xs
xsm
sm
md
lg

“เบน เบอร์นันกี” อดีตประธานเฟด ชี้บรรดาผู้นำยุโรปทำวิกฤตกรีซแย่ลง จวกเละ “นโยบายรัดเข็มขัด” รังแต่สร้างปัญหา

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


เอเจนซีส์ / ASTV ผู้จัดการออนไลน์ - เบน เบอร์นันกี อดีตประธานธนาคารกลางสหรัฐ ฯ (เฟด) ออกโรงโจมตีผู้นำชาติในยุโรป โดยระบุ ความล้มเหลวของนโยบายด้านเศรษฐกิจของยุโรป คือ ต้นตอสำคัญที่ทำให้วิกฤตหนี้สินของกรีซ ดิ่งเหวเลวร้ายลงยิ่งกว่าเดิม พร้อมจวกเละ “นโยบายรัดเข็มขัด” ที่มีเยอรมนีเป็นตัวตั้งตัวตี มีแต่จะ “เพิ่มปัญหาให้ชาติลูกหนี้”

เบน แชลอม เบอร์นันกี ในวัย 61 ปี ซึ่งเคยดำรงตำแหน่งประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ (Chairman of the Federal Reserve) คนที่ 14 ในประวัติศาสตร์ ระหว่างเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2006 - เดือนกุมภาพันธ์ ปี 2014 ระบุว่า ความล้มเหลวแบบไม่เป็นท่าของนโยบายด้านเศรษฐกิจของยุโรปที่ถูกกำหนดโดยบรรดาผู้นำชาติในยุโรป คือ ต้นตอสำคัญที่ทำให้ตัวเลขการว่างงานในทวีปนี้มีแต่จะพุ่งสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่วิกฤตการเงินโลกในช่วงปี 2008 เป็นต้นมา เช่นเดียวกับวิกฤตหนี้สินของกรีซ

เบอร์นันกี ซึ่งในปัจจุบันรับหน้าที่เป็นนักเศรษฐศาสตร์อาวุโส ให้กับสถาบันบรูคกิงส์ (Brookings Institution) ในกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. ระบุว่า ตัวเลขการเติบโตและผลลัพธ์ทางเศรษฐกิจของกลุ่มยูโรโซน หรือกลุ่ม 19 ประเทศที่ใช้เงินสกุลยูโรร่วมกันนั้น ถือว่าอยู่ในระดับที่ “น่าผิดหวังเป็นอย่างยิ่ง” นับตั้งแต่วิกฤตการเงินโลกในช่วงปี 2008

อดีตประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ ระบุว่า เมื่อช่วงปลายปี 2009 และปี 2010 อัตราการว่างงานของสหรัฐอเมริกาและของยุโรปในช่วงเวลานั้นต่างอยู่ที่ระดับประมาณ 10 เปอร์เซ็นต์เท่า ๆ กัน แต่เมื่อเวลาล่วงเลยผ่านไป อัตราการว่างงานในสหรัฐฯขณะนี้ได้ลดลงอย่างสำคัญเหลือราว 5.3 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น สวนทางกับตัวเลขการว่างงานโดยเฉลี่ยของชาติในยุโรปที่ปรับเพิ่มขึ้นเป็นมากกว่า 13 เปอร์เซ็นต์ในเวลานี้

เบอร์นันกี ชี้ว่า ตัวเลขการว่างงานที่ไม่มีแนวโน้มจะลดลง ตลอดจนภาวะเศรษฐกิจที่ซบเซาต่อเนื่องของยุโรป ถือเป็นผลโดยตรงมาจากการที่บรรดาผู้นำในยุโรปไม่มีการออกมาตรการทั้งทางการเงินและการคลัง เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจของตนอย่างเพียงพอ นอกจากนั้น การ “ลุ่มหลง” อยู่กับการบังคับใช้ “มาตรการรัดเข็มขัด” เพื่อรักษาวินัยทางเศรษฐกิจของยุโรป ถือเป็นเครื่องมือการแก้ปัญหาทางเศรษฐกิจที่ถูกนำมาใช้แบบ “ผิดที่ - ผิดเวลา”

“ผมไม่เข้าใจว่า เพราะเหตุใดบรรดาผู้นำในยุโรป ถึงได้ดึงดันใช้มาตรการรัดเข็มขัดอย่างไม่ลืมหูลืมตา ทั้ง ๆ ที่เห็นได้ชัดว่า การอัดฉีดเม็ดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจแบบขนานใหญ่ และการใช้นโยบายงบประมาณแบบขาดดุล ถือเป็นความจำเป็นเร่งด่วนที่พวกเขาควรต้องรีบดำเนินการ ผมยังรู้สึกงงงวยอย่างที่สุดที่ได้เห็นว่า ผู้นำชาติในยุโรปยังคงยึดมั่นในแนวทางรัดเข็มขัด แม้จะตระหนักว่า แนวทางนี้จะไปทำลายความเชื่อมั่นของภาคธนาคาร และลดทอนกำลังซื้อของผู้บริโภคลงอย่างสำคัญ ทั้งที่ 2 ปัจจัยดังกล่าวนี้ถือได้ว่ามีความสำคัญอย่างยิ่งยวดต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ” เบอร์นันกี อดีตประธานธนาคารกลางสหรัฐ ฯ กล่าว

อดีตประธานเฟด ยังตำหนิบรรดาประเทศฝ่ายเจ้าหนี้ในยุโรป ว่า เป็นตัวการสำคัญที่ซ้ำเติมวิกฤตหนี้สินของกรีซให้เลวร้ายลงยิ่งกว่าเดิม จนเศรษฐกิจของกรีซประสบภาวะหดตัวลงถึงเกือบ 1 ใน 3 เมื่อเทียบกับช่วงก่อนเกิดวิกฤต ขณะที่อัตราการว่างงานของกรีซยังคงพุ่งสูงเกินกว่า 25 เปอร์เซ็นต์เมื่อช่วงสิ้นปี 2014 ที่ผ่านมา

“บรรดาชาติเจ้าหนี้ในยุโรป คือ ตัวการใหญ่ที่ทำให้ชาติที่ป่วยไข้อย่างกรีซ มีอาการทรุดหนักลง ผมประหลาดใจมากเมื่อได้ทราบว่า พวกเขาเลือกที่จะจ่ายยาซึ่งมีชื่อว่า austerity (หมายถึงมาตรการรัดเข็มขัด) ที่มีสรรพคุณในการชะลอการเติบโตและลดทอนขีดความสามารถในการชำระหนี้ให้กับกรีซ ทั้งที่คนไข้ที่ชื่อว่ากรีซนี้ กำลังต้องการยาเร่งการเติบโตเพื่อหารายได้มาชำระหนี้” เบอร์นันกี กล่าวเสริม พร้อมแนะว่า ถึงเวลาแล้วที่บรรดาผู้นำทางการเมืองและเศรษฐกิจของยุโรปจะต้องยอมผ่อนคลายความเข้มงวดของมาตรการรัดเข็มขัดลง และหันมาเปิดใจกว้างยอมรับว่า “การกระตุ้นเศรษฐกิจ” ถือเป็นสิ่งที่มีความจำเป็นเร่งด่วนที่สุดในเวลานี้


กำลังโหลดความคิดเห็น