xs
xsm
sm
md
lg

ไทยปิดสถานทูต-กงสุลในตุรกีหลังเจอโจมตี สื่อนอกเผยชาติอื่นก็ส่งอุยกูร์กลับจีนเหมือนกัน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สภาพความเสียหาย ณ สถานกงสุลไทยในอิสตันบูล หลังจากถูกกลุ่มผู้ประท้วงถูกโจมตีเมื่อคืนวันพุธ(8ก.ค.) กรณีขับไล่ชาวมุสลิมอุยกูร์ไปยังจีน ล่าสุดในวันศุกร์(10ก.ค.) ไทยได้ประกาศปิดสถานกงสุลและสถานทูตในอังการาชั่วคราว
เอเอฟพี/ASTVผู้จัดการ - สื่อต่างประเทศรายงาน ไทยในวันศุกร์(10ก.ค.) ดำเนินการปิดสถานทูตและสถานกงสุลในตุรกีชั่วคราว หลังเจอประท้วงรุนแรงคัดค้านกรณีเนรเทศชาวมุสลิมอุยกูร์ไปยังจีน พร้อมเผยหลายชาติก็เคยทำเบบเดียวกับกรุงเทพฯที่ถูกตำหนิจากสหรัฐฯและยูเอ็น ส่วนอังการามีท่าทีโอนอ่อนลง ประณามเหตุโจมตีสำนักงานด้านการทูตและนักท่องเที่ยว

เอเอฟพีรายงานว่าการปิดสถานทูตในกรุงอังการาและสถานกงสุลในอิสตันบูลของไทยครั้งนี้ เกิดขึ้นหลังจากกลุ่มผู้ประท้วงต่อต้านจีนใช้แผ่นไม้และหิน ทุบกระจกและบุกเข้าไปในสถานกงสุล ทำลายข้าวของภายในอาคารและรื้อถอนสัญลักษณ์ที่อยู่ด้านนอก

เหตุการณ์นี้ถือเป็นการประท้วงล่าสุดในตุรกี ต่อแนวทางปฏิบัติของจีนกับชนมุสลิมกลุ่มน้อยที่พูดภาษาเติร์ก ในเขตปกครองตนเองซินเจียงอุยกูร์ ทางภาคตะวันตกเฉียงเหนือของแดนมังกร โดยชาวอุยกูร์อ้างว่าพวกเขาต้องเผชิญการกดขี่ทั้งด้านวัฒนธรรมและศาสนา

เชื่อว่าในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา มีชาวอุยกูร์จำนวนมากหลบหนีจากพื้นที่ห่างไกลนี้ บางส่วนเดินทางผ่านเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ด้วยความหวังว่าจะไปตั้งรกรากในตุรกี ส่วนในไทย ชะตากรรมของชาวอุยกูร์ราว 400 คน ต้องเผชิญกับความไม่แน่นอนมาตั้งแต่เดือนมีนาคม 2014 หลังถูกควบคุมตัวฐานลักลอบเข้าเมืองผิดกฎหมาย โดยเจ้าหน้าที่ดำเนินการพิสูจน์สัญชาติท่ามกลางการต่อสู้กันระหว่างตุรกีและจีนว่าคนเหล่านั้นควรถูกส่งตัวไปที่ใด

อย่างไรก็ตาม ไทย เปิดเผยในวันพฤหัสบดี(9ก.ค.) ว่าได้ส่งตัวชาวอุยกูร์ 172 คน ไปยังอิสตันบูลเมื่อช่วงปลายเดือนมิถุนายน ส่วนอีกประมาณ 100 คน ส่งไปยังจีนในวันพุธ(8ก.ค.)ที่ผ่านมา แต่ข่าวคราวการเนรเทศไปแดนมังกรอย่างกะทันหัน กระพือเสียงประณามจากนานาชาติ ในนั้นรวมถึงสหรัฐฯ กลุ่มสิทธิมนุษยชนต่างๆ เช่นเดียวกับสหประชาชาติและอิสตันบูล

ในกรุงเทพฯ เอเอฟพีรายงานว่าพลตรี วีรชน สุคนธปฏิภาค โฆษกรัฐบาลบอกกับผู้สื่อข่าวว่ารัฐบาลได้สั่งให้สถานทูตและสถานกงสุลขอลไทยปิดทำการชั่วคราวในวันศุกร์(10ก.ค.) "เราจะประเมินสถานการณ์แบบรายวัน" เขากล่าว พร้อมชี้แจงว่า ณ ปัจจุบันยังอยู่ภายใต้การควบคุม โดยไม่มีประชาชนคนไทยได้รับผลกระทบและพลเมืองได้รับการแจ้งเตือนให้อยู่ในความระมัดระวังอย่างสูง

