เอเจนซีส์/ASTVผู้จัดการออนไลน์ – การประชุม 2 วันของกลุ่ม BRICS ใน UFA รัสเซียที่มีวลาดิมีร์ ปูติน ผู้นำรัสเซียเป็นเจ้าภาพจัดขึ้นตามกำหนดประจำปี อาจจะไม่สดใสหลังจากกระแส NDB ธนาคารเพื่อการพัฒนาของ BRICS นั้นถูกกลบมิด จากการผงาดของธนาคารพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน AIIB ตามโปรเจกต์ยักษ์ “ซิลค์โร๊ด” ของปักกิ่งที่ถูกผลักดันอย่างหนักนั้นจะทำให้ NDB ยังคงเป็นความหวังเป็นช่องทางสำหรับการพลิกฟื้นทางเศรษฐกิจให้กับรัสเซียต่อไปได้หรือไม่ หลังจากพบว่า หนึ่งในชาติสมาชิกสำคัญ เช่น จีน กลับเอาใจออกห่าง แต่ทว่ารัฐมนตรีเศรษฐกิจและการพัฒนารัสเซีย อเล็กเซย์ อุลยูคาเยฟ (Aleksey Ulyukayev)ยังให้สัมภาษณ์อย่างหนักแน่นในวันอังคาร(7)ว่า สถาบันการเงินทั้งสองไม่ได้เป็นคู่แข่งกันอย่างแน่นอนถึงแม้ทั้ง NDB และ AIIB จะมีต่างมีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ในจีน และมีจำนวนเงินลงทุนเบื้องต้นไม่ต่างกัน รวมไปถึงจุดประสงค์ในการก่อตั้งที่คล้ายกันคือ เพื่อคานอำนาจธนาคารโลกและ IMF และรวมไปถึงเป็นแหล่งการเงินในโครงการพัฒนาพื้นฐานต่างๆ
ในการประชุมสุดยอดผู้นำกลุ่มเศรษฐกิจประเทศเกิดใหม่ BRICS ที่จะเริ่มต้นขึ้นในระว่างวันที่ 8-9 กรกฎาคม 2015 ที่ UFA ในรัสเซีย และประธานาธิบดี วลาดิมีร์ ปูตินเป็นเจ้าภาพ หลังจากก่อนหน้านี้รัฐมนตรีช่วยการคลังรัสเซียเซอร์เกย์ สตอร์ชัค ได้ออกปากเชิญกรีซเข้าร่วมกับ NDB ธนาคารเพื่อการพัฒนาของ BRICS ซึ่งมีฐานอยู่ในเซียงไฮ้ ศูนย์กลางธุรกิจของจีน
ที่ถึงแม้ว่ากลุ่ม BRICS จะเกิดจากแรงผลักดันของมอสโกที่ร่วมกับจีน บราซิล อินเดีย และแอฟริกาใต้ที่ต้องการขยายการเติบโตทางเศรษฐกิจของเขตเศรษฐกิจยูเรเชีย EEU และเชื่อมต่อไปยังทวีปเอเชียซึ่งมีจีนและอินเดียเป็นหัวหอกหลัก ต่อไปถึงทวีปอเมริกากลาง บราซิล ซึ่งเป็นหนึ่งในสมาชิกของกลุ่มลาตินอเมริกา USAN ที่มีสมาชิกจำนวน 12 ประเทศ และแอฟริกาใต้ซึ่งจะสามารถเป็นตัวแทนจากโลกกาฬทวีปขยายโอกาสทางการค้าไปสู่โลกภายนอกได้มากขึ้น
ดังนั้นจึงเป็นการตั้งคำถามว่า สถานภาพของสถาบันการเงินระหว่างประเทศทั้ง 2 แห่งที่ตั้งขึ้นมาโดยได้จากแรงหนุนจากปักกิ่งเป็นหลักนั้น ทางรัสเซียที่เศรษฐกิจอยู่ในสภาพถดถอยอย่างหนักจะใช้ธนาคารกลุ่ม BRICS ในพลิกฟื้นเศรษฐกิจได้อย่างไร ในเมื่อการผงาดขึ้นมาของธนาคารพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน AIIB ตามโปรเจกต์ยักษ์ “ซิลค์โร๊ด” ของปักกิ่งนั้นได้ดึงกระแสความสนใจล้นหลามของประเทศเข้าร่วมเป็นสมาชิกที่มีจำนวนมาก ซึ่งหมายถึงการมีเม็ดเงินจากต่างชาติเข้าซื้อหุ้นของธนาคารแห่งนี้ และเป็นหลักประกันในความมั่นคงตลอดจนการยอมรับในเวทีโลก
