xs
xsm
sm
md
lg

‘สมุดปกขาว’ว่าด้วย ‘ยุทธศาสตร์การทหารของจีน’มุ่งเน้นเรื่องอะไรกันแน่?

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ซัลมัน ราฟี ไชค์

(เก็บความจากเอเชียไทมส์ www.atimes.com)

The missed nuances of China s military ‘White Paper’
By Salman Rafi Sheikh
09/06/2015

ประเทศจีนได้เผยแพร่เอกสาร “สมุดปกขาว” ว่าด้วยยุทธศาสตร์ทางการทหารของตนฉบับแรกเมื่อปลายเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา เป็นผลงานสะท้อนให้เห็นถึงการประเมินของฝ่ายจีน ต่อสถานการณ์ทางการทหารซึ่งกำลังมีการเปลี่ยนแปลงและกำลังเลวร้ายลงไปอย่างรวดเร็วในตลอดทั่วทั้งโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภูมิภาคตะวันออกกลาง และภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ตลอดจนข้อเสนอเรื่องวิธีการที่จีนสามารถกระทำได้เพื่อพิทักษ์ปกป้องผลประโยชน์อันสำคัญยิ่งยวดของตน

เมื่อวันที่ 26 พฤษภาคมที่ผ่านมา จีนได้เผยแพร่เอกสาร “สมุดปกขาว” (White Paper) ที่ให้ภาพสรุปเกี่ยวกับยุทธศาสตร์ทางการทหารของสาธารณรัฐประชาชน นับเป็นสมุดปกขาวพูดถึงเรื่องสำคัญนี้ซึ่งทางการจีนจัดทำนำออกมาสู่สายตาสาธารณชนเป็นฉบับแรก

ขณะที่เอกสารชิ้นนี้สร้างความแตกตื่นหวั่นไหวขึ้นมาในอินเดีย แต่เมื่ออ่านด้วยความพินิจพิเคราะห์แล้วก็กลับปรากฏว่ามันไม่ได้มุ่งเน้นหนักถือเอาอินเดียเป็นศูนย์กลางอย่างที่วิตกกัน ตรงกันข้าม สมุดปกขาวฉบับนี้กลับเป็นผลงานสะท้อนให้เห็นถึงสิ่งที่อาจเรียกขานว่าเป็น “การประเมินของฝ่ายจีน” ต่อสถานการณ์ทางการทหารซึ่งกำลังมีการเปลี่ยนแปลงและกำลังเลวร้ายลงไปอย่างรวดเร็วในตลอดทั่วทั้งโลก –โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภูมิภาคตะวันออกกลาง และภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก-- ตลอดจนข้อเสนอเรื่องวิธีการที่จีนสามารถกระทำได้เพื่อพิทักษ์ปกป้องผลประโยชน์อันสำคัญยิ่งยวดของตน เอกสารฉบับนี้ระบุอย่างชัดเจนถึง “แผนการใหญ่ด้านต่างๆ” ของสหรัฐฯมีต่อภูมิภาคเอเชีย และเน้นหนักอย่างแจ่มแจ้งถึงความจำเป็นที่จะต้องดำเนินการปฏิรูปการทหารของจีน โดยเฉพาะอย่างยิ่งทางด้านกองทัพเรือ