รายงานข่าวของสื่อมวลชนตุรกีแห่งหนึ่งบอกว่ามีนักท่องเที่ยวชาวเอเชียคนหนึ่งถูกผู้ประท้วงสนับสนุนอุยกูร์เล่นงานในกรุงอังการาเมื่อวันพฤหัสบดี(9ก.ค.) เพราะเธอถูกคิดว่าเป็นคนจีน ในเรื่องนี้ อาห์เมต ดาวูโตกลู นายกรัฐมนตรีตุรกีบอกกับผู้สื่อข่าวในวันศุกร์(9ก.ค.) ว่าการโจมตีสำนักงานด้านการทูตและนักท่องเที่ยวนั้น "สวนทางกับคุณค่าทางวัฒนธรรมและหลักการทางการเมืองของเรา" พร้อมระบุประตูแห่งการพูดคุยระหว่างประเทศของเขากับไทยและจีนยังเปิดอยู่

ความเห็นดังกล่าวนับเป็นการปรับเปลี่ยนท่าทีของตุรกีต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น หลังจากเมื่อวันพฤหัสบดี(8ก.ค.) ทางกระทรวงการต่างประเทศอังการา แถลงประณามกรณีทางการไทยขับไล่ชาวมุสลิมอุยกูร์ไปยังจีน ระบุละเมิดกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศ แต่เพิกเฉยไม่ยอมตำหนิเหตุโจมตีสถานกงสุลไทยในอิสตันบูล

สำหรับชาวอุยกูร์ เป็นชนกลุ่มน้อยทางภาคตะวันตกเฉียงเหนือของจีน ซึ่งพูดภาษาเติร์ก และบ่อยครั้งก็มักต่อต้านการปกครองของรัฐบาลปักกิ่ง ขณะเดียวกัน แนวทางปฏิบัติของจีนต่อชนกลุ่มน้อยอุยกูร์ ก็เป็นประเด็นอ่อนไหวในตุรกี และทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างสองฝ่ายตกอยู่ในความตึงเครียด โดยชาวเติร์กบางส่วนมองว่าตนเองมีวัฒนธรรมและมรดกทางศาสนาร่วมกับพี่น้องอุยกูร์ และตุรกี ก็เป็นที่พักพิงหลักของชาวอุยกูร์พลัดถิ่นจำนวนมาก

ทั้งนี้ มีชาวอุยกุร์อยู่ในมณฑลซินเจียง ทางภาคตะวันตกของจีน ราว 10 ล้านคน และจำนวนมากบอกว่าพวกเขาต้องเผชิญกับการกดขี่ทางศาสนาและวัตนธรรม ขณะที่เมื่อเร็วๆนี้ จีน ลงมือปราบปรามอย่างกว้างขวางในมณฑลดักล่าว ตอบโต้ความรุนแรงที่มากขึ้นเรื่อยๆ ที่ทางเจ้าหน้าที่กล่าวโทษว่าเป็นฝีมือของพวกแบ่งแยกดินแดนอิสลามิสต์

เอเอฟพีบอกว่าภายใต้แรงกดดันจากจีน เมื่อเร็วๆนี้ประเทศต่างๆอย่างกัมพูชา มาเลเซียและปากีสถาน ก็ล้วนส่งตัวชนกลุ่มน้อยอุยกูร์กลับไปยังจีน แต่เมื่อวันพฤหัสบดี(9ก.ค.) สหรัฐฯ แสดงความผิดหวังใหญ่หลวงต่อการตัดสินใจของไทย

"สหรัฐฯรู้สึกผิดหวังไทยอย่างยิ่ง เราขอประณามไทยที่บังคับเนรเทศชนกลุ่มน้อยอุยกูร์กว่า 100 คน ไปจีน ในวันที่ 9 กรกฎาคม พวกเขาเสี่ยงถูกปฏิบัติอย่างรุนแรงโดยไม่ชอบด้วยกระบวนการทางกฎหมาย" กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯระบุในถ้อยแถลง ขณะที่สหประชาชาติบอกว่าการเนรเทศดังกล่าวละเมิดกฎหมายระหว่างประเทศ โดยอ้างถึงหลักการห้ามผลักดันไปเผชิญอันตราย


กำลังโหลดความคิดเห็น