xs
xsm
sm
md
lg

ผู้เชี่ยวชาญชาวจีนยกธงเตือนการลงทุนใน ‘เส้นทางสายไหมสายใหม่’

เผยแพร่:   โดย: เอเชียอันเฮดจ์

(เก็บความจากเอเชียไทมส์ www.atimes.com)

Chinese experts raise red flags about New Silk Road investments
By Asia Unhedged
19/06/2015

ไฉซินออนไลน์ เว็บไซต์ข่าวชื่อดัง เสนอรายงานอ้างคำเตือนของพวกผู้เชี่ยวชาญทางการเงินในแดนมังกร ซึ่งเรียกร้องบรรดาธนาคารและบริษัทจีนทั้งหลาย ต้องตระหนักและชั่งน้ำหนักความเสี่ยงต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้นได้ ก่อนที่จะตกลงปล่อยเงินสดและทรัพยากรต่างๆ ไปยังต่างแดน เพื่อเข้าร่วมในโครงการ “เส้นทางสายไหมสายใหม่”

ไฉซินออนไลน์ (Caixin Online) เว็บไซต์ข่าวชื่อดังที่มีสำนักงานใหญ่อยู่ในกรุงปักกิ่ง เสนอรายงานซึ่งมีคำเตือนที่น่าสนใจ สำหรับพวกบริษัทและธนาคารทั้งหลายซึ่งกำลังเข้าคิว เพื่อเข้าไปลงทุนในพื้นที่อันกว้างกวางของเอเชีย, ยุโรป, และแอฟริกา ที่ถูกกาเครื่องหมายว่าจะได้รับการพัฒนาภายใต้แผนการริเริ่ม “หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง” (one belt, one road) ของประเทศจีน

รายงานข่าวของไฉซินระบุว่า พวกผู้เชี่ยวชาญทางการเงินในแดนมังกร กำลังรบเร้าให้ผู้เล่นเหล่านี้ตลอดจนคนอื่นๆ ด้วย ต้องตระหนักและชั่งน้ำหนักความเสี่ยงต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้นได้อย่างระมัดระวังรอบคอบ ก่อนที่จะตกลงปล่อยเงินสดและทรัพยากรต่างๆ ไปยังต่างแดน เพื่อเข้าร่วมในโครงการอันใหญ่โตมหึมาซึ่งเป็นที่รู้จักกันในนาม “เส้นทางสายไหมสายใหม่” อย่างไรก็ตาม คำเตือนของผู้เชี่ยวชาญเหล่านี้ดูยังแทบไม่สามารถลดทอนความเร่าร้อนกระตือรือร้นที่พวกนักลงทุนมีต่อแผนการริเริ่มนี้ ซึ่งมีบางฝ่ายประเมินว่าในที่สุดแล้วจะก่อให้เกิดธุรกิจต่างๆ คิดเป็นมูลค่าเกินกว่า 1 ล้านล้านดอลลาร์ทีเดียว

วิสัยทัศน์อันมหึมามโหฬารของจีนนี้ ซึ่งเป็นการรวมเอาสิ่งที่เรียกว่า ยุทธศาสตร์แถบเศรษฐกิจเส้นทางสายไหมสายใหม่ (New Silk Road Economic Belt) กับ ยุทธศาสตร์เส้นทางสายไหมทางทะเลแห่งศตวรรษที่ 21 (21st Century Maritime Silk Road) เข้าด้วยกัน ได้รับการเสนอขึ้นมาเป็นครั้งแรกโดยประธานาธิบดีสี จิ้นผิง เมื่อปี 2013 วัตถุประสงค์ของแผนการริเริ่มนี้ ก็เพื่อส่งเสริมสนับสนุนและผนึกหลอมรวมเครือข่ายติดต่อเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจและทางการค้า ระหว่างภาคตะวันตกของจีนกับเอเชียกลาง ตลอดจนกับเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และต่อเนื่องไปจนถึงแอฟริกา

แหล่งข่าวหลายรายซึ่งคุ้นเคยกับการเตรียมการต่างๆ ที่กำลังดำเนินการกันอยู่ บอกกับไฉซินว่า พวกธนาคารรัฐตลอดจนสถาบันการเงินอื่นๆ ต่างกำลังสาละวนอยู่กับการรวบรวมเงินทุนให้แก่โครงการต่างๆ มากมายหลายหลาก ซึ่งจะได้รับการเปิดตัวในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของแผนการริเริ่มเส้นทางสายไหมสายใหม่นี้