ด้วยเหตุนี้ เราจึงสามารถกล่าวได้ว่านโยบายที่สรุปเอาไว้ในสมุดปกขาวฉบับนี้ ก็คือการตอบโต้ของจีนต่อ “การปักหมุดในเอเชีย” ของสหรัฐฯ เอกสารชิ้นนี้กล่าวอ้างอิงอย่างเปิดเผยถึงยุทธศาสตร์นี้ซึ่งมีชื่อเรียกขานอีกชื่อหนึ่งว่า ยุทธศาสตร์ “การปรับสมดุลใหม่” (rebalancing) ตลอดจนความพยายามของวอชิงตันที่จะเพิ่มพูนส่งเสริมการปรากฏตัวทางการทหารในภูมิภาคนี้ อย่างไรก็ตาม สหรัฐฯไม่ได้เป็นเพียงชาติเดียวที่ถูกบรรยายว่าเป็นประเทศหลักซึ่ง “กำลังคุกคาม” ผลประโยชน์ต่างๆ ของฝ่ายจีน ยังมีญี่ปุ่น, ไต้หวัน, “พวกเพื่อนบ้านนอกชายฝั่ง”, “พวกประเทศภายนอก”, “ขบวนการแบ่งแยกดินแดน” ในหลายหลากภูมิภาค ก็ถูกพรรณนาว่าเป็นความท้าทายหลักๆ ที่จีนกำลังเผชิญอยู่ และเป็นความท้าทายสำคัญๆ ซึ่งแดนมังกรจะต้องเอาชนะให้ได้ เพื่อบรรลุสิ่งที่บทวิเคราะห์ชิ้นนี้เรียกว่า “ความฝันของชาวจีนในเการพลิกฟื้นชุบชีวิตประเทศชาติที่ยิ่งใหญ่ขึ้นมาใหม่” (the Chinese Dream of great national rejuvenation)

เมื่อพิจารณาจากจุดยืนหลักการทางด้านภูมิรัฐศาสตร์แล้ว ดูจะไม่ใช่เป็นเรื่องบังเอิญเลยที่มีการนำเอาสมุดปกขาวฉบับนี้ออกมาเผยแพร่ ในช่วงเวลาเดียวกับที่ประเทศจีนกำลังเริ่มให้ความสนใจอย่างจริงจังในเรื่องอย่างเช่น การเมืองภายในของประเทศอื่นๆ ถึงแม้ยังเป็นการให้ความสนใจอย่างจำกัดและมีความระมัดระวังตัวอยู่มาก ตัวอย่างที่เห็นได้อย่างชัดเจนในเรื่องนี้ ได้แก่ อัฟกานิสถาน ซึ่งจีนแสดงให้เห็นว่ามีความกระตือรือร้นทางการเมืองที่จะหาทางแก้ไขคลี่คลายการขัดแย้งสู้รบกันซึ่งยังคงดำเนินอยู่อย่างต่อเนื่องในประเทศนั้น ไม่เพียงเท่านั้น แดนมังกรยังแสดงการยอมรับพันธะผูกพันโดยการจัดส่งกองทหารของตนเข้าไปในทวีปแอฟริกา ด้วยวัตถุประสงค์เจาะจงที่จะแก้ไขคลี่คลายการสู้รบขัดแย้งกันในซูดาน ขณะที่จีนเคยส่งทหารไปเข้าร่วมภารกิจรักษาสันติภาพโดยอยู่ภายใต้การบังคับบัญชาของสหประชาชาติ แต่การตัดสินใจส่งทหารเข้าไปที่ซูดานคราวนี้ คือหลักหมายแสดงถึงการที่จีนได้ยกระดับเพิ่มความพยายามของตนขึ้นไปอย่างมากมาย เพื่อรับประกันความปลอดภัยของคนงานและทรัพย์สินต่างๆ ของตนในแอฟริกา พร้อมๆ กับที่รับประกันการที่พลังงานสำหรับการบริโภคภายในประเทศจีน จะยังคงมีหลั่งไหลเข้ามาอย่างสม่ำเสมอ

