวเคลียร์อย่างฝรั่งเศสหรือสหราชอาณาจักรเสียอีก เวลานี้ราชวงศ์ซาอุดยังกำลังเข้าไปร่วมทำสงคราม –อย่างผิดกฎหมาย— ในเยเมนด้วย

รัฐริมอ่าวเปอร์เซียอีกรายหนึ่ง คือ กาตาร์ ก็ไม่ได้ถูกทิ้งเอาไว้ห่างไกลเท่าใดเลย โดยได้ควักงบประมาณทำข้อตกลงเป็นมูลค่า 11,000 ล้านดอลลาร์ เพื่อซื้อทั้งเฮลิคอปเตอร์ “อาปาเช่” , ขีปนาวุธประทับบ่ายิงแบบ “แจเวลิน” (Javelin), และระบบป้องกันขีปนาวุธโจมตีทางอากาศแบบ “แพทริออต” (Patriot) รวมทั้งกำลังจะซื้อเครื่องบินขับไล่แบบเอฟ-15 ฝูงใหญ่

ตริตา ปาร์ซี (Trita Parsi) ประธานของสภาชาวอเมริกันเชื้อสายอิหร่านแห่งชาติ (National American-Iranian Council) ของสหรัฐฯ พูดตรงๆ เข้าถึงประเด็นกันเลยว่า “ซาอุดีอาระเบียใช้เงินงบประมาณเพื่อการป้องกันของตน คิดเป็นกว่า 13 เท่าตัวของที่อิหร่านใช้ไป แต่แล้วก็ไม่ทราบว่าเป็นยังไง อิหร่านต่างหาก ไม่ใช่ซาอุดีอาระเบียหรอก ที่ถูกสหรัฐฯมองว่าเป็นชาติที่มีศักยภาพจะเป็นผู้รุกราน”

ดังนั้น ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น ขอให้คาดหมายไว้เถอะว่าวันเวลาอันหนักหนาสาหัสยังรอคอยอยู่ข้างหน้า เมื่อ 2 สัปดาห์ก่อน รัฐมนตรีต่างประเทศซาริฟ ของอิหร่าน ได้บอกกับนักหนังสือพิมพ์อิสระกลุ่มเล็กๆ กลุ่มหนึ่งในกรุงเวียนนา ซึ่งในนั้นมีผม (เปเป้ เอสโคบาร์) รวมอยู่ด้วย ว่าการเจรจาคราวนี้จะประสบความสำเร็จ เนื่องจากสหรัฐฯกับอิหร่านได้ตกลงเห็นพ้องกันที่จะ “ไม่มีการดูถูกหยามหยันอีกฝ่ายหนึ่ง” เขาย้ำว่าตัวเขาต้องสูญเสีย “ค่าใช้จ่าย (ทางการเมือง) ภายในประเทศที่แพงลิ่วทีเดียว สำหรับการไม่ประณามฝ่ายอเมริกันเช่นนี้” เขายังยกย่องรัฐมนตรีต่างประเทศเคร์รี ว่าเป็น “คนมีเหตุมีผล” ทว่าเขายังคงแสดงความกังวลต่อชนชั้นปกครองของสหรัฐฯ ซึ่งตามข้อมูลข่าวสารอย่างดีที่สุดเท่าที่เขาจะเสาะแสวงหามาได้นั้น จำนวนมากยังแสดงการต่อต้านคัดค้านการยกเลิกมาตรการลงโทษคว่ำบาตรต่ออิหร่าน

ซาริฟยังกล่าวยกย่องแนวความคิดของฝ่ายรัสเซียที่ว่า ภายหลังจากบรรลุข้อตกลงเรื่องนิวเคลียร์กันได้แล้ว ก็จะถึงเวลาสำหรับการจัดตั้งแนวร่วมต่อต้านการก่อการร้ายอย่างแท้จริงขึ้นมา โดยที่จะประกอบด้วย ฝ่ายสหรัฐฯ, อิหร่าน, รัสเซีย, จีน, และยุโรป –ทั้งนี้ ปูติน กับ โอบามา ได้ตกลงกันไว้ว่าจะทำงานร่วมกันในเรื่อง “ประเด็นปัญหาต่างๆ ในระดับภูมิภาค” ไม่เพียงเท่านั้น วงการทูตของอิหร่านกำลังได้รับสัญญาณหลายๆ ประการที่แสดงให้เห็นว่า ในที่สุดแล้วคณะบริหารโอบามาก็กำลังเกิดความเข้าใจขึ้นมาแล้วว่า ในซีเรียนั้น หากไม่เอาระบอบปกครองของประธานาธิบดีอัสซาด และต้องการหันไปหาทางเลือกอย่างอื่น ทางเลือกที่ว่านั้นก็จะไม่ใช่พวกกองกำลังฝ่ายต่อต้าน “แนวคิดไม่รุนแรง” อย่าง กองทัพซีเรีย “เสรี” (“Free” Syrian Army) ที่เคยวาดหวังจินตนาการกันหรอก เพราะฝ่ายต่อต้านที่มีอะไรเป็นชิ้นเป็นอันจริงๆ ก็จะมีแต่กลุ่ม ISIS/ISIL/Daesh เท่านั้น

