เอเอฟพี - ชาวประมงนอกชายฝั่งออสเตรเลียจับฉลามบาสกิ้นตัวใหญ่ขนาด 6.3 เมตรได้โดยบังเอิญ โดยมีการส่งมอบให้กับนักวิทยาศาสตร์ ถือเป็นโอกาสสำคัญที่หาได้ยาก ในการศึกษาปลาพันธุ์นี้ที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลก
ปลาฉลามบาสกิ้นที่มีขนาดเป็นรองแค่ปลาฉลามวาฬ เป็นสายพันธุ์ที่มีคนรู้จักไม่มาก เนื่องจากมันไม่จำเป็นจะต้องขึ้นมาหายใจที่ผิวน้ำ มันจึงถูกพบไม่บ่อยนัก
ฉลามบาสกิ้นตัวนี้จะถูกส่งมอบให้กับพิพิธภัณฑ์วิคตอเรีย ในเมืองเมลเบิร์น ทางตอนใต้ของประเทศ ซึ่งนักวิทยาศาสตร์จะใช้ตัวอย่างเนื้อเยื่อของมัน รวมถึงชิ้นส่วนของกระเพาะและกระดูกสันหลัง เพื่อทำการวิจัยด้านพันธุศาสตร์ ประวัติการกินอาหารและการใช้ชีวิต ส่วนหัวกับส่วนครีบจะถูกใช้สร้างโมเดลจัดแสดงขนาดเท่าตัวจริงของฉลามบาสกิ้นตัวนี้
พิพิธภัณฑ์วิคตอเรีย ระบุว่า ฉลามสายพันธุ์นี้เป็นที่รู้จักในฝั่งเหนือ แต่สำหรับประชาชนทางใต้ไม่ค่อยรู้จักมันมากนัก ทางพิพิธภัณฑ์เองก็เคยเจอกับสายพันธุ์นี้เพียงแค่ 3 ครั้งเท่านั้น ตลอดช่วง 160 ปีที่ผ่านมา
ฉลามบาสกิ้นเป็นปลาที่เคลื่อนไหวช้า กินแพลงก์ตอนเป็นอาหาร สามารถโตได้ถึง 12 เมตร ต่างจากฉลามสายพันธุ์อื่นตรงที่มีขนาดของฟันเล็กมาก เพียงแค่ซี่ละ 2 มิลลิเมตร แต่มีปากขนาดใหญ่
ฉลามบาสกิ้นตัวนี้ ถูกจับได้โดยบังเอิญโดยเรือลากอวนของชาวประมง บริเวณช่องแคบบาสส์ นอกชายฝั่งทางตะวันออกเฉียงใต้ของแผ่นดินใหญ่