กล่าวโดยสรุป ยุทธศาสตร์การทหารของจีนนั้นไม่ควรที่จะนำมาวิเคราะห์พิจารณาแบบแยกส่วนโดดเดี่ยว หากแต่เราจะเข้าใจยุทธศาสตร์การทหารของแดนมังกรได้ ก็จะต้องทำการพิจารณาอย่างเต็มที่ภายในบริบทของนโยบายการต่างประเทศของจีน โดยมองให้เห็นว่ามันกำลังมีการวิวัฒนาการภายใต้แรงกดดันด้านภูมิรัฐศาสตร์จากนโยบายปักหมุดในเอเชียของสหรัฐฯ ตลอดจนมันกำลังมีการเปลี่ยนแปลงภายใต้ความจำกัดของจีนในเรื่องแหล่งที่มาของทรัพยากรอย่างไรบ้าง ทั้งนี้ในเรื่องหลังต้องโฟกัสเน้นหนักไปที่สภาวการณ์ซึ่งจีนต้องพึ่งพาอาศัยทรัพยากรนำเข้า โดยเฉพาะอย่างยิ่งน้ำมัน เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ โดยที่เป็นการนำเข้าจากภูมิภาคซึ่งวุ่นวายไร้ความสงบอย่างที่สุด อันได้แก่ แอฟริกา และตะวันออกกลาง

เอกสารสมุดปกขาวฉบับนี้กล่าวอธิบายแจกแจงอย่างชัดเจน ถึงการที่จีนมีอิทธิพลเพิ่มสูงขึ้นในเวทีโลก และผลประโยชน์ทางยุทธศาสตร์ก็ขยายตัวออกไปอย่างรวดเร็ว การที่ประเทศจีนจำเป็นต้องให้ความสำคัญลำดับแรกแก่แสนยานุภาพทางนาวี อย่างที่เอกสารชิ้นนี้ระบุเอาไว้อย่างแจ่มแจ้งนั้น เป็นสิ่งที่สามารถทำความเข้าใจได้ง่าย เมื่อเรานำมาพิจารณาภายในบริบทแห่งข้อเท็จจริงที่ว่า กว่า 80% ของน้ำมันนำเข้าของปักกิ่งนั้นต้องลำเลียงขนส่งผ่านจุดที่มีความแออัดคับคั่งที่สุดจุดหนึ่งของโลก ซึ่งก็คือ ช่องแคบมะละกา

นอกจากนั้น จีนยังกำลังเตรียมการเพื่อเพิ่มที่ยืนทางการเมือง-การทหารของตนทั้งในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกและในทั่วโลก เวลานี้โลกตระหนักรับรู้ถึงแสนยานุภาพทางเศรษฐกิจของจีนกันไปเรียบร้อยแล้ว ในทัศนะของฝ่ายจีนนั้น ขณะนี้ถึงเวลาแล้วที่โลกควรจะชื่นชมยอมรับแสนยานุภาพทางทหารของตนด้วยเช่นกัน สิ่งที่จีนกำลังกระทำอยู่ภายใต้สภาวการณ์ปัจจุบัน ก็คือการตอบสนองอย่างสมเหตุสมผลต่อความเปลี่ยนแปลงต่างๆ ซึ่งกำลังเกิดขึ้นในโลกนั่นเอง กล่าวตามความเป็นจริงแล้ว จีนจะอยู่ในภาวะทำลายตัวเองด้วยซ้ำหากยังพยายามที่จะทำตัวเหินห่างจากการเมืองระหว่างประเทศต่อไป หรือวางตัวแยกขาดอย่างถาวรจากการเมืองระหว่างประเทศเหมือนอย่างที่เคยกระทำเรื่อยมาจวบจนกระทั่งถึงเวลานี้ ทั้งนี้จนถึงระยะหลังๆ มานี้แหละ นโยบายการต่างประเทศของจีนมีแต่โฟกัสไปที่ดุลยภาพง่ายๆ ประการหนึ่งเท่านั้นเอง ดุลยภาพดังกล่าวนี้ก็คือ การที่แดนมังกรจะต้องสามารถเข้าถึงตลาดโลก (ทั้งตลาดการเงินและตลาดผู้บริโภค) ขณะเดียวกันก็จะต้องรับประกันให้นำมันและก๊าซสามารถไหลลื่นเข้ามาป้อนอุตสาหกรรมต่างๆ ของแดนมังกรได้อย่างไม่สะดุดติดขัด

