เอเอฟพี - โอเปกเมื่อวันศุกร์(5มิ.ย.) มีมติไม่ลดกำลังผลิตลง แม้ต้องเผชิญกับราคาน้ำมันที่ตกต่ำ ขยายกรอบดำเนินการยุทธศาสตร์ใหม่ที่กำหนดออกมาเพื่อปกป้องส่วนแบ่งตลาดและขจัดการแข่งขันจากพลังงานชั้นหินของสหรัฐฯที่มีต้นทุนสูงกว่า
การตัดสินใจคงกำลังผลิตไว้เท่าเดิม ณ ที่ประชุมในกรุงเวียนนา ประเทศออสเตรีย ส่งผลให้องค์การประเทศผู้ส่งน้ำมันเป็นสินค้าออก(โอเปก)ยังมีเป้าหมายเพดานการผลิตรวมที่ 30 ล้านบาร์เรลต่อวันตามเดิม ซึ่งเป็นระดับที่คงมาอย่างนี้กว่า 3 ปีครึ่งแล้ว
"เพดานการผลิตยังเหมือนเดิม แต่ที่คุณอาจรู้สึกประหลาดใจก็คือที่ประชุมเป็นไปอย่างฉันมิตรอย่างยิ่ง" นายอาลี อัล-ไนมี รัฐมนตรีพลังงานของซาอุดีอาระเบียบอกกับผู้สื่อข่าว หลังเสร็จสิ้นการหารือของ 12 ชาติสมาชิกกลุ่มที่ผลิตน้ำมันป้อนตลาดโลกร้อยละ 30
ตลาดน้ำมันถูกห้อมล้อมด้วยความกังวลทางอุปสงค์ อุปทานล้นตลาดและกำลังผลิตน้ำมันชั้นหินสหรัฐฯที่เฟื่องฟู จนราคาระหว่างเดือนมิถุนายน 2014 ถึงปลายเดือนมกราคม ดำดิ่งถึงร้อยละ 60 โดยน้ำดิบเวสต์เท็กซัส อินเตอร์มีเดียต ร่วงลงจากระดับ 106 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล มาอยู่ต่ำกว่า 45 ดอลลาร์
ตั้งแต่นั้นราคาน้ำมันก็ฟื้นตัวขึ้น แต่ก็ยังคงแกว่งตัวอยู่ที่ราวๆ 60 ดอลลาร์ ส่งผลให้ประเทศผลิตน้ำมันหลายชาติต้องเผชิญกับแรงกดดันทางงบประมาณ ท่ามกลางภาวะเศษฐกิจโลกจำเป็นต้องได้รับการกระตุ้น
อย่างไรก็ตาม โอเปก ซึ่งมักมีธรรมเนียมปรับลดกำลังผลิตเพื่อปกป้องราคาน้ำมันที่ตกต่ำ กลับปรับเปลี่ยนนโยบายอย่างฉับพลันในเดือนพฤศจิกายนปีก่อน เมื่อพวกเขาเลือกคงกำลังผลิตไว้ตามเดิม แม้ราคาร่วงลงอย่างหนักซึ่งส่งผลกระทบกับรายได้ของชาติสมาชิก "นี่คือพันธสัญญาจากรัฐมนตรีทุกท่านที่พวกเขาต้องยึดมั่นในเป้าหมาย" อับดุลลาห์ เอล-บาดรี บอกในวันศุกร์(5มิ.ย.)
เหล่าคณะรัฐมนตรีประกาศเมื่อช่วงต้นสัปดาห์ว่าพวกเขาพอใจกับราคาน้ำมันระหว่าง 75 ดอลลาร์ถึง 80 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล เพื่อเพิ่มรายได้และค้ำจุนการเงินการคลังของประเทศ โดยแม้ แองโกลา เอกวาดอร์ อิหร่าน อิรักและเวเนซุเอลา อยากเห็นราคาสูงกว่านี้เพื่อสนับสนุนการลงทุน แต่ บากรี บอกในวันศุกร์(5มิ.ย.) ว่า "เราต้องยอมรับความจริงว่า ราคาน้ำมันคงไม่ถึง 100 ดอลลาร์อีกแล้ว เราจำเป็นต้องมีมาตรการ และมาตรการที่เราใช้ในเดือนพฤศจิกายนก็เพื่อประโยชน์แก่ประเทศสมาชิกทั้งที่ยากจนและร่ำรวย"
แม้ราคาดำดิ่งลงหนักขึ้นในเดือนพฤศจิกายน หลังโอเปกเปลี่ยนนโยบาย แต่นักวิเคราะห์บอกว่ายุทธศาสตร์ดังกล่าวได้ผล เนื่องจากผลผลิตน้ำมันชั้นหินสหรัฐฯต้องหยุดชะงักและราคาน้ำมันดิบก็เริ่มค่อยๆฟื้นตัวขึ้นในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา
กระนั้นก็ดีนักวิเคราะห์เกรงว่าตลาดอาจเจอภาวะอุปทานล้นเพิ่มเติม ด้วยน้ำมันของอิหร่านอาจกลับเข้าสู่ตลาดอีกครั้ง หากชาติตะวันตกยกเลิกมาตรการคว่ำบาตรแลกกับข้อตกลงนิวเคลียร์ ที่ทางมหาอำนาจต้องการให้เสร็จสมบูรณ์ในเดือนมิถุนายน โดยทางรัฐมนตรีพลังงานเตหะรานบอกว่าพวกเขาอาจผลิตน้ำมันได้เพิ่มเติมอีก 1 ล้านบาร์เรลต่อวัน ภายในครึ่งปีหลังจากยกเลิกมาตรการคว่ำบาตร