xs
xsm
sm
md
lg

ซัมมิตความสัมพันธ์ข้ามช่องแคบไต้หวันครั้งประวัติศาสตร์ระหว่าง “นายสี” กับ “นายหม่า”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

ประธานาธิบดี สี จิ้นผิง ของจีน (ซ้าย) ประธานาธิบดีหม่า อิงจิ่ว ของไต้หวัน – แฟ้มภาพเอพี, เอเอฟพี
เซาท์ไชน่ามอร์นิ่งโพสต์ - ผู้นำจีนและไต้หวันเตรียมสร้างประวัติศาสตร์ด้วยการประชุมร่วมกันเป็นครั้งแรกในรอบ 66 ปี นับตั้งแต่สงครามกลางเมืองบนแผ่นดินใหญ่ยุติลงเมื่อปี พ.ศ. 2492 โดยพรรคคอมมิวนิสต์ได้ชัยชนะ ส่วนพรรคก๊กมินตั๋งพ่ายแพ้ถอยร่นมาตั้งหลักบนเกาะไต้หวัน

ประธานาธิบดี สี จิ้นผิง และประธานาธิดีหม่า อิงจิ่ว จะพบกันที่สิงคโปร์ในวันเสาร์ ที่ 7 พ.ย. นี้ โดยรัฐบาลปักกิ่งและไต้หวันประกาศข่าวการจัดซัมมิตระหว่างพญามังกรกับจ้าวเกาะมังกรน้อยอย่างสายฟ้าแลบ หลังจากมีการถกเถียงปัญหาสำคัญเรื่องหนึ่งอยู่นานหลายสัปดาห์ นั่นก็คือจะใช้คำนำหน้าเรียกผู้นำทั้งสองว่ากระไรดี

ในที่สุดทั้งสองฝ่ายก็เห็นพ้องกันว่า ให้ใช้คำนำหน้าว่า “นาย” แทนคำว่า “ประธานาธิบดี” เสียเลยให้สิ้นเรื่อง เพื่อไม่ให้ผู้นำทั้งสองต้องลำบากใจ ที่จะต้องเรียกอีกฝ่ายหนึ่งว่า ท่านประธานาธิบดี ทั้งที่ต่างก็ไม่ยอมรับกันอย่างเป็นทางการ เนื่องจากจีนถือว่าไต้หวันเป็นมณฑลหนึ่งของตน ขณะที่ไต้หวันประกาศตัวเป็นเอกราชจากจีน

นายจาง จื่อจวิ้น หัวหน้าสำนักงานฝ่ายกิจการไต้หวันแห่งแผ่นดินใหญ่ระบุว่า การตกลงให้ผู้นำทั้งสองเรียกอีกฝ่ายหนึ่งว่า “นาย” เป็นการเตรียมการในทางปฏิบัติ ซึ่งยังคงยึดมั่นตามหลักการของการมีจีนเดียว แต่ที่ต้องทำเช่นนี้ ก็เพราะข้อขัดแย้งทางการเมืองระหว่างจีนกับไต้หวันยังตกลงกันไม่ได้

ด้านนายแอนดรูว์ เซี่ย หลี่ เหยียน ประธานสภากิจการแผ่นดินใหญ่ของไต้หวันเปิดเผยว่า เดิมทีเขาได้เสนอกับนายจางระหว่างการหารือกันที่เมืองก่วงโจวเมื่อเดือนต.ค. ที่ผ่านมาว่า ควรให้ผู้นำทั้งสองพบปะกันนอกรอบการประชุมสุดยอดกลุ่มความร่วมมือทางเศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก หรือ เอเปก ที่กรุงมะนิลา แต่นายจางเห็นว่า ให้มีการเจรจากันที่อื่นจึงจะเหมาะสมกว่า

