รอยเตอร์ – ผลสำรวจความคิดเห็นล่าสุดวันนี้ (1 ก.ค.) เผย ประชาชนชาวกรีซส่วนใหญ่จะโหวต “โน” ไม่เอาแผนปฏิรูปรับเงินช่วยเหลือจากองค์กรเจ้าหนี้ ในการทำประชามติวันอาทิตย์ที่จะถึงนี้ (5 ก.ค.) แต่กระแสเริ่มแผ่วลงมา โดยมีคะแนนนำฝ่ายที่จะโหวต “เยส” อยู่เพียงเฉียดฉิว ภายหลังรัฐบาลเอเธนส์ประกาศมาตรการควบคุมเงินทุนและสั่งปิดธนาคาร
ผลสำรวจซึ่งจัดทำขึ้นระหว่างวันที่ 28-30 มิ.ย. และเผยแพร่ทางหนังสือพิมพ์ Efimerida ton Syntakton พบว่า ชาวกรีซ 54% ที่จะออกไปใช้สิทธิ์ลงประชามติในวันอาทิตย์นี้ ไม่เห็นด้วยกับการยอมรับเงื่อนไขปฏิรูปที่สหภาพยุโรปและกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) เสนอมา ขณะที่อีก 33% คิดว่ากรีซควรกัดฟันยอมรับเพื่อความอยู่รอด
อย่างไรก็ดี เมื่อเปรียบเทียบผลสำรวจในช่วงก่อนและหลังจากที่รัฐบาลกรีซได้ประกาศควบคุมเงินทุนและปิดสถาบันการเงินทั่วประเทศเมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา(28 มิ.ย.) พบว่าช่องว่างระหว่างกลุ่มที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วยเริ่มจะ “แคบลง”
ชาวกรีซ 57% ที่ตอบคำถามก่อนปิดธนาคาร ระบุว่าพวกเขาจะโหวต “โน” ในขณะที่ผู้โหวต “เยส” มีเพียง 30% เท่านั้น แต่หลังจากที่มีการปิดธนาคาร กลุ่มที่จะโหวต “โน” ลดลงมาเหลือ 46% แต่พวกที่คิดจะโหวต “เยส” กลับเพิ่มขึ้นเล็กน้อยเป็น 37%
ผลสำรวจยังพบด้วยว่า กลุ่มที่สนับสนุนให้โหวต “โน” มากที่สุดคือฐานเสียงของพรรครัฐบาลฝ่ายซ้ายไซรีซา (77%) พรรคขวาจัดโกลเดนดอว์น (80%) และพรรคคอมมิวนิสต์ เคเคอี (57%) ส่วนเสียงเชียร์โหวต “เยส” เข้มแข็งเป็นพิเศษในกลุ่มฐานเสียงของพรรคกลางขวาประชาธิปไตยใหม่ (65%) พรรคสายกลางโปรยุโรป โต โปตามี (68%) รวมถึงพรรคกลางซ้ายปาซ็อก (65%)
กระแสโหวต “โน” ค่อนข้างแรงในกลุ่มพลเมืองกรีซที่ว่างงาน (62%) และในภาพรวมของประชาชนทุกกลุ่มก็ยังพบว่ามีผู้จะโหวต “โน” มากกว่า “เยส” ไม่ว่าจะเป็นเจ้าของธุรกิจ ผู้ประกอบอาชีพอิสระ คนวัยเกษียณที่รับเงินบำนาญ พนักงานบริษัท และแม่บ้าน
หลังจากที่กลายเป็นชาติพัฒนาแล้วประเทศแรกในโลกที่ “ผิดนัดชำระหนี้” กับไอเอ็มเอฟ ล่าสุดวันนี้ (1 ก.ค.) รัฐบาลกรีซได้พยายามหันไปขอความช่วยเหลือจากหุ้นส่วนในยูโรโซนและธนาคารกลางแห่งยุโรป (อีซีบี) โดยยื่นข้อเสนอกับกลุ่มรัฐมนตรีต่างประเทศยูโรโซน (ยูโรกรุ๊ป) ว่าจะขอทำข้อตกลงเงินกู้ก้อนใหม่ในช่วงเวลา 2 ปี และขอปรับโครงสร้างหนี้ ซึ่งนายกรัฐมนตรี อเล็กซิส ซีปราส ของกรีซเองก็แบะท่าว่าอาจจะยอมยกเลิกแผนทำประชามติในวันอาทิตย์(5) หรือไม่ก็หนุนให้ประชาชนโหวต “เยส” หากการเจรจากับสหภาพยุโรปเป็นผลสำเร็จ