xs
xsm
sm
md
lg

สองผู้นำสหรัฐฯ-คิวบา ประกาศฟื้นฟูความสัมพันธ์อย่างเป็นทางการ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

 ประธานาธิบดีบารัค โอบามา แห่งสหรัฐฯ แถลงที่สวนกุหลาบภายในทำเนียบขาวว่าสหรัฐฯและคิวบาในวันพุธ(1ก.ค.) เห็นพ้องกันอย่างเป็นทางการต่อการฟื้นฟูความสัมพันธ์ทางการทูตที่ขาดสะบั้นมานาน 54 ปี
รอยเตอร์ - สหรัฐฯ และคิวบาในวันพุธ (1 ก.ค.) เห็นพ้องกันอย่างเป็นทางการต่อการฟื้นฟูความสัมพันธ์ทางการทูตที่ขาดสะบั้นมานาน 54 ปี เติมเต็มคำสัญญาระหว่างอดีตสองศัตรูยุคสงครามเย็นที่ให้ไว้เมื่อ 6 เดือนก่อน

ประธานาธิบดีบารัค โอบามาแห่งสหรัฐฯ และราอูล คาสโตร ประธานาธิบดีคิวบา เห็นพ้องในหนังสือแลกเปลี่ยน กลับมาเปิดสถานทูตในเมืองหลวงของแต่ละประเทศอีกครั้ง โดยทางคิวบาบอกว่าน่าจะเกิดขึ้นเร็วที่สุดวันที่ 20 กรกฎาคม “นี่คือก้าวย่างประวัติศาสตร์ในความพยายามคืนความสัมพันธ์อันปกติกับรัฐบาลและประชาชนชาวคิวบา และเริ่มต้นปฐมบทใหม่กับเหล่าชาติเพื่อนบ้านของเราในทวีปอเมริกา” โอบามากล่าวที่สวนกุหลาบภายในทำเนียบขาว

นายจอห์น เคร์รี รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ ให้สัมภาษณ์ที่กรุงเวียนนา ประเทศออสเตรีย ว่าเขาจะเดินทางเยือนกรุงฮาวานา ในช่วงฤดูร้อนนี้ เพื่อชักธงชาติสหรัฐฯขึ้นสู่ยอดเสานอกสถานทูตอเมริกา ขณะที่ปัจจุบันผลประโยชน์ของสหรัฐฯ ในคิวบา อยู่ภายใต้การพิทักษ์ดูแลของรัฐบาลสวิตเซอร์แลนด์

โอบามาและคาสโตร แสวงหาหนทางยุติความเป็นปรปักษ์ต่อระหว่างสองชาติที่ยืดเยื้อมานานกว่า 56 ปี ที่เกิดขึ้นตั้งแต่ฝ่ายกบฏของฟิเดล คาสโตร พี่ชายของราอูล โค่นล้มรัฐบาลของนายฟุลเคนเซียว บาติสตา ที่ได้รับการสนับสนุนจากสหรัฐฯ ในวันที่ 1 มกราคม 1959 “คิวบาสนับสนุนความมุ่งมั่นตั้งใจพัฒนาความเคารพที่มีต่อกัน และความสัมพันธ์ด้านความร่วมมือระหว่างประชาชนและรัฐบาลของทั้งสองชาติ” คาสโตรระบุในหนังสือแลกเปลี่ยน

ข้อตกลงคิวบาถือเป็นความสำเร็จครั้งสำคัญของประธานาธิบดีโอบามา ซึ่งถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักเกี่ยวกับความล้มเหลวในด้านนโยบายต่างประเทศ โดยเฉพาะในตะวันออกกลาง นอกจากนี้มันยังเกิดขึ้นตามหลังชัยชนะครั้งสำคัญของเขาในสภาคองเกรสในศึกต่อสู้เพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจฟาสต์แทร็ค ที่ให้อำนาจพิเศษแก่ผู้นำรายนี้ในการเจรจาข้อตกลงการค้าแปซิฟิกแบบเร่งด่วน เช่นเดียวกับข้อตกลงนิวเคลียร์อิหร่านที่ใกล้สู่จุดลงเอยแล้ว