ไฉซินกล่าวต่อไปว่า พวกบริษัทจีนซึ่งอยู่ในตำแหน่งที่จะทำกำไรได้ จากบรรดาโครงการด้านโครงสร้างพื้นฐานและด้านอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับ “หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง” ต่างก็กำลังกระโจนเข้าร่วมวงเป็นการใหญ่ “ตามคำบอกเล่าของผู้บริหารบริษัทรัฐวิสาหกิจรายหนึ่งซึ่งขอให้สงวนนาม นับตั้งแต่ปลายปีที่แล้วเป็นต้นมา บริษัทจำนวนมากต่างกำลังปัดฝุ่นแผนการจัดทำโครงการเก่าๆ ซึ่งถูกเก็บเข้าตู้มาเป็นแรมปี สืบเนื่องจากไม่ได้รับความสนใจจากผู้ลงทุน” รายงานของไฉซินระบุเอาไว้เช่นนี้

พวกธนาคารและบริษัทต่างๆ ยังกำลังแสวงหาหนทางใช้ประโยชน์ บนความได้เปรียบทางการเงินจากกระบวนการแปรเงินหยวนให้กลายเป็นเงินตราสากล เพื่อใช้สนับสนุนการเข้าร่วมในโครงการริเริ่มนี้ของพวกเขา

อย่างไรก็ดี ไฉซินกล่าวว่า “พวกผู้เชี่ยวชาญต่างรบเร้าให้บริษัทจีนทั้งหลายสนใจเอาใจใส่กับธงเตือนภัยต่างๆ ที่กำลังถูกยกขึ้นมา โดยจะต้องระมัดระวังประเมินความเสี่ยงต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้นจากการออกไปทำธุรกิจในต่างแดนด้วยความรอบคอบ” รายงานของไฉซินบอกอีกว่า “ลูกจ้างผู้หนึ่งของสายลูกค้าธุรกิจรายใหญ่ (corporate banking department) ของ ธนาคารอุตสาหกรรมและการค้าแห่งประเทศจีน (Industrial and Commercial Bank of China ใช้อักษรย่อว่า ICBC) ซึ่งขอให้สงวนนาม กล่าวว่านักลงทุนชาวจีนทั้งหลาย ตลอดจนนักการเงินของพวกเขาเหล่านี้ ต้องเตรียมตัวว่าจะต้องเผชิญกับปัญหาอันซับซ้อนยุ่งยากต่างๆ ซึ่งเกิดขึ้นมาจากสภาวการณ์ทางการเมือง, สังคม, และเศรษฐกิจ ที่ผิดแผกแตกต่างกันไป ในพวกประเทศที่เป็นเป้าหมายของแผนการริเริ่มนี้”

นักลงทุนทั้งหลายควรที่จะตระหนักเอาไว้ว่า ระหว่างมาตรฐานทางกฎหมาย, สิ่งแวดล้อม, และเทคโนโลยีของจีน กับของประเทศอื่นๆ นั้น อาจจะมีความผิดแผกแตกต่างกัน แหล่งข่าวใน ICBC รายนี้เตือน

ยังมีผู้เชี่ยวชาญรายอื่นๆ ซึ่งชี้ถึงความเป็นไปได้ที่จะเกิดการสิ้นเปลืองสูญเปล่า พวกเขาเตือนว่าความตื่นเต้นลิงโลดต่อโครงการนี้แบบสายตาแคบๆ สั้นๆ อาจเป็นชนวนให้เกิดการใช้จ่ายเกินตัวจนนำไปสู่ภาระหนี้สินหนักอึ้งทั้งสำหรับผู้กู้และผู้ให้กู้ สภาวการณ์เช่นนี้ก็คล้ายคลึงกับสิ่งที่ติดตามมาจากการอัดฉัดงบประมาณกระตุ้นเศรษฐกิจจำนวน 4 ล้านล้านหยวนของรัฐบาลจีน ภายหลังวิกฤตภาคการเงินในปี 2008 นั่นเอง

(จากคอลัมน์ Asia Unhedged ในเอเชียไทมส์)
กำลังโหลดความคิดเห็น