ถึงแม้ตลาดผู้บริโภคทั้งหลายทั่วโลกต่างเปิดกว้างอ้าซ่ายินดีต้อนรับจีน ทว่าซัปพลายทรัพยากรต่างๆ ที่มาป้อนอุตสาหกรรมจีนภายในประเทศนี่แหละกำลังกลายเป็นปัญหาที่ต้องห่วงใยกันอย่างจริงจังของปักกิ่ง ระยะไม่กี่ปีหลังๆ มานี้ ความกังวลห่วงใยเกี่ยวกับเรื่องนี้ ซึ่งเป็นที่รู้จักเรียกขานกันในชื่อ “ภาวะกลืนไม่เข้าคลายไม่ออกเกี่ยวกับช่องแคบมะละกา” (Malacca Dilemma) [1] ของแดนมังกร ได้นำเอาความเปลี่ยนแปลง “ชนิดปฏิวัติ” มาสู่ทิศทางด้านนโยบายการต่างประเทศของจีน และมาสู่หลักการ “ไม่แทรกแซง” กิจการภายในของรัฐอื่น ที่จีนเคยยึดถืออย่างเหนียวแน่นมั่นคงมาในอดีต หลักการ “ไม่แทรกแซง” ที่มีประวัติศาสตร์อันยาวนานนี้ ได้ประสบกับ “การถูกละเมิด” เป็นครั้งแรกในปี 2013 เมื่อปักกิ่งส่งทหารจำนวน 170 คนไปยังมาลี เพื่อช่วยเหลือป้องกันไม่ให้ความวุ่นวายในประเทศนั้นแผ่ลามเข้าไปสู่พวกชาติเพื่อนบ้านที่อุดมสมบูรณ์ด้วยน้ำมันอย่าง แอลจีเรีย และ ลิเบีย --โดยที่ชาติเหล่านี้เป็นผู้ที่ซัปพลายทรัพยากรจำนวนมากมายให้แก่บริษัทของจีน อีก 1 ปีถัดมา ใน “การดำเนินการทางการทูตเชิงรุก” อีกคราวหนึ่ง จีนได้กระโจนเข้าไปในกระบวนการเจรจาสันติภาพของกลุ่มต่างๆ ซึ่งกำลังทำสงครามกันอยู่ในซูดานใต้ ไม่เพียงเท่านั้น ในเดือนธันวาคม 2014 จีนเสนอให้ความช่วยเหลือทางทหารแก่อิรักในรูปของการโจมตีทางอากาศเพื่อสู้รบกับกลุ่ม “รัฐอิสลาม” (Islamic State หรือ IS) เพียงแต่ว่าฝ่ายอิรักไม่รับข้อเสนอนี้ ในทำนองเดียวกันเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2014 จีนเสนอให้เงินแก่วอชิงตันเป็นจำนวนในเรือน 10 ล้านดอลลาร์ เพื่อใช้ช่วยเหลือผู้คนที่ต้องพลัดที่นาคาที่อยู่ มาถึงเวลานี้มันกลายเป็นความลับที่ทราบกันอย่างกว้างขวางไปเสียแล้วว่า จีนกำลังเข้าไปเกี่ยวข้อง “อย่างลึกซึ้ง” ในการคลี่คลายแก้ไขการขัดแย้งสู้รบกันในอัฟกานิสถาน ตามความเป็นจริง พวกผู้แทนของกลุ่มตอลิบานได้พบปะหารือกับพวกเจ้าหน้าที่จีนเมื่อเร็วๆ นี้ และแสดง “ความปรารถนา” ของพวกเขาที่จะให้จีนแสดงบทบาทสร้างสรรค์มากยิ่งขึ้นในการหาทางใช้วิธีการทางการเมืองเพื่อแก้ไขคลี่คลายสงครามในอัฟกานิสถาน ซึ่งกลายเป็นสงครามที่อเมริกาเกี่ยวข้องด้วยครั้งที่ยืดเยื้อยาวนานที่สุดในประวัติศาสตร์ของสหรัฐฯไปแล้ว ไม่เป็นที่น่าประหลาดใจอะไรเลย ในเมื่อได้มีการละเมิดหลักการ “ไม่แทรกแซง” หลายต่อหลายครั้งอย่างที่กล่าวมานี้ เอกสารสมุดปกขาวฉบับนี้จึงไม่ได้มีการอ้างอิงใดๆ เกี่ยวกับหลักการนี้ และกระทั่งไม่พาดพิงถึงหลักการที่มีชื่อเสียงมากของจีนที่มีชื่อว่า “หลัก 5 ประการแห่งการอยู่ร่วมกันโดยสันติ” (five principles of peaceful co-existence) [2] โดยที่เรื่องการไม่แทรกแซงกิจการภายในของรัฐอื่น คือ 1 ใน 5 หลักการดังกล่าว