หลังการเจรจาอย่างลับๆยาวนาน 18 เดือนที่มีโป๊ปฟราสซิสและแคนาดาเป็นคนกลาง ทั้งสองผู้นำก็แถลงแยกกันแต่ในเวลาไล่เลี่ยกันในเดือนธันวาคมปีก่อน ว่ามีแผนกลับมาเปิดสถานทูตที่เมืองหลวงของแต่ละฝ่ายอีกครั้งและคืนสัมพันธ์อันดี ซึ่งข้อตกลงดังกล่าวรวมไปถึงการแลกเปลี่ยนนักโทษด้วย

อย่างไรก็ตาม ในขณะที่สองฝ่ายฟื้นฟูสัมพันธ์ทางการทูตแล้ว แต่สหรัฐฯ และคิวบา ยังต้องเผชิญปัญหาทวิภาวีที่ยุ่งยากกว่านั้น ด้วยรัฐบาลคอมมิวนิสต์คิวบาระบุในถ้อยแถลงว่าความสัมพันธ์ทั้งหมดจะคืนสู่ภาวะปกติก็ต่อเมื่ออเมริกายอมยกเลิกมาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจต่อคิวบา และส่งฐานทัพบนอ่าวกวนตานาโมคืนแก่พวกเขา ทั้งนี้สหรัฐฯบีบทำข้อตกลงเช่าพื้นที่บนอ่าวกวนตานาโมจากรัฐบาลคิวบามาตั้งแต่ปี 1903 ซึ่งฮานาวามองพื้นที่ 116 ตารางกิโลเมตรแห่งนี้ในฐานะดินแดนอธิปไตยของพวกเขา

โอบามา จากพรรคเดโมแคต ร้องขอสภาครองเกสที่รีพับลิกันกุมเสียงข้างมาก ให้ยกเลิกมาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจต่อคิวบาที่บังคับใช้มานานกว่า 53 ปี แต่ถูกขัดขืนจากเหล่าแกนนำหัวอนุรักษ์นิยม

2 ปีหลังจากฟิเดล คาสโตร ก้าวขึ้นสู่อำนาจ ประธานาธิบดีดไวท์ ไอเซนฮาวร์ ได้สั่งปิดสถานทูตสหรัฐฯในกรุงฮาวานา เมื่อวันที่ 3 มกราคม 1961 หรือราว 3 สัปดาห์ ก่อนหน้าที่จอห์น เอฟ เคนเนดี ที่ได้รับเลือกเป็นประธานาธิบดีจะเข้าสู่ตำแหน่ง จากนั้นในเดือนเมษายนปีเดียวกัน เคนเนดี ก็ให้อำนาจสหรัฐฯบุกคิวบาโดยสนับสนุนกองทัพพลัดถิ่นคิวบา แต่การโจมตีอ่าวหมูล้มเหลว แถมยังเป็นการเพิ่มความเข้มแข็งแก่คาสโตรทั้งในประเทศและต่างแดน

ในเดือนตุลาคม 1962 วอชิงตันและมอสโก เฉียดเข้าใกล้สงครามนิวเคลียร์ จากกรณีโซเวียตประจำการขีปนาวุธในคิวบา ทั้งนี้แม้ถูกต่อต้านจากเพื่อนบ้านที่อยู่ห่างออกไปแค่ 145 กิโลเมตรมาตลอดหลายสิบปี แต่ ฟิเดล คาสโตร วัย 88 ปีสามารถยึดโยงอยู่ในอำนาจจนถึงปี 2008 ก่อนส่งมอบแก่ ราอูล คาสโตร น้องชายของเขา ที่มีอายุ 84 ปี


กำลังโหลดความคิดเห็น