เราจึงต้องคอยเฝ้าติดตามกันต่อไปว่า จะมีความร่วมมือกันในระดับไหน ในยุคหลังก้าวผ่านพ้นกำแพงแห่งความไม่ไว้เนื้อเชื่อใจกันแล้วเช่นนี้ จากนั้นจึงจะสามารถประเมินผลได้อย่างชัดเจนว่า คณะบริหารของโอบามาได้ทำการตัดสินใจเชิงยุทธศาสตร์ครั้งสำคัญแล้วหรือยัง และกระบวนการปรับความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯกับอิหร่าน “ให้กลับคืนสู่ภาวะปกติ” นั้น จะมีอะไรมากมายเกินกว่าการได้พบปะสบตากันแบบตัวเป็นๆ หรือไม่

เปเป้ เอสโคบาร์ เป็นผู้สื่อข่าวที่เที่ยวตระเวนไปทั่ว (roving correspondent) ให้แก่ เอเชียไทมส์ออนไลน์,และเป็นผู้เขียนคอลัมน์ “The Roving Eye” ตั้งแต่ปี 2001 เขายังเป็นนักวิเคราะห์ให้ อาร์ที (RT)และ สปุ๊ตนิก (Sputnik) ของรัสเซีย, เป็นผู้ที่เขียนเรื่องอย่างสม่ำเสมอให้แก่ ทอมดิสแพตช์ (TomDispatch), และเป็นผู้เขียน/แขกรับเชิญให้เว็บไซต์ รายการวิทยุ และเครือข่ายทีวีต่างๆ ตั้งแต่สหรัฐฯไปจนถึงเอเชียตะวันออก ข้อเขียนของเขาปกติแล้วได้รับการแปลเป็น 6 ภาษา เขาเป็นผู้เขียนหนังสือเรื่อง Globalistan และหนังสือของเขาเล่มที่เพิ่งออกมาเมื่อเร็วๆ นี้คือ เรื่อง Empire of Chaos

หมายเหตุผู้แปล
[1] กลุ่ม P5+1 ที่ทำการเจรจากับอิหร่านในเรื่องโครงการนิวเคลียร์ของเตหะรานนั้น หมายถึง 6 ชาติมหาอำนาจของโลก ที่ประกอบด้วย P5 ซึ่งก็คือชาติสมาชิกถาวรของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติทั้ง 5 ได้แก่ สหรัฐฯ, อังกฤษ, ฝรั่งเศส, รัสเซีย, และจีน กับอีก +1 ได้แก่ เยอรมนี

[2] กลุ่ม ISIS/ISIL/Daesh เห็นได้ชัดว่า ผู้เขียนคือ เปเป้ เอสโคบาร์ ต้องการหลีกเลี่ยงไม่เรียกกลุ่มนี้ตามชื่อใหม่ที่พวกเขาตั้งให้แก่ตนเอง นั่นคือ กลุ่ม “รัฐอิสลาม” (Islamic State) และใช้อักษรย่อว่า IS ดังนั้น เอสโคบาร์จึงหันไปใช้อักษรย่อเดิมของกลุ่มนี้ และใส่เข้ามาทีเดียวถึง 3 แบบ

