xs
xsm
sm
md
lg

ผลวิจัยม.ฮาร์วาร์ดชี้สหรัฐฯ ควร “ส่งออกน้ำมัน-ก๊าซ” เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


รอยเตอร์ – สหรัฐฯ ควรเลิกใช้นโยบายห้ามส่งออกน้ำมันซึ่ง "ล้าสมัย" ไปเสียแล้ว เพื่อให้เศรษฐกิจของอเมริกาได้รับประโยชน์สูงสุดจากความก้าวหน้าในการสำรวจน้ำมันและก๊าซธรรมชาติจากชั้นหินดินดาน (Hydraulic fracturing) ที่กำลังเฟื่องฟู ผลวิจัยที่เผยแพร่เมื่อวานนี้ (10 มิ.ย.) ระบุ

ผลการศึกษาโดยโรงเรียนธุรกิจแห่งมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด และบริษัทที่ปรึกษา บอสตัน คอนซัลติง กรุ๊ป ชี้ว่า หากวอชิงตันยกเลิกกฎหมายห้ามส่งออกน้ำมันที่ประกาศใช้เมื่อ 40 ปีก่อนเพื่อตอบโต้มาตรการงดส่งออกน้ำมันแก่สหรัฐฯของชาติอาหรับในช่วงทศวรรษ 1970 ตลอดจนผ่อนคลายการส่งออกก๊าซธรรมชาติเหลว จะช่วยเพิ่มเม็ดเงินในระบบเศรษฐกิจได้ถึง 23,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ภายในปี 2030 อีกทั้งสร้างงานได้หลายหมื่นตำแหน่ง และยังช่วยให้สหรัฐฯมีอิทธิพลต่อรองในเวทีโลกเพิ่มขึ้นด้วย

“ทรัพยากรพลังงานจะเป็นเครื่องมือทางการทูตที่เราใช้ช่วยเหลือชาติพันธมิตร และสกัดกั้นความพยายามของประเทศก้าวร้าวที่พยายามจะใช้น้ำมันและก๊าซเป็นเครื่องมือต่อรองทางการเมือง” ผลการศึกษาซึ่งเรียบเรียงโดย มาร์ก พอเทอร์ อาจารย์จากโรงเรียนธุรกิจแห่งมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ร่วมกับ เดวิด กี และ เกรกอรี โป๊ป จาก บอสตัน คอนซัลติง กรุ๊ป ระบุ

“การที่สหรัฐฯ ยังห้ามส่งออกน้ำมันดิบเท่ากับปิดกั้นโอกาสสำหรับผู้ผลิตน้ำมันในประเทศ และบั่นทอนการขยายตัวทางเศรษฐกิจ โดยยังไม่เห็นว่าประเทศชาติหรือชาวอเมริกันจะได้ผลประโยชน์ส่วนไหนมาทดแทน”

พรรครีพับลิกันได้เสนอร่างกฎหมายทบทวนนโยบายห้ามส่งออกน้ำมันต่อทั้งวุฒิสภาและสภาผู้แทนราษฎรในช่วงไม่กี่เดือนมานี้ ขณะที่ผู้ผลิตน้ำมันในอเมริกาซึ่งรอคอยโอกาสที่จะส่งน้ำมันดิบออกไปจำหน่ายยังตลาดในเอเชียและยุโรปต่างบอกเป็นเสียงเดียวกันว่า กฎหมายห้ามส่งออกทำให้น้ำมันดิบไลท์สวีทครูดล้นตลาด และอาจทำให้กระแสความเฟื่องฟูของอุตสาหกรรมสำรวจน้ำมันในประเทศต้องสะดุดลง

อย่างไรก็ดี สมาชิกพรรคเดโมแครตบางคนเตือนว่า การส่งออกน้ำมันจะทำให้ราคาพลังงานในสหรัฐฯ พุ่งสูงขึ้น

เทคโนโลยี “แฟร็กกิง” ซึ่งเป็นกระบวนการที่ต้องอาศัยแรงดันน้ำ ทราย และสารเคมี อัดฉีดลงไปในบ่อเพื่อสกัดเอาน้ำมันหรือก๊าซธรรมชาติออกมา ช่วยให้สหรัฐฯ มีกำลังผลิตก๊าซธรรมชาติเพิ่มขึ้นถึง 35% จากเมื่อปี 2005 และยังผลิตน้ำมันได้มากขึ้นถึง 45% จากเมื่อปี 2010

ผลวิจัยของอาจารย์ ม.ฮาร์วาร์ด ระบุด้วยว่า เทคโนโลยีแฟร็กกิงสร้างเม็ดเงินราว 430,000 ล้านดอลลาร์อุดหนุนจีดีพีของสหรัฐฯ ในแต่ละปี และยังทำให้เกิดการสร้างงานอีกกว่า 2.7 ล้านตำแหน่ง จึงอาจเรียกได้ว่า “เป็นโอกาสสำคัญที่สุดที่จะยกระดับศักยภาพด้านการแข่งขันของอเมริกา”

อย่างไรก็ตาม อุตสาหกรรมน้ำมันและหน่วยงานที่กำกับดูแลยังต้องเร่งสร้างความเข้าใจกับประชาชนที่ยังต่อต้านเทคโนโลยีชนิดนี้ เพราะเกรงว่าสารเคมีที่ใช้จะก่อให้เกิดมลพิษทางน้ำและอากาศ ตลอดจนความเชื่อที่ว่าการขุดเจาะน้ำมันและก๊าซด้วยวิธีนี้มีส่วนทำให้เกิดแผ่นดินไหว

สำนักงานปกป้องสิ่งแวดล้อมสหรัฐฯออกรายงานล่าสุดในเดือนนี้ ยืนยันว่าเทคโนโลยีแฟร็กกิงไม่ทำให้มีสารเคมีปนเปื้อนในน้ำประปาเป็นบริเวณกว้างอย่างที่หวาดกลัวกัน ทว่ากิจกรรมขุดเจาะบางอย่างส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนจริง

กำลังโหลดความคิดเห็น