บรรดานักวิเคราะห์มองว่า การประชุมสุดยอดระหว่างผู้นำจีนและไต้หวันนับเป็นความก้าวหน้าครั้งสำคัญของความสัมพันธ์ข้ามช่องแคบ และจะเป็นการเปิดช่องทางการติดต่อสื่อสารกันโดยตรงระหว่างผู้นำระดับสูงสุด ไม่ว่าใครจะเป็นผู้นำไต้หวันคนต่อไป แม้บรรยากาศทางการเมืองในไต้หวันขณะนี้กำลังมองเห็นการเปลี่ยนแปลงขั้วอำนาจทางการเมืองได้อย่างชัดเจนก็ตาม นอกจากนั้น การประชุมครั้งนี้ยังเป็นการกรุยทางสำหรับการเจรจาเกี่ยวกับอนาคตทางการเมืองของไต้หวันต่อไป

ด้านนายจอร์จ เหยียว อดีตรัฐมนตรีต่างประเทศของสิงคโปร์ประเทศเจ้าภาพ ปรบมือชื่นชมเหตุการณ์ครั้งประวัติศาสตร์นี้ ซึ่งก่อให้เกิดความหวังว่า จะเป็นการเปิดบทใหม่ของประวัติศาสตร์จีนและการฟื้นฟูชาติจีนอย่างสันติ

ทั้งนี้ จีนกับไต้หวันจัดการเจรจากึ่งทางการร่วมกันเป็นครั้งแรกที่สิงคโปร์เมื่อปีพ.ศ.2536 ต่อมาในปีพ.ศ. 2548 นายเหลียน จ้านหัวหน้าพรรคก๊กมินตั๋งได้เหยียบแผ่นดินใหญ่ครั้งประวัติศาสตร์ เพื่อหารือระดับผู้นำพรรคร่วมกับนายหู จิ่นเทา ผู้นำพรรคคอมมิวนิสต์ในเวลานั้น กระทั่งในปีที่แล้วรัฐบาลปักกิ่งและไทเปก็ได้จัดการประชุมระหว่างรัฐบาลร่วมกันเป็นครั้งแรก

หลิน ฉง ปิน อดีตรองประธานสภากิจการแผ่นดินใหญ่ของไต้หวันระบุว่า มีการมองการประชุมระหว่างผู้นำจีนและไต้หวันครั้งนี้กันว่า รัฐบาลปักกิ่งกำลังพยายามฟื้นฟูความสัมพันธ์กับไต้หวัน ตัดหน้าการเลือกตั้งประธานาธิบดีบนเกาะมังกรน้อยในเดือนม.ค. ปีหน้า ซึ่งพรรคประชาธิปไตยก้าวหน้า หรือ ดีพีพี อันมีจุดยืนสนับสนุนเอกราชของไต้หวันมีแนวโน้มจะชนะการเลือกตั้ง

นายซู ซื่อ ผู้เชี่ยวชาญด้านไต้หวันแห่งสถาบันไต้หวันศึกษาของมหาวิทยาลัยเซี่ยเหมิน ระบุว่า ปักกิ่งกระตือรือล้นกระชับความสัมพันธ์กับไต้หวันก่อนหน้าการเลือกตั้ง เพราะปักกิ่งเชื่อว่า พรรคดีพีพีจะชนะการเลือกตั้งอย่างแน่นอน

นอกจากนั้น ยังได้ตระเตรียมเปิดเวทีหารือระหว่างประธานาธิบดีสี หรือผู้นำระดับสูงคนอื่น ๆ ร่วมกับนางไช่ อิง เหวิน ซึ่งคาดว่า จะได้รับเลือกตั้งเป็นผู้นำไต้หวันคนใหม่ไว้แล้วอีกด้วย เนื่องจากประธานาธิบดีสีปรารถนาให้การพัฒนาความสัมพันธ์อย่างรุดหน้ากับไต้หวันเป็นผลงานความสำเร็จอีกชิ้นหนึ่งในสมัยการดำรงตำแหน่งผู้นำแดนมังกรเป็นเวลา 10 ปีของตน ซึ่งจะทำความฝันของชาวจีนให้บรรลุอย่างสมบูรณ์


กำลังโหลดความคิดเห็น