ISIS นั้น มักเข้าใจกันว่าย่อมาจาก Islamic State of Iraq and Syria (รัฐอิสลามแห่งอิรักและซีเรีย) เนื่องจากมองเห็นกันอยู่ว่ากลุ่มนี้บุกยึดพื้นที่ใน 2 ประเทศดังกล่าวและพยายามก่อตั้ง “รัฐอิสลาม” ตามแบบ “รัฐกาหลิบ” (คอลีฟะห์ ภาษาอังกฤษใช้ว่า Caliphate) ขึ้นในอาณาบริเวณระหว่างอิรักกับซีเรียซึ่งพวกเขายึดครองอยู่ แต่ Wikipedia ให้คำอธิบายว่า จริงๆ แล้ว ISIS ย่อมาจาก Islamic State of Iraq and al-Sham (รัฐอิสลามแห่งอิรักและอัล-ชาม) โดยที่ดินแดนอัล-ชาม นั้น หมายรวมครอบคลุมทั้งซีเรีย, อิสราเอล, ปาเลสไตน์, เลบานอน, ไซปรัส, กระทั่งบางส่วนของตุรกี ดังนั้นจึงมีผู้แปลเป็นภาษาอังกฤษว่า Greater Syria ด้วยเช่นกัน และเรียกชื่อกลุ่มนี้ว่า Islamic State of Iraq and Greater Syria (รัฐอิสลามแห่งอิรักและมหาซีเรีย)

สำหรับ ISIL ย่อมาจาก Islamic State of Iraq and Levant (รัฐอิสลามแห่งอิรักและเลแวนต์) สืบเนื่องจากดินแดน “อัล-ชาม” ในภาษาอาหรับ ตรงกับดินแดน “เลแวนต์” (Levant) ในภาษาอังกฤษ ดังนั้น จึงมีผู้แปลชื่อภาษาอาหรับของกลุ่มนี้เป็นภาษาอังกฤษว่า Islamic State of Iraq and Levant และใช้อักษรย่อว่า ISIL

ส่วน Daesh (ดาเอช) เป็นชื่อย่อของกลุ่มนี้ในภาษาอาหรับ

[3] หลักนิยมทางทหาร (military doctrine) แบบ การมีฐานะครอบงำแบบเต็มตลอดทั้งสเปคตรัม (Full Spectrum Dominance) หรือบางทีก็เรียกว่า การมีความเหนือชั้นกว่าแบบเต็มตลอดทั้งสเปคตรัม (full-spectrum superiority) ทางกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯให้คำนิยามไว้ว่า คือ “ผลรวมของการมีฐานะครอบงำทั้งในปริมณฑลทางอากาศ, ภาคพื้นดิน, ทะเล, และอวกาศ ตลอดจนสภาพแวดล้อมด้านสารสนเทศ ซึ่งหมายรวมถึงไซเบอร์สเปซด้วย จนกระทั่งเปิดทางให้ดำเนินการปฏิบัติการร่วมได้ โดยปราศจากการต่อต้านที่มีประสิทธิภาพ หรือการแทรกแซงที่เป็นการต้องห้าม”

หลักนิยมทางทหารของสหรัฐฯนั้น สนับสนุนเจตนารมณ์ทางยุทธศาสตร์ซึ่งมุ่งก่อให้เกิดความสามารถในการบรรลุสภาวการณ์เช่นนี้ในการขัดแย้งสู้รบ ไม่ว่าจะเป็นการบรรลุโดยลำพังตนเองหรือร่วมกับเหล่าพันธมิตร โดยที่จะต้องยังสร้างปราชัยให้แก่ฝ่ายศัตรูทั้งหมด และเข้าควบคุมสถานการณ์ทุกอย่างเอาไว้ได้ตลอดทั่วทั้งขอบเขตของการปฏิบัติการทางทหาร

เจตนารมณ์ทางยุทธศาสตร์ดังที่กล่าวมานี้ บ่งชี้ให้เห็นว่าจะต้องมีการลงทุนอย่างมากในสมรรถนะด้านต่างๆ , ในการเคลื่อนที่ได้อย่างเหนือชั้น, ในการเข้าปะทะสู้รบได้อย่างแม่นยำ, ในการส่งกำลังบำรุงที่มีจุดเน้นหนักชัดแจ้ง, และในการพิทักษ์ป้องกันแบบเต็มที่ทุกมิติ
(ข้อมูลจาก Wikipedia)

