เอเอฟพี - อยาตอลเลาะห์ อาลี คอเมเนอี ผู้นำสูงสุดอิหร่าน ประกาศย้ำ “เส้นแดง” ในการทำข้อตกลงควบคุมนิวเคลียร์กับมหาอำนาจตะวันตกเมื่อวานนี้ (23 มิ.ย.) ขณะที่รัฐสภาอิหร่านก็ได้ผ่านกฎหมายปกป้องโครงการนิวเคลียร์ของประเทศ ซึ่งส่อเค้าจะกลายเป็นอุปสรรคสำคัญต่อข้อตกลงนิวเคลียร์ฉบับสมบูรณ์ที่ผู้แทนเจรจาทั้ง 2 ฝ่ายกำลังเร่งผลักดันให้สำเร็จ ก่อนถึงเส้นตาย 30 มิ.ย. นี้
คอเมเนอีซึ่งกุมอำนาจตัดสินใจขั้นสุดท้ายในอิหร่านได้ยื่นมือเข้ามาแทรก หลังจากรัฐสภาผ่านกฎหมายปกป้องสิทธิในการดำเนินกิจกรรมนิวเคลียร์ ซึ่งรองประธานาธิบดีอิหร่านคนหนึ่งประณามว่า “ขัดรัฐธรรมนูญ” และอาจขัดขวางกระบวนการต่อรองขั้นสุดท้ายระหว่างผู้แทนอิหร่านกับมหาอำนาจ P5+1 ซึ่งได้แก่ สหรัฐฯ จีน รัสเซีย อังกฤษ ฝรั่งเศส บวกเยอรมนี
ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นบ่งชี้ถึงความไม่ลงรอยระหว่างประธานาธิบดีฮัสซัน รอฮานี กับกลุ่มชาตินิยมสุดโต่งในรัฐสภาอิหร่าน ซึ่งมักตั้งคำถามถึงผลประโยชน์ที่อิหร่านจะได้รับจากการยอมอ่อนข้อให้ตะวันตกครั้งนี้
คอเมเนอีได้ยื่นเงื่อนไขต่อที่ประชุมเจ้าหน้าที่ระดับสูง ซึ่งมีทั้งประธานาธิบดีรอฮานี และอดีตประธานาธิบดีมะห์มูด อาห์มาดิเนจัด ผู้เป็นไม่เบื้อไม้เมากับตะวันตก ร่วมฟังอยู่ด้วย
สำเนาคำแถลงที่เผยแพร่ลงบนเว็บไซต์ทางการของคอเมเนอี ระบุว่า มาตรการคว่ำบาตรธนาคารและเศรษฐกิจที่องค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็น) และสภาคองเกรสสหรัฐฯ ใช้ลงโทษอิหร่าน จะต้องถูกยกเลิกทันทีที่ข้อตกลงนิวเคลียร์ได้รับการลงนาม
“การคว่ำบาตรในภาคส่วนอื่นๆ สามารถทยอยเพิกถอนได้ตามกรอบเวลาที่เหมาะสม”
คอเมเนอียังวิพากษ์วิจารณ์ทบวงการปรมาณูระหว่างประเทศ (IAEA) ว่า “ไม่ใช่หน่วยงานที่เป็นอิสระและเป็นธรรม” และรัฐบาลอิหร่านจะไม่อนุญาตให้เข้าไปตรวจสอบพื้นที่ทหาร รวมถึง “การตรวจสอบที่ผิดปกติ” (unconventional inspections) ในสถานที่อื่นๆ ซึ่งเขาก็ไม่ระบุชัดเจนว่าหมายถึงที่ใดบ้าง
ผู้นำสูงสุดอิหร่านยังตั้งคำถามเกี่ยวกับกรอบเวลาที่เตหะรานจะถูกจำกัดกิจกรรมนิวเคลียร์ โดยก่อนหน้านี้ อิหร่านได้บรรลุกรอบข้อตกลงเบื้องต้นกับ P5+1 เมื่อวันที่ 2 เม.ย. ซึ่งระบุว่า การเสริมสมรรถนะยูเรเนียมจะกระทำได้ที่โรงงานในเมืองนาตันซ์ (Natanz) เท่านั้น และต้องถูกควบคุมไว้เป็นเวลา 10 ปี ส่วนกิจกรรมนิวเคลียร์ด้านอื่นๆ อาจถูกควบคุมนานกว่า
คอเมเนอีระบุว่า ข้อจำกัดบางอย่างอิหร่านพอจะรับได้ แต่ไม่ยอมรับ “ข้อเรียกร้องที่เกินกว่าเหตุ”
“เราจะไม่ยอมถูกจำกัดกิจกรรมในระยะยาว 10-12 ปี และได้แจ้งพวกเขา (สหรัฐฯ) ไปแล้วว่า ช่วงเวลากี่ปีอิหร่านจึงจะรับได้”
คอเมเนอียังเรียกร้องให้อิหร่านสามารถทำการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีด้านนิวเคลียร์ต่อไปได้
แม้คอเมเนอีจะประกาศสนับสนุนความพยายามของคณะผู้แทนเจรจาอิหร่านซึ่งนำโดยรัฐมนตรีต่างประเทศ โมฮัมหมัด จาวัด ซารีฟ แต่สิ่งที่เขาเรียกร้องในช่วงไม่กี่วันสุดท้ายนี้คาดว่าจะก่อให้เกิดปฏิกิริยาตอบโต้อย่างรุนแรงจากผู้ที่คัดค้านข้อตกลงนิวเคลียร์อิหร่าน ซึ่งหนึ่งในนั้นก็คือนายกรัฐมนตรี เบนจามิน เนทันยาฮู แห่งอิสราเอล ซึ่งเคยกล่าวเตือนสหรัฐฯ เมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมาไม่ให้ทำ “ข้อตกลงชั่วร้าย” กับเตหะราน
ประธานาธิบดีรอฮานีซึ่งเป็นผู้นำสายกลาง ต้องการบรรลุข้อตกลงกับมหาอำนาจตะวันตกเพื่อที่จะสลายมาตรการคว่ำบาตรซึ่งบีบคั้นเศรษฐกิจอิหร่านอยู่ทุกวันนี้
เมื่อวันจันทร์ (22) ฝรั่งเศสและอังกฤษแถลงย้ำจุดยืนต้องการให้มีการตรวจสอบโรงงานนิวเคลียร์ของอิหร่านอย่างครอบคลุมทุกด้าน เพื่อพิสูจน์ว่ากิจกรรมนิวเคลียร์ของเตหะรานไม่ได้มีวัตถุประสงค์ในด้านการทหาร