จากการรายงานของ RT สื่อรัสเซีย ในวันนี้(8) ถึงแม้รัฐมนตรีเศรษฐกิจและการพัฒนารัสเซีย อเล็กเซย์ อุลยูคาเยฟ (Aleksey Ulyukayev) ได้ให้สัมภาษณ์อย่างหนักแน่นถึงความสัมพันธ์ระหว่างสถาบันการเงินนานาประเทศแห่งใหม่ทั้งสองภายใต้การผลักดันของกลุ่ม BRICS ที่มีเครมลินเป็นโต้โผใหญ่คือ ธนาคารเพื่อการพัฒนา NDB และธนาคารพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน AIIB ภายใต้ร่มเงาของปักกิ่งว่า “สถาบันการเงินทั้งสองไม่ใช่คู่แข่งกัน” และสอดคล้องกับการให้สัมภาษณ์ทางฝั่งของจีนในวันที่ 1 กรกฎาคม ล่าสุด ในการรายงานของดิอีโคโนมิกซ์รีวิวที่ว่า “การถือกำเนิดของธนาคาร AIIB ไม่ส่งผลกระทบต่อธนาคาร BRICS อย่างแน่นอน”
แต่ทว่าในความเป็นจริงอาจไม่ใช่เช่นนั้น
“ผมคิดว่ายังคงมีที่ว่างอีกมากสำหรับทุกคน เพราะเศรษฐกิจของเรายังขาดเม็ดเงินเพื่อช่วยการลงทุนอีกมาก…ดังนั้นไม่ว่าจะเป็นธนาคารเอเชีย ธนาคาร BRICS หรือสถาบันการเงินอื่นๆนั้นยังคงมีโอกาส” อุลยูคาเยฟให้สัมภาษณ์ในวันอังคาร(7) หลังจากเสร็จสิ้นการประชุมผู้ว่าธนาคาร NDB จากการรายงานของ RT
การให้สัมภาษณ์ของรัฐมนตรีเศรษฐกิจรัสเซียมีขึ้นล่วงหน้าก่อนการประชุมซัมมิต BRICS ครั้งที่ 7 ที่เมือง UFA ที่ห่างไกลของรัสเซีย โดยทางกลุ่ม BRICS ตั้งเป้าที่จะระดมเม็ดเงินทุนเริ่มต้น 50 พันล้านดอลลาร์ และต่อมามีแผนที่จะขยายไปราว 100 พันล้านดอลลาร์สำหรับ NDB ตามการรายงานของสื่อธุรกิจอินเตอร์เนชันแลบิสซิเนส ไทม์ส เมื่อวานนี้(7)
และ RT ได้ชี้เพิ่มเติมว่า การก่อตั้งของธนาคารแห่งนี้เพื่อเป็นคู่แข่งของธนาคารโลก หรือ WORLD BANK ซึ่งอยู่ภายใต้การครอบงำของสหรัฐฯ และชาติตะวันตก และนอกจากนี้ยังมีการตั้งเป้าต้องการให้ NDB ให้การสนับสนุนโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศภายในสมาชิกกลุ่มเศรษฐกิจเกิดใหม่ BRICS และล่าสุดมีการเปิดเผยว่า มีแนวคิดให้ความช่วยเหลือต่อประเทศที่ไม่ได้เป็นสมาชิกกลุ่ม BRICS เช่นกัน
แต่ทว่าภายใต้การเกิดขึ้นของธนาคารแห่งนี้ กลับมีเงาทะมึนของธนาคารเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน AIIB ภายใต้แรงผลักดันจากปักกิ่งที่มีความต้องการให้สถาบันการเงินแห่งนี้คานอำนาจกับเวิลด์แบงก์และ IMF เหมือนกับที่ธนาคารกลุ่ม BRICS ต้องการ
