xs
xsm
sm
md
lg

ขุนคลังสหรัฐฯ‘วิตก’ตลาดหุ้นทรุดแรงส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจจีน

เผยแพร่:   โดย: เอเชียอันเฮดจ์

(เก็บความจากเอเชียไทมส์ www.atimes.com)

Jack Lew checks the tea leaves on China s economy
By Asia Unhedged
08/07/2015

ในขณะที่ตลาดหลักทรัพย์ของจีนอยู่ในช่วงดำดิ่งอย่างน่ากลัวในช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา แจ๊ก ลูว์ ขุนคลังสหรัฐฯ ได้ออกมากล่าวแสดงความกังวลดังๆ เมื่อวันพุธ (8 ก.ค.) ว่า เรื่องนี้อาจสร้างความเสียหายให้แก่เศรษฐกิจจีนโดยรวม ทั้งนี้ไม่เฉพาะรัฐมนตรีว่าการคลังอเมริกันเท่านั้น พวกนักเศรษฐศาสตร์ในโลกตะวันตกต่างพากันพูดถึงประเด็นนี้ โดยที่มีความเห็นแตกต่างกันไป

รัฐมนตรีคลัง แจ๊ก ลูว์ (Jack Lew) ของสหรัฐฯ กล่าวแสดงความกังวลออกมาดังๆ ว่า การที่ตลาดหุ้นจีนซวดเซหนักหน่วงรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ อาจส่งผลกระทบกระเทือนสร้างความเสียหายให้แก่เศรษฐกิจของแดนมังกร อีกทั้งยังเป็นการบั่นทอนความพยายามของปักกิ่งที่จะทำการปฏิรูปเศรษฐกิจ

“เป็นเรื่องที่น่าวิตกกังวลจริงๆ ว่า สิ่งที่เกิดขึ้นนี้จะมีความหมายอย่างไรต่อการเติบโตในระยะยาวในประเทศจีน” ลูว์ กล่าวเช่นนี้ในงานประชุมว่าด้วยเสถียรภาพทางการเงินงานหนึ่ง ซึ่งจัดขึ้นในกรุงวอชิงตันเมื่อวันพุธ (8 ก.ค.) (ดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ http://www.reuters.com/article/2015/07/08/us-usa-china-idUSKCN0PI1S120150708) เขายังพูดต่อไปอีกว่า วิกฤตที่เกิดขึ้นนี้จะเป็นบททดสอบความสามารถในการบริหารจัดการเศรษฐกิจของจีน

“ทางผู้วางนโยบายของจีนจะตอบโต้รับมือกับเรื่องนี้อย่างไร และมันจะส่งผลกระทบอะไรบ้างต่อเงื่อนไขแกนกลางต่างๆ ของเศรษฐกิจจีน?” ลูว์ ตั้งคำถาม

การดำดิ่งของตลาดหุ้นจีนระลอกนี้จะมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจโดยรวมของแดนมังกรอย่างไรบ้าง? คำถามนี้พวกนักเศรษฐศาสตร์ที่ติดตามความเป็นไปของจีนหลายราย อย่างเช่น เว่ย เหยา (Wei Yao) นักเศรษฐศาสตร์ซึ่งประจำอยู่ที่กรุงปารีสของธนาคารโซซิเอเต เยเนรัล (Societe Generale) ได้ออกความเห็นตอบโต้การเล็งการณ์ในแง่ร้าย โดยชี้ว่าขณะที่การดำดิ่งของตลาดย่อมเป็นสถานการณ์ซึ่งสร้างความเจ็บปวดเสียหายอย่างไม่ต้องสงสัย (เป็นต้นว่า อัตราเติบโตแท้จริงในจีดีพีของจีนในรอบระยะเวลา 12 เดือนจากนี้ไป อาจจะหดหายไปราวๆ 0.5 – 1% ทีเดียว) ทว่าความเสียหายซึ่งเกิดขึ้นเฉพาะหน้าเหล่านี้ ทางการจีนน่าจะสามารถรับมือจัดการได้

เธออธิบายว่า เหตุผลที่เธอคิดเห็นเช่นนี้ เนื่องมาจากถึงแม้ปัจจุบันมีครัวเรือนชาวจีนมากขึ้นซึ่งเข้าไปเกี่ยวข้องซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ ทว่าก็ต้องถือว่าจำนวนที่ยังค่อนข้างน้อยอยู่

