เอเจนซีส์ - กลุ่มติดอาวุธรัฐอิสลาม (ไอเอส) ออกมาประกาศอ้างความรับผิดชอบต่อเหตุกราดยิงสังหารหมู่ 39 ศพที่ริมชายหาดโรงแรมอิมพิเรียล มาร์ฮาบา ของตูนิเซียวันนี้ (27 มิ.ย.) ถือเป็นเหตุโจมตีครั้งเลวร้ายที่สุดในประวัติศาสตร์ยุคใหม่ของประเทศ ขณะที่รัฐบาลตูนิสสั่งปิดมัสยิด 80 แห่งฐานเผยแพร่แนวคิดสุดโต่ง
ยอดผู้เสียชีวิตจากเหตุคนร้ายปลอมตัวเป็นนักท่องเที่ยวซุกปืนในร่มบังแดด เข้าไปกราดยิงนักท่องเที่ยวบริเวณชายหาดของโรงแรมอิมพีเรียล มาร์ฮาบา เมื่อวันศุกร์ (26 มิ.ย.) เพิ่มเป็น 39 ศพ โดยมีชาวต่างประเทศ เช่น อังกฤษ เยอรมนี และเบลเยียม รวมอยู่ด้วย
คำแถลงที่ไอเอสเผยแพร่ผ่านสื่อทวิตเตอร์ระบุว่า มือปืนผู้ก่อเหตุคือ อบู ยะห์ยา อัล-ค็อยราวานี เป็น “ทหารแห่งรัฐคอลีฟะห์” ที่ต้องการกำจัดศัตรูของไอเอส และ “ซ่องโสเภณี” ที่ท่าเรือ พอร์ต เอล คันตาวี (Port el Kantaoui)
พวกเขาอ้างว่า คนที่ถูกฆ่าส่วนใหญ่ “เป็นคนของรัฐที่รวมตัวเป็นพันธมิตรครูเสดต่อสู้กับรัฐคอลีฟะห์” และการโจมตีครั้งนี้พุ่งเป้าไปที่ “แหล่งซ่องสุมของพวกโสเภณี... และพวกปฏิเสธศรัทธาในเมืองซูสส์ (Sousse)” แม้จะมีมาตรการความปลอดภัยแน่นหนาก็ตาม
ไอเอสยังเชิญชวนให้บรรดาแนวร่วมก่อเหตุโจมตีให้รุนแรงยิ่งขึ้นในช่วงเดือนรอมฎอน
เหตุสังหารหมู่ที่รีสอร์ตชื่อดังริมทะเลเมดิเตอร์เรเนียนซึ่งอยู่ห่างจากเมืองหลวงตูนิเซียไปทางใต้เพียง 140 กิโลเมตร ทำให้มีผู้เสียชีวิตรวม 39 รายและบาดเจ็บอีกเป็นจำนวนมาก ซึ่งถือเป็นการโจมตีนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เกิดขึ้นเป็นครั้งที่ 2 ในปีนี้ ถัดจากเหตุกราดยิงที่พิพิธภัณฑ์บาร์โดในกรุงตูนิสเมื่อเดือนมีนาคมที่คร่าชีวิตเหยื่อไป 22 ศพ และถูกอ้างความรับผิดชอบโดยกลุ่มไอเอสเช่นกัน
ปฏิบัติการโจมตีสุดเลือดเย็นนี้เกิดขึ้นในช่วงเดือนอันศักดิ์สิทธิ์ของชาวมุสลิม โดยในวันเดียวกันนั้นยังเกิดเหตุโจมตีโรงงานแห่งหนึ่งในฝรั่งเศส และพบศพไร้หัว 1 ร่างมีข้อความภาษาอาหรับเขียนกำกับไว้ นอกจากนี้ยังมีเหตุระเบิดฆ่าตัวตายที่มัสยิดในคูเวตที่คร่าชีวิตพลเรือนไปกว่า 20 คน
นายกรัฐมนตรีฮาบีบ เอสซิด แห่งตูนิเซีย ได้เปิดแถลงข่าวเมื่อวันนี้ (27) โดยระบุว่า ผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่เป็นพลเมืองอังกฤษ รองลงมาได้แก่ชาวเยอรมันและชาวเบลเยียม ทั้งยังมีคำสั่งปิดมัสยิด 80 แห่งทั่วประเทศที่ยังอยู่นอกเหนือการควบคุมของรัฐบาลภายใน 1 สัปดาห์ โทษฐานเผยแพร่แนวคิดหัวรุนแรง
ตูนิเซียเริ่มเผชิญภัยคุกคามจากอิสลามิสต์หนักข้อขึ้นเรื่อยๆ หลังเกิดการปฏิวัติโค่นอดีตประธานาธิบดีเผด็จการ ซีเน เอล อาบิดีน เบน อาลี เมื่อปี 2011 ซึ่งกลายเป็นจุดเริ่มต้นของกระแสปฏิวัติ “อาหรับสปริง” ในตะวันออกกลาง