xs
xsm
sm
md
lg

เพนตากอนชี้ “จีน” ทุ่มสุดตัวหวังอวดแสนยานุภาพเทียบชั้นสหรัฐฯ ทั้งด้าน “การบิน-อวกาศ”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

โรเบิร์ต เวิร์ค รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ
รอยเตอร์ - รัฐบาลจีนพยายามอย่างยิ่งยวดที่จะยกระดับแสนยานุภาพทางด้านการบินและอวกาศให้เทียบชั้นกับสหรัฐฯ ซึ่งทำให้เพนตากอนจำเป็นที่จะต้องพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ๆ ให้แซงหน้าอยู่ตลอดเวลา รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ แถลงเมื่อวานนี้ (22 มิ.ย.)

ในการปาฐกถาต่อกลุ่มผู้เชี่ยวชาญด้านอวกาศทั้งฝ่ายทหารและพลเรือน โรเบิร์ต เวิร์ก รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ ชี้ว่า “จีนกำลังเร่งอุดช่องโหว่ด้านเทคโนโลยี” โดยมีการพัฒนาอากาศยานหลบหลีกเรดาร์ เครื่องบินสอดแนมประสิทธิภาพสูง ระบบขีปนาวุธที่ซับซ้อน และเครื่องมือทำสงครามอิเล็กทรอนิกส์ขั้นสุดยอด

แม้สหรัฐฯ จะปรารถนาความสัมพันธ์ในเชิงสร้างสรรค์กับจีน แต่เพนตากอน “ไม่อาจมองข้ามแง่มุมด้านการแข่งขัน โดยเฉพาะศักยภาพทางทหาร ซึ่งจีนกำลังก้าวหน้าไปอย่างรวดเร็วจนน่าทึ่ง”

เวิร์กได้ไปร่วมงานเสวนาเปิดตัวความริเริ่มการศึกษาด้านโครงการอวกาศจีน (China Aerospace Studies Initiative) ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างกองทัพอากาศสหรัฐฯ และสถาบันวิจัย แรนด์ คอร์ปอเรชัน (RAND Corporation) เพื่อมุ่งส่งเสริมงานวิจัยเกี่ยวกับการพัฒนาด้านอวกาศของแดนมังกร

งานเสวนาดังกล่าวจัดขึ้นในเวลาเดียวกับที่จีนได้ส่งเจ้าหน้าที่มาร่วมประชุมเชิงยุทธศาสตร์และเศรษฐกิจกับสหรัฐฯ (US-China Strategic and Economic Dialogue) ที่กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. เป็นเวลา 3 วัน เพื่อหารือในประเด็นความร่วมมือต่างๆ ตลอดจนข้อพิพาท

เวิร์กระบุว่า ผู้นำสหรัฐฯ และจีนต่างเล็งเห็นว่าความสัมพันธ์ทวิภาคีมีทั้งในส่วนของ “มาตรการความร่วมมือ และมาตรการด้านการแข่งขัน”

“เราหวังว่าต่อไปในอนาคต ความร่วมมือจะมีมากกว่าการแข่งขัน... แต่ในฐานะที่เป็นกระทรวงกลาโหม เราคือรั้วป้องกันชาติ ดังนั้น... เราจำเป็นต้องเตือนว่า ดูสิ จีนกำลังเร่งพัฒนาขีดความสามารถเหล่านี้ และสหรัฐฯ ก็ควรจะต้องรับมือได้”

เวิร์กยังได้อ้างถึงงานวิจัยของมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดที่ว่าด้วยมหาอำนาจใหม่ท้าทายขั้วอำนาจเก่า และชี้ว่าการปฏิสัมพันธ์ระหว่างมหาอำนาจทั้งสองขั้วนี้มักจะนำมาสู่ “สงคราม” เสมอ ดังนั้น กระทรวงกลาโหมจึงมีหน้าที่ต้อง “ป้องกันมิให้การแข่งขันระหว่างประเทศดุเดือดเกินไป”

ในส่วนของสหรัฐฯ เองมองว่า วิธีป้องกันที่ดีที่สุดคือการพัฒนาระบบป้องกันขีปนาวุธทั้งแบบหัวรบธรรมดา และหัวรบนิวเคลียร์ให้มีประสิทธิภาพเหนือกว่าคู่แข่งทุกประเทศ

เวิร์กชี้ว่า ในช่วง 25 ปีที่ผ่านมา สหรัฐฯ สามารถวางใจได้ว่ามีเทคโนโลยีที่ก้าวไกลกว่าทุกชาติ แต่เวลานี้ “ขอบเขตการทิ้งห่างคู่แข่งซึ่งสหรัฐฯ เคยเชื่อมั่นมาโดยตลอด... กำลังถูกกัดเซาะลงไปเรื่อยๆ”

ด้วยเหตุนี้ เพนตากอนจึงมุ่งมั่นคิดค้นเทคโนโลยีใหม่ๆ เพื่อรักษาความเข้มแข็งของสหรัฐฯ ไว้ ตลอดจนหาวิธีลดต้นทุนในการตอบสนองภัยคุกคาม ตัวอย่างเช่น การพัฒนาอาวุธพลังงานตรง (directed energy weapon) ซึ่งสามารถยิงทำลายขีปนาวุธที่มีต้นทุนการผลิตสูงกว่าพลังงานเหล่านี้ถึง 100 เท่า เป็นต้น

กำลังโหลดความคิดเห็น