อย่างไรก็ตาม มีคนอื่นๆ ซึ่งบอกว่า การตกฮวบของตลาดหลักทรัพย์ กลายเป็นการเพิ่มปัจจัยสร้างความเสียหายอย่างใหญ่โตอีกประการหนึ่งให้แก่เศรษฐกิจของจีน หนึ่งในผู้มีความเห็นแนวนี้ได้แก่ ราจิฟ บิสวอส (Rajiv Biswas) หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ติดตามภาคพื้นเอเชีย-แปซิฟิก อยู่ที่บริษัทวิเคราะห์วิจัย ไอเอชเอส (IHS) บิสวอสบอกกับ “ดอยเช่อ เวลเล่อ” สถานีวิทยุและโทรทัศน์แห่งชาติเยอรมนี ระหว่างการให้สัมภาษณ์ในวันอังคาร (7 ก.ค.) ว่า การเซซวดของตลาดหุ้น ได้สร้างความเสียหายทางการเงินให้แก่พวกนักลงทุนชาวจีนที่นิยมใช้เงินกู้มาเล่นหุ้น และนี่ก็ทำให้เศรษฐกิจจีนต้องเผชิญปัญหาความไม่สมดุลอันสำคัญอีกอย่างหนึ่ง เพิ่มเติมขึ้นมาจากความไม่สมดุลเดิมๆ เป็นต้นว่า การทรุดตัวของตลาดอสังหาริมทรัพย์ด้านที่อยู่อาศัย, อัตราเติบโตที่กำลังอ่อนตัวลงของการใช้จ่ายเพื่อการลงทุน, การที่พวก “ธนาคารเงา” ปล่อยกู้เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วงระหว่างปี 2010-2014 โดยที่แทบไม่ถูกจัดระเบียบกำกับตรวจสอบเอาเลยจวบจนกระทั่งในช่วงหลังๆ มานี้ (อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ http://www.dw.com/en/why-do-chinese-stocks-keep-tumbling/a-18566741)

บิสวอสยังเตือนด้วยว่า มีความเสี่ยงถึง 25% ที่ในช่วง 2 ถึง 3 ปีข้างหน้านี้ เศรษฐกิจจีนจะเกิดการชะลอตัวแบบทรุดฮวบรวดเร็ว (hard-landing) และนั่นก็จะส่งผลกระทบกระเทือนอย่างสำคัญต่อเศรษฐกิจโลกโดยรวมอีกด้วย

เอเชียอันเฮดจ์นั้นไม่เห็นด้วยกับประเมินแบบพวกมองการณ์แง่ร้ายมืดมนไปหมดของบิสวอน แต่ก็มองว่า ธนาคารประชาชนแห่งประเทศจีน (People’s Bank of China ใช้อักษรย่อว่า PBOC) ซึ่งเป็นแบงก์ชาติของแดนมังกร ต้องเคลื่อนไหวแบบตัดสินใจอย่างเด็ดขาดในแนวรบด้านการเงิน ถ้าหากจะควบคุมวิกฤตในปัจจุบันให้อยู่หมัด ทั้งนี้ก่อนหน้านี้ เอเชียอันเฮดจ์ได้ชี้ไว้แล้ว ถึงผลกระทบในทางลบของการที่อัตราดอกเบี้ยแท้จริงและอัตราแลกเปลี่ยนของจีนขึ้นสูงอย่างไม่สมควรและอย่างไม่ถูกจังหวะเวลา ตลอดจนผลร้ายของเรื่องเหล่านี้ซึ่งมีต่อการส่งออกของจีน ความผิดพลาดอย่างไม่สมควรอีกประการหนึ่ง ได้แก่ความดื้อรั้นของธนาคารประชาชนแห่งประเทศจีน ที่ยังคงประคับประคองให้อัตราแลกเปลี่ยนเงินหยวนกับเงินดอลลาร์ เคลื่อนไหวได้เพียงในช่วงที่แคบมากๆ

PBOC ยังคงรักษาเรื่องนี้เอาไว้กระทั่งหลังจากที่ไอเอ็มเอฟได้ให้คำรับรองเมื่อเร็วๆ นี้แล้วว่า ปัจจุบันเงินหยวน “มีมูลค่าที่เหมาะสมแล้ว”

(จากคอลัมน์ Asia Unhedged ในเอเชียไทมส์)
กำลังโหลดความคิดเห็น