จีนเป็นประเทศที่แต่ไหนแต่ไรมาก็ยึดมั่นอยู่กับทัศนะที่ว่า การแทรกแซงทางทหารที่นำโดยสหรัฐฯ ล้วนแต่เป็นแผนการเลวร้ายของฝ่ายตะวันตก เมื่อบังเกิดความเปลี่ยนแปลงเช่นนี้ขึ้นมา จึงสร้างความตื่นตะลึงอย่างสุดๆ ให้แก่ผู้คนจำนวนมากซึ่งเคยมองจีนมาอย่างยาวนานว่าเป็นรัฐ “ที่ไม่มีส่วนได้ส่วนเสียกับใคร” ในทางการเมือง อย่างไรก็ตาม ในเมื่อจีนมีดีมานด์ความต้องการน้ำมันและทรัพยากรอื่นๆ เพิ่มขึ้นอย่างพุ่งพรวดในรอบระยะไม่กี่ปีหลังๆ มานี้ ขณะที่ภูมิภาคซึ่งกำลังเป็นผู้ซัปพลายทรัพยากรต่างๆ เหล่านี้อย่างเป็นกอบเป็นกำ ก็ตกอยู่ในสภาพปั่นป่วนวุ่นวาย ด้วยเหตุฉะนี้ กระทั่งจีนเองก็ถูกบังคับให้ต้องดำเนินการปรับเปลี่ยนนโยบายไปด้วยตามความจำเป็น เพื่อให้มีหลักประกันว่าจะมีซัปพลายทรัพยากรต่างๆ หลั่งไหลเข้าสู่แดนมังกรอย่างไม่ขาดตอน

ดังนั้น เหตุผลของการที่ต้องมีทหารจีนเข้าไปอยู่ในทวีปแอฟริกา จึงได้ถูกระบุบ่งบอกเอาไว้อย่างชัดเจนในบริบทของสมุดปกขาววันที่ 26 พฤษภาคมฉบับนี้ เอกสารชิ้นนี้กล่าวย้ำอย่างแจ่มกระจ่างว่า นี่เป็นส่วนซึ่งทรงความสำคัญทางยุทธศาสตร์ส่วนหนึ่ง ในความพยายาม “เพื่อการพิทักษ์ป้องกันความมั่นคงแห่งผลประโยชน์ในโพ้นทะเลของประเทศจีน” เราอาจจะคาดหมายต่อไปได้ว่า ผลต่อเนื่องตามมาของเรื่องนี้ก็คือแนวความคิดในการใช้กำลังทหารจีนเพื่อ “ปกป้องรักษาสันติภาพของภูมิภาคและสันติภาพของโลก”

