รอยเตอร์/เอเจนซีส์ - ชี้การที่อเมริกานำภาพโครงการถมทะเลของจีนออกเผยแพร่ พร้อมประกาศแผนการทางทะเลเชิงรุก เป็นการส่งสัญญาณว่า วอชิงตันเตรียมงัดไม้แข็งออกมากำราบความก้าวร้าวของพญามังกรในทะเลจีนใต้ รวมทั้งโน้มน้าวให้หุ้นส่วนในเอเชียคิดอ่านดำเนินการในเรื่องนี้ชัดเจนขึ้น ล่าสุด “นายใหญ่เพนตากอน” ย้ำข้อเรียกร้องให้ปักกิ่งยุติการสร้างเกาะเทียม และสำทับว่าสหรัฐฯ จะยังคงส่งเรือรบและเครื่องบินออกตรวจการณ์น่านน้ำที่เป็นข้อพิพาท โดยดำเนินการไปตามหลักกฎหมายระหว่างประเทศ
เป็นที่คาดหมายกันว่า จากการเปิดเผยคลิปความคืบหน้าการสร้างเกาะเทียมในทะเลจีนใต้ของจีน ซึ่งถ่ายโดยเครื่องบินตรวจการณ์ พี-8 โพไซดอน ของสหรัฐฯ ตลอดจนปฏิกิริยาของนานาชาติที่ติดตามมา จะเป็นหลักประกันว่า ประเด็นนี้จะครอบงำการประชุมสัมมนาด้านกลาโหมประจำปี “แชงกรีลา ไดอะล็อก” ซึ่งจัดขึ้นที่สิงคโปร์ในวันศุกร์นี้ (29 พ.ค.) โดยที่แอช คาร์เตอร์ รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ มีกำหนดเข้าร่วมด้วย เช่นเดียวกับเจ้าหน้าที่ทหารอาวุโสของจีนและอีกหลายประเทศ
ขณะที่สหรัฐฯผลักดันยุทธศาสตร์ “การปักหมุด” หวนกลับมาแสดงบทบาททางทหารในเอเชีย โดยที่วัตถุประสงค์สำคัญส่วนหนึ่งก็เพื่อคานอำนาจจีนนั้น วอชิงตันก็ต้องการให้เอเชียตะวันออกเฉียงใต้แสดงความสามัคคีเหนียวแน่นกันมากขึ้น ในการต่อต้านปักกิ่งที่ปีนี้เดินหน้าสร้างเกาะเทียมในน่านน้ำที่เป็นข้อพิพาทอย่างรวดเร็ว
“ประเทศเหล่านี้จำเป็นที่จะต้องแสดงตนเป็นเจ้าของ (ประเด็นปัญหานี้)” เจ้าหน้าที่กลาโหมสหรัฐฯผู้หนึ่งกล่าวโดยขอให้สงวนนาม พร้อมกับกล่าวย้ำว่า หากสหรัฐฯออกหน้าเป็นผู้นำในการท้าทายจีนในประเด็นปัญหานี้ น่าจะกลับกลายเป็นผลเสีย
เจ้าหน้าที่ผู้นี้สำทับว่า พวกหุ้นส่วนของสหรัฐฯ รวมทั้ง 10 ชาติอาเซียนด้วย จำเป็นที่จะต้องรวมตัวแสดงปฏิบัติการที่เป็นหนึ่งเดียวออกมาโดยเร็ว เพราะถ้าขืนรอช้าออกไปเป็นปีๆ ก็คงจะไม่ทันการณ์แล้ว
ทั้งนี้ ในขณะที่สมาชิกอาเซียนบางชาติ โดยเฉพาะฟิลิปปินส์และเวียดนาม วิพากษ์วิจารณ์การดำเนินการในทะเลจีนใต้ของแดนมังกรออกนอกหน้า แต่โดยรวมแล้วอาเซียนยังคงแตกแยกกันในประเด็นนี้และลังเลที่จะเข้าแทรกแซง
ทางด้านเอียน สตอรีย์ แห่งสถาบันว่าด้วยเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา ซึ่งตั้งอยู่ในสิงคโปร์ ชี้ว่า แม้เริ่มปรากฏสัญญาณการเปลี่ยนแปลงในเดือนที่แล้ว จากการที่ผู้นำอาเซียนออกคำแถลงร่วมแสดงความกังวลว่า การถมทะเลของจีนกำลังบ่อนทำลายความเชื่อใจ รวมทั้งอาจบ่อนทำลายสันติภาพในภูมิภาค แต่เขาไม่เชื่อว่า อาเซียนจะมีมาตรการใดๆ ออกมาอีกในเร็วๆ นี้
