xs
xsm
sm
md
lg

Focus : หลังกรีซฟุบผิดนัดชำระหนี้ IMF ฝันร้ายยังไม่หยุด ไทม์ชี้ “มาตรการควบคุมเงินทุน” ทุบการท่องเที่ยวกรีซให้ติดลบ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


เอเจนซีส์ – หลังจากพ้นเส้นตายกำหนดชำระหนี้ IMF จำนวน 1.6 พันล้านซึ่งล่าสุด IMF ซึ่งล่าสุด IMF ออกแถลงการณ์แจง รัฐบาลกรีซติดต่อขอยืดอายุกำหนดการชำระออกไป และในช่วงระหว่างมาตรการควบคุมเงินทุน และการปิดตลาดหลักทรัพย์ และรวมไปถึงธนาคารทั่วประเทศเป็นเวลาราว 1 สัปดาห์ ล่าสุด สื่อไทม์ได้ออกรายงานจากข้อเขียนของเจย์ แอล ซากอร์สกี (Jay L. Zagorsky)ให้ความเห็น เหตุใดมาตรการควบคุมเงินจึงเป็นผลร้ายมากกว่าดีในสภาวะวิกฤตหนี้กรีซ

ไทม์รายงานเมื่อวานนี้(30 มิถุนายน) ถึงสถานการณ์ประชาชนกรีกที่ต้องตกในสภาพกลืนไม่เข้าคายไม่ออก เมื่อต้องพบกับมาตรการควบคุมเงินทุนเป็นครั้งที่ 2 รวมไปถึงการสั่งปิดระบบธนาคารทั่วประเทศเป็นเวลาราว 1 สัปดาห์ในวันที่ 29 มิถุนายน หลังจากผู้คนต่างแห่ไปถอนเงินสดออกจากตู้ ATM ก่อนหน้านี้ หลังเกรงว่าการผิดนัดชำระหนี้ IMF ที่ผ่านไปนั้นกรีซจะไม่สามารถหาเงินมาชำระได้ตามกำหนด และทางธนาคารกลางยุโรป ECB ไม่ปั้มเงินช่วยเหลือฉุกเฉิน ELA เข้าอุ้มระบบธนาคารกรีซอีกต่อไป

และแน่นอนที่สุดในสภาพเช่นนี้ เกิดคำถามขึ้นว่า ในหมู่ผู้มีอันจะกินซึ่งยังคงมีเงินฝากในระบบธนาคารในดินแดนเฮลเลนิสติกแห่งนี้ จะต้องดำรงชีพอยู่เช่นใดในสถานการณ์ที่สามารถถอนเงินสดออกจากธนาคารได้เพียงวันละ 60 ยูโรเช่นนั้น

และที่สำคัญที่สุดสำหรับอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวกรีซซึ่งถือเป็นหนึ่งในรายได้หลักเข้าประเทศ มาตรการควบคุมการเงินที่ออกมาบังคับใช้ล่าสุด ส่งผลทำให้ชาวต่างชาตินักท่องเที่ยวต้องพกเงินสดสกุลยูโรหรือดอลลาร์ไปเองในระหว่างเดินทางในดินแดนมากเกาะเช่นนี้ หรือไม่เช่นนั้นบรรดานักท่องเที่ยวต่างต้องเพียรพยายามหาตู้ ATM ที่ใช้สำหรับนักท่องเที่ยวต่างชาติโดยเฉพาะ ซึ่งจะไม่ถูกจัดภายใต้มาตรการควบคุมการเงินของกรีซ

แต่ทว่าไทม์ชี้ว่า ในสถานการณ์ที่สับสนอลหม่านเช่นนี้ นักท่องเที่ยวซึ่งมีเงินการท่องเที่ยวจำกัดนั้นประสบปัญหาอย่างมากในการหาตู้ ATM ที่มีเงินบรรจุอยู่ภายใน ซึ่งก่อนหน้านั้นมีรายงานว่า มีเพียงแค่ 40% ของตู้ATMทั่วประเทศเท่านั้นที่ยังพอมีเงินสกุลยูโรหลงเหลืออยู่

และที่แย่ไปกว่านั้น สำหรับในมาตรการควบคุมเงินทุนตามทัศนะของไทม์ รัฐบาลกรีซได้กำหนดห้ามการเคลื่อนย้ายเม็ดเงินออกนอกประเทศ ยกเว้นแต่ได้รับอนุญาตจากกระทรวงการคลังกรีซก่อน

