เอเอฟพี - นายกรัฐมนตรี หลี่ เค่อเฉียง ของจีนซึ่งออกเดินสายเยือนละตินอเมริกาอย่างเป็นทางการครั้งแรก ได้ลงนามชุดข้อตกลงการค้าและการลงทุนกับรัฐบาลบราซิลกว่า 30 ฉบับ รวมมูลค่า 53,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เมื่อวานนี้ (19 พ.ค.) ซึ่งนับเป็นข่าวดีที่ช่วยพลิกเศรษฐกิจแดนแซมบ้าให้กลับมาคึกคักได้อีกครั้ง หลังเผชิญภาวะซบเซาต่อเนื่องมานานถึง 5 ปี
ประธานาธิบดีดิลมา รุสเซฟฟ์ แห่งบราซิล หวังอย่างยิ่งว่าเม็ดเงินลงทุนมหาศาลของปักกิ่งจะช่วยฟื้นฟูโครงสร้างพื้นฐานที่เริ่มทรุดโทรม ก่อนที่นครริโอเดจาเนโรจะเป็นเจ้าภาพกีฬาโอลิมปิกซึ่งจะจัดขึ้นในทวีปอเมริกาใต้เป็นครั้งแรกในปี 2016
ในบรรดาข้อตกลง 35 ฉบับที่โดดเด่นเป็นพิเศษ ได้แก่ ข้อตกลงปล่อยกู้และสัญญาความร่วมมือกับรัฐวิสาหกิจน้ำมันเปโตรบราส มูลค่า 7,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
รุสเซฟฟ์ซึ่งจะเดินทางเยือนปักกิ่งอย่างเป็นทางการในปีหน้า ยืนยันถึง “ความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น” ระหว่างปักกิ่งกับบราซิเลีย โดยชี้ว่า “จีนและบราซิลต่างมีบทบาทสำคัญในการสร้างระเบียบโลกใหม่”
ทันทีที่ชนะเลือกตั้งกลับสู่เก้าอี้ประธานาธิบดีเมื่อเดือนตุลาคม รุสเซฟฟ์ ก็ต้องเผชิญมรสุมใหญ่หลายระลอก ทั้งตัวเลขเศรษฐกิจที่ซบเซา และผลพวงจากคดีทุจริตอื้อฉาวของเปโตรบราส
นายกฯ หลี่ระบุว่า จีนมี “ประสบการณ์สูง” ในด้านโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ และ “พร้อมที่จะร่วมมือกับบราซิลเพื่อช่วยลดต้นทุน”
เมื่อต้นปีนี้ เปโตรบราสก็เพิ่งจะได้รับการปล่อยกู้ 3,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐจากธนาคารพัฒนาจีน (China Development Bank)
แม้จีนจะเป็นประเทศคู่ค้าอันดับ 1 ของแดนแซมบ้ามาตั้งแต่ปี 2009 ด้วยมูลค่าการค้า 2 ฝ่ายที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ทว่าในแง่การลงทุนโดยตรงในบราซิลแล้ว จีนยังอยู่ในลำดับ 12 เป็นรองหลายชาติ และด้วยเหตุนี้บราซิเลียจึงพยายามอย่างยิ่งที่จะกระชับความสัมพันธ์ในด้านเศรษฐกิจกับปักกิ่ง
บราซิลได้ทำสัญญาว่าจ้างบริษัทจีนผลิตรถไฟฟ้า และเรือคาตามารันให้แก่นครริโอเดจาเนโร ซึ่งในวันนี้ (20) นายกฯ หลี่ ก็จะเดินทางไปยังเมืองเจ้าภาพกีฬาโอลิมปิกเพื่อเยี่ยมชมความคืบหน้าของโครงการลงทุนดังกล่าว ก่อนจะเดินทางต่อไปยังโคลอมเบียในวันพรุ่งนี้ (21) ตามมาด้วยภารกิจเยือนเปรูและชิลี
ภารกิจของ หลี่ เค่อเฉียง ซึ่งมุ่งขยายอิทธิพลทางเศรษฐกิจของจีนไปยังละตินอเมริกา มีขึ้นเพียงไม่กี่วันหลังจากที่ปักกิ่งได้ลงนามข้อตกลงมูลค่า 25,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และ 22,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ตามลำดับกับรัสเซียซึ่งเป็นสมาชิกในกลุ่ม BRICS เช่นเดียวกัน ทว่า ชุดข้อตกลงที่ หลี่ ลงนามกับ รุสเซฟฟ์ นั้นมีมูลค่าสูงกว่า และครอบคลุมทั้งในด้านการค้า การลงทุน เกษตรกรรม พลังงาน และการขนส่ง
บริษัท เอ็มเบรเออร์ ผู้ผลิตอากาศยานของบราซิล แถลงว่า จีนได้ทำข้อตกลงสั่งซื้อเครื่องบินโดยสารเอ็มเบรเออร์จำนวน 22 ลำ มูลค่า 1,300 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อนำไปให้บริการโดยสายการบินเทียนจินแอร์ไลน์ส
ด้าน วาเล (Vale) ซึ่งเป็นผู้ผลิตสินแร่เหล็กรายใหญ่ที่สุดของโลกก็ได้ประกาศความร่วมมือกับจีนในด้านการขนส่งเหล็กทางทะเล โดยจะจำหน่ายเรือบรรทุกเหล็ก 4 ลำให้แก่บริษัท ไชน่า เมอร์ชานต์ส เอเนอร์จี ชิปปิง จำกัด และยังลงนามบันทึกความเข้าใจกับธนาคารอุตสาหกรรมและพาณิชย์จีน (Industrial and Commercial Bank of China) เพื่อกู้ยืมเงินลงทุนสูงสุด 4,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
จีนรับปากที่จะเลิกแบนเนื้อวัวจากบราซิล และได้ลงนามสัญญาก่อสร้างทางรถไฟจากท่าเรือซานโตสทางตะวันออกเฉียงใต้ของบราซิล เชื่อมกับท่าเรืออีโล (Ilo) ของชิลีริมฝั่งมหาสมุทรแปซิฟิก ซึ่งเป็นระยะทางรวมกว่า 3,500 กิโลเมตร