ถึงแม้เอกสารสมุดปกขาวฉบับนี้ถูกนำออกเผยแพร่อย่างเป็นทางการในปี 2015 ทว่าหลักการสำคัญๆ ของมันได้ถูกนำมาใช้ในทางปฏิบัติอย่างเต็มที่อยู่แล้วอย่างน้อยที่สุดก็ตั้งแต่ปี 2013 เป็นต้นมา ดังจะเห็นได้จากข้อเท็จจริงที่ว่า เหตุผลเฉพาะหน้าของการแสดงบทบาททางการเมืองเชิงรุกและการส่งทหารเข้าไปประจำในซูดาน ก็คือเรื่องผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจนั่นเอง ทั้งนี้ขอให้เราลองพิจารณาข้อเท็จจริงดังต่อไปนี้ : บรรษัทน้ำมันปิโตรเลียมแห่งชาติของจีน (National Petroleum Corp.) ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจของแดนมังกร เป็นผู้ถือหุ้นจำนวน 40% ในกิจการร่วมทุนที่เป็นผู้ดำเนินการแหล่งน้ำมันอันใหญ่โตกว้างขวางหลายๆ แห่งในซูดานใต้ กิจการร่วมทุนแห่งนี้ยังมีสายท่อส่งน้ำมันเพื่อการส่งออกความยาว 1,000 ไมล์ (1,600 กิโลเมตร) ซึ่งลำเลียงเอาน้ำมันดิบผ่านซูดานที่เป็นประเทศเพื่อนบ้าน ไปจนถึงเมืองท่า พอร์ตซูดาน ที่ตั้งอยู่ริมทะเลแดง ก่อนที่การสู้รบระลอกล่าสุดในซูดานใต้จะปะทุขึ้นมา ประเทศนี้เป็นเจ้าของน้ำมันดิบ 5% ที่จีนนำเข้าไปใช้ภายในประเทศ ทั้งนี้ตามตัวเลขข้อมูลของสำนักงานบริหารสารสนเทศพลังงานของสหรัฐฯ (U.S. Energy Information Administration) ปรากฏว่าตัวเลขนี้ได้ลดต่ำลงมาอย่างฮวบฮาบถึงราวหนึ่งในสาม –จนอยู่ในระดับ 160,000 บาร์เรลต่อวัน— ภายหลังการสู้รบระเบิดขึ้นเมื่อปลายปีที่แล้ว --ดังนั้น จีนจึงมีความเห็นว่าเป็นเรื่องจำเป็นที่จะต้องเร่งหาทางแก้ไขคลี่คลายการสู้รบขัดแย้งกันนี้ในทันที แต่ถึงแม้ไม่สามารถคลี่คลายการขัดแย้งสู้รบนี้ให้ตกไปได้ จีนก็ยังคงสามารถที่จะสร้างหลักประกันว่าซัปพลายน้ำมันที่ขนส่งมาให้แดนมังกรนั้นจะสามารถผ่านออกมาได้ด้วยความปลอดภัย ทั้งนี้เมื่อมาถึงปี 2015 นี้ มีรายงานด้วยว่าจีนอาจจะส่งทหารเพิ่มเติมอีก 700 คนไปยังซูดาน “เพื่อรักษาสภาพแวดล้อมอันสันติ” สำหรับการพัฒนา