และแน่นอนที่สุด มาจนถึงวินาทีนี้ยังไม่มีใครทราบถึงผลกระทบวิกฤตการเงินต่อกรีซ และต่อทั้งโลก แต่กระนั้นในทัศนะของไทม์ ชี้ว่า ก่อนที่กรีซจะเข้าร่วมกับสหภาพยุโรป กรีซได้เคยประสบปัญหาวิกฤตการเงินอย่างรุนแรงจยถึงขั้นต้องใช้มาตรการควบคุมการเงิน และห้ามการเคลื่อนย้ายเงินออกนอกประเทศมาแล้ว และจากเหตุการณ์ในอดีตทำให้เจย์ แอล ซากอร์สกี (Jay L. Zagorsky)คอลัมนิสของไทม์ชี้ว่า ผลกระทบการใช้มาตรการควบคุมเงินทุนนี้จะต้องเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องในระยะยาวอย่างแน่นอน

ซากอร์สกีได้มีโอกาสมาเยือนกรีซในช่วงกลางปียุค 80 ซึ่งประจวบเหมาะเป็นเวลาที่รัฐบาลกรีซกำหนดใช้มาตรการควบคุมเงินทุนอย่างเข้มงวด การซื้อขายแลกเปลี่ยนเงินตรานอกระบบธนาคารถือเป็นสิ่งผิดกฎหมาย เป็นต้น

และเป็นที่น่าสนใจว่า รัฐบาลต่างๆในโลกนี้มักออกมาตรการเหล่านี้เพื่อสามารถควบคุมธุรกรรมที่ผิดกฎหมาย หลีกเลี่ยงภาษีในระบบแลกเปลี่ยนเงินตราระหว่างประเทศ ซึ่งการหลบเลี่ยงภาษีเกิดขึ้นอย่างแน่ชัดจากการที่อัตราแลกเปลี่ยนเงินตราระหว่างประเทศอย่างเป็นทางการนั้นแตกต่างโดยสิ้นเชิงจากอัตราแลกเปลี่ยนในระบบตลาดอัตราแบบลอยตัว เช่น อาร์เจนตินา โดยซากอร์สกีอธิบายว่า เรตอัตราแลกเปลี่ยนดอลลาร์ในตลาดมืดนั้นต่างราวฟ้ากับดินกับอัตราที่ทางรัฐบาลอาร์เจนตินากำหนดไว้

ซากอร์สกีได้ยกประสบการณ์ตรงของเขาในการใช้ชีวิตเป็ยเวลา 10 วันในกรีซในช่วงยุค 80 ซึ่งก่อนการเดินทางเขาไม่มีปัญหาในการแลกเปลี่ยนสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐฯเป็นสกุลเงินเก่าของกรีซ “แดรชมาส์กรีก” ในขณะนั้น เป็นช่วงเวลาก่อนที่กรีซจะเข้าร่วมกับสหภาพยุโรป และหันมาใช้สกุลเงินยูโรอันแข็งแกร่งแทน

ซึ่งในช่วงเวลาที่แสนวิเศษในกรีซ ซากอร์สกีได้เดินทางไปเยือนวิหารอันเลื่องชื่อหลายแห่งในประเทศ เช่น วิหารพาร์เธนอน รวมไปถึงได้ลองลิ้มอาหารพื้นเมืองลือรสเลื่องชื่อของกรีซ และวันสุดท้ายของทริปซึ่งตรงกับวันกลางสัปดาห์นั้น คอลัมนิสไทม์ผู้นี้อยู่ในกรุงเอเธนส์ และได้ซื้อตั๋วโดยสารเรือเฟอร์รีเพื่อเดินทางต่อไปอีกประเทศหนึ่งเรียบร้อยแล้ว

ซากอร์สกีกล่าวว่า เขาตื่นเช้าในโรงแรมที่พัก และชำระค่าใช้จ่ายทั้งหมด และทำให้เงินแดรชมาส์ในกระเป๋าสตางค์นั้นถูกใช้หมดเกลี้ยง ก่อนที่ชายผู้นี้ได้วางแผนที่จะไปยังธนาคารที่ใกล้ที่สุดในการแลกเปลี่ยนเงินท้องถิ่นเพิ่มเพื่อชำระบิลค่าซักรีดที่ซากอร์สกีได้ส่งซักไปเมื่อ 2 วันก่อนหน้านั้น และหลังจากนั้นนักเขียนไทม์คาดว่าจะมุ่งหน้าไปยังท่าเรือเพื่อหาอาหารรองท้องก่อนออกเดินทางไปยังประเทศอื่นตามกำหนด