และภายใต้การจัดตั้งที่เร็วอย่างก้าวกระโดดของจีน ทำให้ธนาคารแห่งนี้มีสมาชิกจาก 5 ทวีป 57 ชาติเข้าร่วม โดยมีไทยรวมอยู่ในนั้น และที่สำคัญยังรวมไปถึง 4 ชาติหลักจากกลุ่ม BRICS คือ อินเดีย จีน บราซิล และโดยเฉพาะรัสเซีย ที่ดูเหมือนจำยอมต้องลงนามในวินาทีท้ายที่สุดก่อนหมดเส้นตายจากการรายงานของรอยเตอร์ในวันพุธ(8) ในรายงาน “เหตุใดการหันมาจับมือกับปักกิ่งของรัสเซียจึงเป็นเพียงแค่ภาพลวงตา”
RT รายงานต่อว่า เป้าหมายของการก่อตั้งธนาคาร AIIB แท้จริงแล้วเพื่อสนับสนุนโครงการซิลค์โร๊ดของจีนในการขยายขอบเขตทางการค้าออกไป โดยมีเป้าหมายเพื่อให้เงินสนับสนุนการขยายโครงสร้างพื้นฐานในแถบเอเชียแปซิฟิก เป็นต้นว่า การตัดถนนใหม่ การเชื่อมต่อระบบทางรถไฟ และการสร้างสนามบินเพิ่มเติม ซึ่งในสัดส่วนผู้ถือหุ้น AIIB มีจีนโต้โผถืออยู่ราว 20.06 % อินเดีย 7.5 % และรัสเซียผู้ถือหุ้นใหญ่ในสัดส่วน 5.92 % เป็นลำดับที่ 3 ในเงินทุนเริ่มต้นที่ 50พันล้านดอลลาร์ และจะมีแผนเพิ่มทุนเป็น 100 พันล้านดอลลาร์ในภายหลัง
ทั้งนี้จากการวิเคราะห์ของสถาบันบรุคลิงส์ (Brooklings) ที่มีฐานอยู่ในวอชิงตันดีซี สหรัฐฯ เมื่อวานนี้(7)ชี้ว่า จีนนั้นหันเหความสนใจในการมีส่วนร่วมผลักดันการก่อตั้งของ NDB แต่กลับให้ความใส่ใจใน AIIB มากกว่าในความเห็นของบรูซ โจนส์ (Bruce Jones) รักษาการรองประธานและผู้อำนวยการของนโยบายต่างประเทศว่า เป็นเพราะจีนพบว่าการผลักดันเพื่อขยายตัวของกลุ่ม BRICS นั้นเชื่องช้าเกินไปในสายตาของเจ้าสัวแดนมังกร และที่เลวร้ายไปกว่านั้น จีนไม่มีอำนาจอย่างเพียงพอในการออกเสียงภายในกลุ่ม BRICS
และนี่เองอาจเป็นสาเหตุทำให้จีนเริ่มต้นทุ่มความสนใจให้กับ AIIB เป็นอย่างมาก ซึ่งพบว่านอกจากจำนวนเงินทุนเริ่มต้นที่มีจำนวนไม่ต่างกันแล้วสำหรับทั้งในส่วนของ NDB และ AIIB แต่ยังพบว่าสำนักงานใหญ่ของสถาบันการเงินแห่งใหม่ทั้งสองแห่งยังตั้งอยู่ในจีน โดยธนาคารกลุ่ม BRICS ตั้งอยู่ที่เซียงไฮ้ ในขณะที่สำหนักงานใหญ่ของ AIIB อยู่ในกรุงปักกิ่ง
และที่สำคัญที่สุด ทั้ง 3 ประเทศใหญ่ที่ถือหุ้นในสัดส่วนสูงสุดของ AIIB กลับกลายเป็น 3 ประเทศสมาชิกจากกลุ่ม BRICS ในการก่อตั้งธนาคาร AIIB ที่ดูคล้ายกับว่า เป็นเสมือน NDB แห่งที่ 2 ภายใต้บังเหียนเอเชีย ที่กลับโตเป็นรูปเป็นร่างเมื่อเทียบกลับธนาคารกลุ่ม BRICS โดยมีการลงชื่อเข้าเป็นสมาชิกนั้นมีมากถึง 57 ประเทศ ซึ่งในส่วนของทางไทย ได้ส่งปลัดกระทรวงการคลังเป็นผู้ลงนาม และได้รับความสนใจจากทั่วโลกจากสื่อเมื่อเทียบกับ NDB
