เอเจนซีส์ – อยาตอลเลาะห์ อาลี คอเมเนอี ผู้นำสูงสุดอิหร่าน ประกาศว่ารัฐบาลเตหะรานยังไม่เปลี่ยนแปลงจุดยืนที่มีต่อ “ชาติก้าวร้าว” อย่างสหรัฐฯ แม้จะทำข้อตกลงนิวเคลียร์กับกลุ่มมหาอำนาจ P5+1 แล้วก็ตาม พร้อมกล่าวหาอเมริกาว่าต้องการบีบให้อิหร่าน “ยอมจำนน”
คอเมเนอี ได้เป็นผู้นำละหมาด และกล่าวสุนทรพจน์เนื่องในวันตรุษอีดิลฟิฏรีซึ่งเป็นเทศกาลเฉลิมฉลองของชาวมุสลิมหลังสิ้นสุดเดือนรอมฎอนที่จัดขึ้นในอิหร่านวันนี้ (18 ก.ค.) โดยประชาชนที่เข้าร่วมพิธีต่างร้องสาปแช่ง “อเมริกาจงไปตายเสีย” และ “อิสราเอลจงไปตายเสีย”
คอเมเนอี ระบุว่า ข้อตกลงควบคุมนิวเคลียร์ที่อิหร่านทำร่วมกับมหาอำนาจทั้ง 6 จะไม่มีผลใดๆ ต่อการสนับสนุนที่อิหร่านมีต่อพันธมิตรอย่างรัฐบาลซีเรียและอิรัก รวมถึงพลเมืองที่ถูกกดขี่ข่มเหงในเยเมน บาห์เรน และปาเลสไตน์
คำพูดของ คอเมเนอี วันนี้(18) เป็นการตอกย้ำจุดยืนที่ว่า เตหะรานยอมเจรจากับ P5+1 ก็เพื่อให้ได้ข้อตกลงนิวเคลียร์ที่จะเป็นผลดีต่อเศรษฐกิจเท่านั้น
ตามเงื่อนไขของข้อตกลงนิวเคลียร์ มาตรการคว่ำบาตรที่สหรัฐฯ องค์การสหประชาชาติ และสหภาพยุโรปบังคับใช้ต่ออิหร่าน จะถูกผ่อนคลายลงในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า ขณะที่อิหร่านก็จะต้องปฏิบัติตามคำมั่นสัญญาที่จะลดทอนกิจกรรมนิวเคลียร์ลงอย่างน้อย 10 ปี เพื่อให้นานาชาติหมดกังวลว่าอิหร่านจะลักลอบพัฒนาอาวุธทำลายล้างสูง
รัฐบาลอิหร่านปฏิเสธคำครหาของชาติตะวันตก โดยยืนยันว่าโครงการนิวเคลียร์มีวัตถุประสงค์ด้านพลังงานเพื่อสันติและการแพทย์เท่านั้น
คอเมเนอี ยังคงมีท่าทีไม่ไว้วางใจอเมริกา โดยระบุว่า ประธานาธิบดีอเมริกันทุกคนต่างพยายามบีบให้อิหร่าน “ยอมจำนน” พร้อมเตือนว่าหากเกิดสงครามอีกครั้ง สหรัฐฯ จะต้องเป็นฝ่ายสูญเสียยิ่งกว่าเดิม
“พวกชาวอเมริกันบอกว่าจะยับยั้งไม่ให้อิหร่านได้ครอบครองอาวุธนิวเคลียร์... พวกเขาก็รู้ว่ามันไม่จริง เราเคยมีคำฟัตวา (คำตัดสินทางศาสนา) ไปแล้วว่า อาวุธนิวเคลียร์ถือเป็นของต้องห้ามตามหลักชารีอะห์ ดังนั้นจึงไม่เกี่ยวอะไรกับการเจรจานิวเคลียร์เลย”
ผู้นำสูงสุดอิหร่านยังเตือนว่า ข้อตกลงที่ทำร่วมกับสหรัฐฯ อังกฤษ รัสเซีย จีน ฝรั่งเศส และเยอรมนี ยังไม่ถูกประกาศเป็นกฎหมาย และจะต้องผ่านขั้นตอนการพิจารณาอย่างรอบคอบ เพราะอิหร่านจะไม่ยอมให้สิ่งใดมาบั่นทอนหลักการปฏิวัติอิสลาม และความเข้มแข็งในการป้องกันประเทศ แต่ขณะเดียวกันก็กล่าวชื่นชมความพยายามของประธานาธิบดี ฮัสซัน รอฮานี และคณะผู้แทนเจรจาอิหร่านซึ่งนำโดยรัฐมนตรีต่างประเทศ โมฮัมหมัด จาวัด ซารีฟ
“พวกเขาต้องยอมเจ็บปวด และทุ่มเททำงานกันอย่างหนัก” คอเมเนอี กล่าว
“ร่างข้อตกลงถูกเตรียมเอาไว้แล้ว และไม่ว่าจะผ่านการรับรองหรือไม่ พวกเขาก็ได้ทำหน้าที่ของตนจนสำเร็จลุล่วง และสมควรได้รับรางวัลตอบแทน”
ในฐานะผู้นำสูงสุดของอิหร่าน คอเมเนอี มีอำนาจตัดสินใจขั้นสุดท้ายในทุกๆ กิจการ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องในประเทศหรือต่างประเทศ รวมถึงข้อตกลงนิวเคลียร์ด้วย