[4] โรงงานด้านนิวเคลียร์ในเมืองนาตันซ์ (Natanz) เป็นโรงงานเพิ่มความเข้มข้นเชื้อเพลิงนิวเคลียร์ (Fuel Enrichment Plant) ซึ่งมีพื้นที่ 100,000 ตารางเมตร สร้างอยู่ใต้ดินลึก 8 เมตร แต่เดิมโรงงานแห่งนี้เป็นโรงงานลับ จนถูกเปิดเผยเมื่อเดือนสิงหาคม 2002 โมฮาเหม็ด เอลบาราเดอี (Mohamed ElBaradei) ผู้อำนวยการของ IAEA ในเวลานั้นได้เคยไปเยือนเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2003 และรายงานว่าที่นี่มีเครื่องหมุนเหวี่ยงเพิ่มความเข้มข้นวัสดุนิวเคลียร์ (centrifuge) ติดตั้งเสร็จและพร้อมใช้งาน 160 เครื่อง และมีอีก 1,000 เครื่องกำลังอยู่ระหว่างก่อสร้าง ปัจจุบันประมาณการกันว่าโรงงานที่นาตันซ์นี้ติดตั้ง centrifuge ราว 7,000 เครื่อง โดยที่ 5,000 เครื่องผลิตยูเรเนียมความเข้มข้นต่ำ (ข้อมูลจาก Wikipedia)

[5] โรงงานนิวเคลียร์ที่ฟอร์โด (Fordo) หรือ ฟอร์โดว์ (Fordow) เป็นโรงงานเพิ่มความเข้มข้นยูเรเนียมซึ่งตั้งอยู่ใต้ดิน ในบริเวณที่เคยเป็นค่ายของกองกำลังพิทักษ์การปฏิวัติอิหร่าน (Islamic Revolutionary Guard Corps) อิหร่านยอมเปิดเผยต่อทบวงพลังปรมาณูระหว่างประเทศ (IAEA) ในเดือนกันยายน 2009 ว่ามีโรงงานแห่งนี้ ซึ่งขณะนั้นยังสร้างไม่เสร็จ ทว่าเป็นการแจ้งหลังจากที่พวกหน่วยข่าวกรองตะวันตกสืบทราบและเปิดโปงกันไปก่อนหน้านั้น (ข้อมูลจาก Wikipedia)

[6] วัสดุฟิสไซล์ (fissile material) หมายถึง วัสดุซึ่งประกอบด้วยธาตุที่นิวเคลียสแบ่งแยกได้โดยนิวตรอนทุกพลังงาน โดยเฉพาะกับเทอร์มัลนิวตรอน วัสดุฟิสไซล์ที่สำคัญ เช่น พลูโทเนียม-239 ยูเรเนียม-235 และยูเรเนียม-233 วัสดุฟิสไซล์นี้บางครั้งเรียกว่า วัสดุเกิดฟิชชันได้ (จาก คลังศัพท์ไทย โดย สวทช. http://dict.longdo.com/search/fissile)

[7]เตาปฏิกรณ์ที่เมืองอารัค (Arak) พื้นที่เขตอารัค มีนิคมอุตสาหกรรมหลายแห่ง บางแห่งมีความเกี่ยวข้องโยงใยกับโครงการนิวเคลียร์ โดยเฉพาะเตาปฏิกรณ์ IR-40 ซึ่งกำลังอยู่ระหว่างการก่อสร้าง และโรงงานผลิตน้ำชนิดหนัก (heavy water) (ข้อมูลจาก Wikipedia)

[8] พื้นที่ทางทหารที่ปาร์ชิน (Parchin military site) ตั้งอยู่ห่างจากย่านใจกลางกรุงเตหะรานราวๆ 20 กิโลเมตร ทบวงพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ (IAEA) ได้รับอนุญาตให้เข้าไปยังปาร์ชิน ซึ่งมีลักษณะเป็นกลุ่มอาคารทางทหาร เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2005 และได้เก็บตัวอย่างสิ่งแวดล้อมมาตรวจสอบ โดยที่ในระหว่างไปเยือนอาคารต่างๆ ภายในพื้นที่นี้ เจ้าหน้าที่ตรวจสอบไม่ได้พบเห็นกิจกรรมผิดปกติใดๆ และผลการวิเคราะห์ตัวอย่างสิ่งแวดล้อมก็ไม่มีสิ่งบ่งชี้ว่ามีวัสดุนิวเคลียร์ปรากฏอยู่ ปาร์ชินถูกใช้เป็นสถานที่สำหรับการทดสอบและผลิตวัตถุระเบิดตามแบบแผน เจ้าหน้าที่ตรวจสอบของ IAEA ก็ไม่ได้เข้าไปเยือนเพื่อมองหาหลักฐานของวัสดุนิวเคลียร์ แต่มุ่งหาชนิดของการทดสอบระเบิดซึ่งอาจสอดคล้องกับการวิจัยและพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ (ข้อมูลจาก Wikipedia)
กำลังโหลดความคิดเห็น