และทำให้ในขณะนี้รัสเซีย ที่ในขณะนี้เหมือนเสือลำบากจากการถูกคว่ำบาตรอย่างหนักจากทางโลกตะวันตกและญี่ปุ่น ต้องฝากความหวังไว้กับการเติบโตของ BRICS เพื่อหวังจะช่วยฟื้นเศรษฐกิจรัสเซียกลับมา
แต่อย่างไรก็ตาม ไม่เป็นที่น่าแปลกใจถึงการเป็นคู่แข่งระหว่างธนาคารกลุ่ม BRICS ของปูติน และAIIB ของประธานาธิบดีจีน สี จิ้นผิง เมื่อพบว่า มีรอยร้าวระหว่างรัสเซียและจีนปรากฏให้เห็นก่อนหน้านี้ ที่ถึงแม้คนภายนอกทั่วไปจะเข้าใจว่าทั้งจีนและรัสเซียต่างจับมืออย่างเหนียวแน่นเป็นมหามิตร เพราะประเทศทั้งสองมีอุดมการณ์ร่วมกัน ไม่ว่าจะเป็น นโยบายการเมืองต่อวอชิงตัน และอีกทั้งในอดีตรัสเซียมีการปกครองแบบลัทธิมาร์กซิสคอมมิวนิตมาก่อน
ซึ่งในการรายงานของรอยเตอร์ได้วิเคราะห์ถึง การจับมือของเสี่ยหมีปูตินกับปักกิ่งที่แต่แรกเริ่มดูเหมือนมีทิศทางที่แจ่มใส และดูคล้ายว่าทางรัสเซียสามารถค้นพบตลาดใหม่ในเอเชียทดแทนตลาดยุโรป หลังจากการคว่ำบาตรได้เริ่มต้นขึ้นในปีที่ผ่านมา โดยดูได้จากความร่วมมือในการลงทุนทางพลังงานร่วมกัน และอีกทั้งทั้งสองชาติยังประกาศความร่วมมือในทางการทหารหลังจากนั้น แต่ในเชิงปฎิบัติแล้ว จะเห็นได้ว่ามีความก้าวหน้าในเรื่องนี้น้อยมาก
ในรายงาน “เหตุใดการหันมาจับมือกับปักกิ่งของรัสเซียจึงเป็นเพียงแค่ภาพลวงตา” ระบุว่า หลังจากที่จีนก้าวเข้ามาให้ความช่วยเหลือบริษัทรัสเซียในด้านเทคโนโลยีแทนที่ชาติตะวันตกหลังจากถูกคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจแล้ว สถาบันการเงินของจีนได้กลายเป็นแหล่งการเงินหลักสำหรับธุรกิจในแดนหมีขาว
แต่รอยเตอร์กลับพบว่า หลังจาก 1 ปีผ่านไปนับตั้งแต่มีการร่วมมืออย่างใกล้ชิดในระดับทวิภาคี แต่แทบไม่มีความก้าวหน้าในโครงการที่ทั้งรัสเซียและจีนได้ทำร่วมกัน และซ้ำรายประเทศทั้งสองยัง “ทิ้ง” บางโครงการไปเสียเช่นนั้น
เมื่อเทียบกับอินเดีย ประเทศที่มีศักยภาพในทางเศรษฐกิจในเอเชีย และยังเป็นสมาชิกของกลุ่ม BRICS รวมไปถึงการเข้าถือหุ้นใน AIIB ของจีน โดยในทัศนะของโจนส์จากสถาบันบลุคลิงส์ชี้ว่า อินเดียให้ความสำคัญกับการร่วมมือในกลุ่ม BRICS และอีกทั้งยังให้ใจเครมลินมากกว่าที่จีนกระทำ
ซึ่งไม่เป็นที่น่าแปลกใจในความเห็นของโจนส์ในการอธิบายเพิ่มเติมว่า เพราะในอดีตที่ผ่านมารัสเซียยืนเคียงข้างฝั่งอินเดียมาโดยตลอดโดยเฉพาะในยามที่สหรัฐฯโอบอุ้มศัตรู “ปากีสถาน” และถึงแม้ นายกรัฐมนตรีอินเดีย นเรนทรา โมดี จะได้รับการต้อนรับจากประธานาธิบดีสหรัฐฯ บารัค โอบามา อย่างอบอุ่นที่ทำเนียบขาว และมีการกระชับความสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดในเวลาต่อมา แต่ในความเห็นของโจนส์ การหว่านล้อมทั้งหมดเพื่อหวังโดดเดี่ยวรัสเซียกลับไม่สำเร็จ
