รอยเตอร์ – จอห์น เคร์รี รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ กล่าวเตือนวานนี้ (5 ก.ค.) ว่าวอชิงตันพร้อมที่จะถอนตัวจากการเจรจานิวเคลียร์ หากอิหร่านยังไม่ “ตัดสินใจเด็ดขาด” เพื่อบรรลุข้อตกลงควบคุมนิวเคลียร์ฉบับสมบูรณ์ภายในวันอังคาร (7 ก.ค.) ขณะที่รัฐมนตรีต่างประเทศอิหร่าน จาวัด ซารีฟ ยอมรับว่า ทั้ง 2 ฝ่ายยังมีบางประเด็นที่เห็นต่างและตกลงกันไม่ได้
“ตอนนี้ยังไม่มีความชัดเจน... เรายังเห็นต่างกันอยู่หลายประเด็น และพยายามอย่างยิ่งที่จะแก้ปัญหา” ซารีฟ ให้สัมภาษณ์ต่อสื่อมวลชนวันนี้ (6 ก.ค.)
การเจรจาระหว่างอิหร่านกับกลุ่มมหาอำนาจ P5+1 ซึ่งได้แก่ สหรัฐฯ จีน รัสเซีย อังกฤษ ฝรั่งเศส บวกเยอรมนี มีเป้าหมายเพื่อสร้างกลไกควบคุมกิจกรรมนิวเคลียร์ของอิหร่านอย่างเป็นรูปธรรมตลอดระยะเวลา 10 ปีข้างหน้า โดยอิหร่านจะได้รับการยกเว้นหรือผ่อนคลายบทลงโทษทางเศรษฐกิจเป็นการตอบแทน
เคร์รี กล่าววานนี้(5)ว่า ข้อตกลงฉบับสมบูรณ์อาจมีขึ้นได้ภายในสัปดาห์นี้ หากอิหร่านยอม “ตัดสินใจ” อย่างเด็ดขาดในสิ่งที่จำเป็น และหากอิหร่านไม่ทำเช่นนั้น สหรัฐฯ ก็พร้อมที่จะเดินออกจากเวทีเจรจา
เจ้าหน้าที่อิหร่านให้สัมภาษณ์ต่อสำนักข่าวตัสนีมซึ่งเป็นสื่อกึ่งทางการว่า การเจรจากับมหาอำนาจ P5+1 อาจยืดเยื้อไปถึงวันที่ 9 ก.ค. ซึ่งตรงกับที่นักการทูตตะวันตกบางคนประเมินไว้ แต่ เคร์รี ยืนยันว่า ผู้แทนเจรจาทั้ง 2 ฝ่ายยังตั้งเจตนารมณ์ที่จะบรรลุข้อตกลงให้ได้ภายในวันอังคาร (7) หลังจากที่พลาดเส้นตาย 30 มิ.ย. มาแล้วครั้งหนึ่ง
“กำหนดเส้นตายสุดท้ายคือช่วงกลางดึกวันพุธ หรือไม่ก็เช้าวันพฤหัสบดี” เจ้าหน้าที่เตหะรานเผยกับสำนักข่าวตัสนีม
รัฐบาลประธานาธิบดี บารัค โอบามา จะต้องนำร่างข้อตกลงนิวเคลียร์ที่ได้ไปยื่นต่อสภาคองเกรสภายในวันที่ 9 ก.ค. เพื่อพิจารณาทบทวนเป็นเวลา 30 วัน
เคร์รี และซารีฟ ได้ร่วมประชุมหารือกันหลายครั้งเมื่อวันอาทิตย์(5) เพื่อเจรจาต่อรองในประเด็นที่ยังตกลงกันไม่ได้ เช่น การยกเลิกมาตรการคว่ำบาตรที่องค์การสหประชาชาติมีต่ออิหร่าน และประเภทของงานวิจัยและพัฒนานิวเคลียร์ที่อิหร่านจะสามารถทำต่อไปได้ ขณะที่รัฐมนตรีต่างประเทศในกลุ่ม P5+1 ชาติอื่นๆ ก็เริ่มเดินทางกลับไปยังกรุงเวียนนาเพื่อหาทางผลักดันข้อตกลงให้สำเร็จทันเวลา
ด้านผู้แทนจากทบวงการปรมาณูระหว่างประเทศ (IAEA) ก็จะมีการหารือกับคณะเจ้าหน้าที่ของอิหร่านในวันนี้(6 )
มหาอำนาจตะวันตกยื่นเงื่อนไขให้อิหร่านต้องยอมให้ IAEA เข้าไปตรวจสอบโรงงานนิวเคลียร์ และชี้แจงข้อกังขาเกี่ยวกับกิจกรรมนิวเคลียร์ในอดีต ซึ่งต้องสงสัยว่าจะมีจุดประสงค์ทางทหารแอบแฝงอยู่
สหรัฐฯ และชาติพันธมิตรกล่าวหาว่าอิหร่านใช้โครงการนิวเคลียร์พลเรือนเป็นฉากอำพรางการพัฒนาอาวุธทำลายล้างสูง แต่เตหะรานก็ยืนกรานปฏิเสธมาโดยตลอด