แต่ทว่า นักเขียนไทม์ระบุว่า มีสิ่งมหัศจรรย์เกิดขึ้นเมื่อเขาโผล่หน้าออกไปยังท้องถนนที่เคยพลุกพล่าน แต่กลับเงียบสงัดไร้สิ่งมีชีวิต ร้านค้าปิดตัว รวมไปถึงธนาคารอันเป็นเป้าหมายของซากอร์สกีในวันพุธกลางสัปดาห์นั้น ซึ่ง ชายผู้นี้จำได้แม่นยำว่า เป็นวันที่ 1 พฤษภาคม ซึ่งเป็นวันเมย์เดย์ หรือวันกรรมกรโลก และในไม่ช้าถนนที่เคยโล่งต่างกลับพลุกพล่านไปด้วยผู้ประท้วงชาวกรีกที่ส่งเสียงร้องประกาศข้อเรียกร้องออกไป

แต่ช่างโชคดีสำหรับซากอร์สกีที่ร้านรับซักแห้งของเขาเปิดทำการในวันนั้น แต่ยังคงเป็นข่าวร้ายของนักเขียนผู้นี้ที่ในกระเป๋าสตางค์ซึ่งยังคงมีเงินสดดอลลาร์อยู่เป็นจำนวนมาก พร้อมกับเครดิตการ์ดอเมริกันเอ็กซเพรสที่สามรถรูดได้ทั่วโลก แต่อนิจากลับไม่มีสกุลเงินแดรชมาส์ของกรีซติดเลยซักฉบับ

เป็นที่น่าเศร้ามากกว่านี้จากเปิดเผยจากปากคำของเจ้าของร้านซักแห้งว่า หากเธอยอมรับการชำระเงินด้วยสกุลเงินดอลลาร์นั้น จะทำให้เธอถูกจับเข้าคุกแทนได้เนื่องจากเธอได้ฝ่าฝืนมาตรการควบคุมเงินทุนของรัฐบาลกรีซเข้าให้แล้ว ซึ่งในที่สุดเจ้าของร้านซักแห้งแห่งนี้ใจดีเป็นที่สุด และเห็นใจในโชคชะตาและความพยายามที่จะชำระบิลค่าซักแห้งของนักท่องเที่ยวรายนี้ ด้วยการไม่คิดค่าใช้จ่ายกับซากอร์สกีแต่อย่างใดในครั้งนั้น พร้อมทั้งยังให้เหรียญสำหรับใช้กับระบบรถไฟฟ้าใต้ดินกรีซแก่นักท่องเที่ยวผู้อับโชค เพื่อที่จะนำเขาไปยังท่าเรือได้สำเร็จ

และผลจากมาตรการควบคุมเงินทุนของกรีซในครั้งนั้นส่งผลทำให้ซากอร์สกี ที่อยู่ในกรีซในฐานะนักท่องเที่ยวต้องประสบปัญหาในการใช้เงิน และยังขยาดที่จะกลับไปเยือนกรีซอีกครั้ง

และทำให้เขาได้ตั้งคำถามกับบรรดานักการเมืองกรีซทั้งหลายในขณะนี้ว่า มาตรการทางการเงินที่ได้ประกาศใช้ในขณะนี้สามารถต่อชีวิตระบบการธนาคารของกรีซที่เกือบล้มละลายได้จริงหรือ

เพราะในความเห็นของซากอร์สกีแล้ว การควบคุมระบบการแลกเปลี่ยนตราจะส่งผลร้ายต่อการท่องเที่ยวกรีซอย่างมหันต์ ซึ่งอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวมีส่วนแบ่งในการค่าจีดีพีของกรีซถึง 16 % และอีกทั้งมาตรการควบคุมการเงินนี้จะไม่ช่วยระบบการธนาคารมากนัก เพราะประชาชนกรีซต่างหมดความเชื่อมั่นไปแล้วว่าจะสามารถทำธุรกรรมบัญชีเงินฝากของพวกเขาได้ตามปกติ

การลดศักยภาพการท่องเที่ยวอันแข็งแกร่งของตนเองลง และอีกทั้งไม่ยอมฟื้นความเชื่อมั่นของระบบธนาคารกรีซที่ง่อนแง่น เพราะซากอร์สกีเชื่อมั่นว่า การฟื้นกลับมาของเศรษฐกิจประเทศอีกครั้งจะยาวนานกว่า หลังจากวิกฤตหนี้สินกรีซได้จบสิ้นลงไปแล้วอย่างแน่นอน เพราะในความคิดของนักเขียนไทม์ผู้นี้ มาตรการควบคุมการเงินนั้นเป็นแค่ “พลาสเตอร์ปิดแผล เพื่อรอให้แผลติดเชื้อกลัดหนองนั้นบ่มเพาะให้ลุกลามในระยะยาว”
















กำลังโหลดความคิดเห็น