เพราะล่าสุดอินเดียได้ประกาศว่า อินเดียสนใจข้อตกลงในการเจรจาการค้าฟรีเทรดร่วมกับกลุ่มเขตเศรษฐกิจยูเรเชีย EEU ที่มีรัสเซียเป็นประเทศแกนกลาง และยังมีบทความสื่ออินเดียออกมาเผยแพร่รับการเยือนรัสเซียของโมดีว่า อินเดียจะได้ประโยชน์มหาศาลเพียงใดจากธนาคาร NDB
ในขณะที่จีน ซึ่งนอกจากจะรักษาระยะห่างมากกว่าโดยเฉพาะในเวทีประชาคมโลกในปัญหาการผนวกไครเมียที่เป็นสิ่งสำคัญสำหรับประธานาธิบดีปูติน ที่จีนเลือกที่จะงดออกเสียงในที่ประชุมคณะมนตรีความมั่นคงในสหประชาชาติมากกว่าที่จะหนุนหลังรัสเซียอย่างเต็มตัวด้วยการออกเสียงไม่เห็นชอบแล้ว ยังมีโครงการความร่วมมือที่ชะงักงันในส่วนพลังงานซึ่งถือเป็นอุตสาหกรรมที่สำคัญในการสร้างรายได้ให้กับรัสเซียเป็นอย่างมหาศาล
โดยรอยเตอร์อธิบายเพิ่มเติมว่า ทั้งบริษัทพลังงานรัสเซียและบริษัทพลังงานจีนต่างประสบปัญหาใหญ่ในการดำเนินงานตามแผนงานของตน ถึงแม้ทั้งคู่ได้เริ่มต้นโปรเจกต์การสร้างท่อส่งก๊าซตั้งแต่เดือนกันยายน 2014 ที่ผ่านมา
ทั้งนี้นักวิเคราะห์ด้านพลังงานได้แสดงความเห็นว่า ไม่มีความเป็นไปได้ว่าทางรัสเซียจะสามารถเริ่มส่งก๊าซในโปรเจกต์ท่อส่งก๊าซเส้นตะวันออกได้ก่อนปี 2018 ตามกำหนดเนื่องมาจากปัญหาความไม่ลงตัวในการชำระเงินล่วงหน้าจำนวน 25 พันล้านดอลลาร์ตามที่จีนได้ร้องขอในการก่อสร้างระบบท่อส่งก๊าซ
โดยในเดือนกันยายน 2014 เจ้าหน้าที่จากฝั่งบริษัทก๊าซปรอมได้เปรยว่า “ปัญหาในการชำระเงินนั้นยังแขวนอยู่ในอากาศ”
และที่ร้ายแรงไปกว่านี้ รัสเซียและจีนยังไม่สามารถตกลงได้ทั้งในส่วนของเส้นทางท่อส่งก๊าซที่แน่นอน ค่าใช้จ่ายการก่อสร้างระบบท่อส่ง และที่สำคัญที่สุดคือในปัญหาเรื่องราคาของก๊าซโปรเจกต์อัลไตตะวันตกของรัสเซีย
รอยเตอร์ยังชี้ว่านอกจากปัญหาด้านความร่วมมือพลังงานที่ทางปูตินหวังจะทดแทนรายได้ที่ขาดหายไปในช่วงการคว่ำบาตรที่ยืดเยื้อแล้ว รัสเซียยังเริ่มรู้สึกไม่สบอารมณ์เมื่อพบว่า จีนได้ถือโอกาสแผ่ขยายอิทธิพลทางการค้าไปยังเอเชียกลาง ซึ่งเคยอยู่ใต้อาณัติในสมัยอดีตสหภาพโซเวียต เป็นต้นว่า คาซัคสถาน ทาจิกิสถาน ซึ่ง Central ASIA Analysis ชี้ว่า เครมลินอาจใช้วิธีที่เคยใช้กับยูเครน เช่น การสนับสนุนให้ชนท้องถิ่นพูดภาษารัสเซียติดอาวุธ หรือ การใช้ฐานทัพย่อยที่ตั้งอยู่ในบริเวณนั้น เพื่อโจมตีผลประโยชน์ของจีนในกลุ่มประเทศสหภาพโซเวียตเก่า