ด้วยเหตุนี้ เอกสารสมุดปกขาวของจีน จึงไม่ได้เพียงแค่เน้นหนักถือเอา “ยุทธศาสตร์ทางการทหาร” เป็นศูนย์กลางเท่านั้น ถึงแม้ชื่อเรื่องของเอกสารชิ้นนี้อาจจะชวนให้คิดไปเช่นนั้น แต่ในความเป็นจริงแล้วมันยังมีการตอกย้ำถึงบรรดาปัจจัยสนับสนุนทางการเมืองเบื้องลึก ทั้งนี้ สมุดปกขาวฉบับนี้เป็นการยืนกรานให้เห็นถึงบทบาทใหม่ในทางการเมืองที่จีนจะต้องแสดงบนเวทีโลก บทบาทดังกล่าวก็คือการพิทักษ์ปกป้อง, การส่งเสริมสนับสนุน, และการทำให้กลายเป็นความจริง ซึ่งบรรดาผลประโยชน์ด้านการเมือง-เศรษฐกิจและผลประโยชน์ด้านความมั่นคงของประเทศจีน “ในขอบเขตทั่วโลก” จากเหตุผลข้อนี้เองที่ทำให้มีการตอกย้ำเน้นหนักเป็นพิเศษเกี่ยวกับคำถามในเรื่องการเข้าถึงแหล่งที่มีพลังงานสั่งสมอยู่ในต่างแดน, ผู้คนและโครงสร้างพื้นฐานที่จะใช้สนับสนุนการเข้าถึงนี้, และเส้นทางทะเลที่จะใช้เพื่อการคมนาคมและลำเลียงขนส่งทรัพยากรเหล่านี้ให้ข้ามพ้นอุปสรรคต่างๆ มาจนถึงประเทศจีน เหล่านี้ล้วนแต่เป็นกิจกรรมที่จีนได้ดำเนินการอย่างกว้างขวางอยู่แล้ว ด้วยเหตุนี้ สมุดปกขาวฉบับนี้จึงเป็นเพียงการย้ำยืนยันสิ่งซึ่งก่อนหน้าวันที่ 26 พฤษภาคม ยังต้องถือว่าเป็นเพียงการคาดเดา

เอกสารฉบับนี้ตลอดจนยุทธศาสตร์ที่เอกสารนี้สรุปออกมา ไม่ได้อยู่ในลักษณะที่ถือเอาประเทศเป็นศูนย์กลาง หากอยู่ในสภาพของการรวบรวมตรวจสอบสภาพความเป็นจริงที่กำลังเป็นอุปสรรคขัดขวางจีนอยู่ สภาพความเป็นจริงดังกล่าวก็มองเห็นได้อย่างง่ายดายและตรงไปตรงมา กล่าวคือ การที่จีนเข้าร่วมมีส่วนอยู่ในเศรษฐกิจทั่วโลก ตลอดจนในกิจการด้านความมั่นคงที่ติดตามมา เวลานี้ได้มาจนถึงจุดที่จีนไม่สามารถทำตัวอยู่เหินห่าง และยังคงรักษาจุดยืนเก่าที่เรียกกันว่า “การไม่แทรกแซง” ได้อีกต่อไปแล้ว สิ่งซึ่งเริ่มต้นขึ้นในปี 2013 ได้เปลี่ยนแปลงกลายเป็นนโยบายที่เบ่งบานเต็มที่ และเมื่อพิจารณาจากความวิตกกังวลทางด้านความมั่นคงระดับโลกซึ่งปรากฏให้เห็นอยู่ในเวลานี้ แนวโน้มเช่นนี้มีโอกาสมากที่สุดที่จะทวีความเข้มข้นเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ นี่คือพัฒนาการความเป็นไปอันสมเหตุสมผลสำหรับประเทศซึ่งต้องนำเข้าน้ำมันที่ตนต้องการใช้สอยถึงร่วมๆ 60% เป็นระดับดีมานด์ซึ่งสูงขึ้นมาราวเท่าตัวนับตั้งแต่ปี 2000 และยังน่าที่จะเพิ่มสูงขึ้นต่อไปในอีกหลายๆ ปีถัดจากนี้ ดังนั้น จีนจึงตัดสินใจที่จะแก้ไขคลี่คลายโดยหันมายึดมั่นใน “ทัศนะซึ่งมองเรื่องความมั่นคงแห่งชาติแบบองค์รวม” และข้อสรุปของเรื่องนี้ก็คือทิศทางมุมมองโลกที่เป็นแบบใหม่เอี่ยมอย่างสิ้นเชิง

ซัลมัน ราฟี ไชค์ เป็นนักหนังสือพิมพ์อิสระ และนักวิเคราะห์วิจัยทางด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศและกิจการของปากีสถาน ทั้งนี้เขามีความสนใจในเรื่องการเมืองเอเชียใต้และเอเชียตะวันตก, นโยบายการต่างประเทศของมหาอำนาจรายใหญ่ๆ, ตลอดจนการเมืองของปากีสถาน

หมายเหตุผู้แปล

[1] “ภาวะกลืนไม่เข้าคลายไม่ออกเกี่ยวกับช่องแคบมะละกา” (Malacca Dilemma) ของจีน หมายถึงสภาพที่การเติบโตอย่างรวดเร็วของเศรษฐกิจจีนเท่าที่ผ่านมา ได้อาศัยการค้าต่างประเทศเป็นตัวผลักดันที่สำคัญยิ่งตัวหนึ่ง ทว่าการค้าส่วนใหญ่ซึ่งแดนมังกรทำกับยุโรป, แอฟริกา, และตะวันออกกลางนั้น ต้องลำเลียงขนส่งผ่านทางช่องแคบมะละกา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ดีมานด์ความต้องการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล (น้ำมัน, ก๊าซธรรมชาติ, ถ่านหิน) ของจีนกำลังพุ่งพรวดขึ้นอย่างรวดเร็ว จนกระทั่งยิ่งต้องพึ่งพาอาศัยการนำเข้าน้ำมันจากต่างประเทศ โดยที่ประมาณ 80% ของน้ำมันที่จีนนำเข้าทีเดียว ต้องผ่านช่องแคบมะละกา ด้วยเหตุนี้เอง ช่องแคบที่อยู่ระหว่างมาเลเซีย-สิงคโปร์-อินโดนีเซียแห่งนี้ จึงได้รับการพิจารณาว่าเป็นเส้นชีวิตของพญามังกรที่กำลังผงาดขึ้นมา อย่างไรก็ตาม เนื่องจากจีนยังขาดแคลนสมรรถนะในด้านแสนยานุภาพทางทะเล ดังนั้นการพึ่งพาช่องแคบมะละกามากขึ้นเรื่อยๆ จึงกำลังกลายเป็นจุดอ่อนเปราะทางยุทธศาสตร์ของจีนไปด้วย สิ่งซึ่งปักกิ่งรู้สึกหวั่นเกรงก็คือ ในระหว่างที่เกิดวิกฤตความมั่นคงระดับชาติขึ้นมา บรรดาเรือที่กำลังลำเลียงทรัพยากรด้านพลังงานมายังแดนมังกร อาจจะถูกสกัดกั้นห้ามผ่านจากกองกำลังทางนาวีที่เป็นฝ่ายศัตรู ซึ่งนั่นจะส่งผลเสียหายต่อเศรษฐกิจของจีนเป็นอย่างยิ่ง
(ข้อมูลจาก Chen Shaofeng, China’s Self-Extrication from the
“Malacca Dilemma” and Implications, in International Journal of China Studies,
Vol. 1, No. 1, January 2010. และ Ian Storey, “China’s Malacca Dilemma”, in China Brief, Jamestown Foundation, Vol. 6, Issue, 8, December 2009.)

[2] “หลัก 5 ประการแห่งการอยู่ร่วมกันโดยสันติ” (Five Principles of Peaceful Co-existence) ประกอบด้วย 1.เคารพในอธิปไตยและบูรณภาพแห่งดินแดนของกันและกัน 2.ไม่รุกรานซึ่งกันและกัน 3.ไม่แทรกแซงกิจการภายในของกันและกัน 4.เสมอภาคและร่วมมือกันเพื่อผลประโยชน์ร่วมกัน 5.อยู่ร่วมกันอย่างสันติ
(ข้อมูลจาก Wikipedia)
กำลังโหลดความคิดเห็น