สิ่งที่จะเกิดขึ้นมาได้ ก็เพียงแต่บรรดาชาติพันธมิตรของอเมริกาลุกขึ้นมาจับมือกันอย่างคึกคัก อย่างที่ปรากฏให้เห็นในระยะหลังๆ เป็นต้นว่า กองทัพญี่ปุ่นกำลังพิจารณาเข้าร่วมตรวจการณ์ทางทะเลกับวอชิงตันในทะเลจีนใต้, โตเกียวและมะนิลายังถูกคาดหมายว่า จะเริ่มเจรจากรอบโครงการถ่ายโอนอุปกรณ์และเทคโนโลยีการป้องกันประเทศในสัปดาห์หน้า รวมถึงหารือความเป็นไปได้ในการทำข้อตกลงเกี่ยวสถานะของนายทหารญี่ปุ่นที่จะเดินทางเยือนฟิลิปปินส์
ในส่วนของคาร์เตอร์เอง เมื่อวันพุธ (27)ระหว่างแวะที่ฮาวายก่อนเดินทางสู่สิงคโปร์ นายใหญ่เพนตากอนกล่าวย้ำว่า อเมริกาต้องการให้จีนและทุกประเทศยุติการสร้างเกาะเทียมในทะเลจีนใต้ และว่า ปักกิ่งกำลังละเมิดหลักการต่างๆ ของ “โครงสร้างทางด้านความมั่นคง” ของภูมิภาค และฉันทามติของภูมิภาคที่ให้ใช้วิธีแก้ไขปัญหาด้วย “แนวทางแบบไม่บีบบังคับ”
เออร์เนสต์ โบเวอร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ของศูนย์เพื่อการศึกษาทางยุทธศาสตร์และการระหว่างประเทศ อันเป็นกลุ่มคลังสมองในกรุงวอชิงตัน บอกว่า เป้าหมายของอเมริกาคือโน้มน้าวให้จีนยินยอมใช้ระบบสากลในการแก้ไขข้อพิพาทแทนการอ้างสิทธิ์ในทะเลจีนใต้เกือบทั้งหมด ซึ่งนำไปสู่การพิพาทแย่งชิงสิทธิ์ในหลายพื้นที่ในบริเวณดังกล่าวกับเพื่อนร่วมภูมิภาค ได้แก่ เวียดนาม ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย บรูไน และไต้หวัน
อย่างไรก็ดี โบเวอร์เชื่อว่า ในระยะสั้น อเมริกาจะแสดงให้จีนเห็นอย่างชัดเจนก่อนว่า ไม่ยอมรับการอ้างสิทธิ์ดังกล่าวของจีน เช่น ด้วยการส่งเรือไปตรวจการณ์ภายในรัศมี 19 กิโลเมตรจากเกาะเทียมของจีน ตามที่พวกเจ้าหน้าที่เพนตากอนเคยพูดไว้ก่อนหน้านี้
**จีนผลักดันให้ชาติอื่นๆ ในภูมิภาคเรียกร้องอเมริกาแสดงบทบาท**
เรื่องนี้ได้รับการตอกย้ำจากคาร์เตอร์ว่า การกระทำของจีนกลังผลักดันให้ประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคเรียกร้องมากขึ้น ให้อเมริกาเข้าไปมีบทบาทในเอเชีย-แปซิฟิก และอเมริกาก็พร้อมเป็นเสาหลักด้านความมั่นคงในภูมิภาคนี้ไปอีกหลายทศวรรษ
นายใหญ่เพนตากอนยังสำทับในการแถลงที่ฮาวายว่า เรือรบและเครื่องบินอเมริกันจะทำการตรวจการณ์ในบริเวณดังกล่าวต่อไป ตามที่ได้รับอนุญาตจากกฎหมายระหว่างประเทศ
พวกเจ้าหน้าที่สหรัฐฯระบุว่า เวลานี้วอชิงตันยังกำลังเดินหน้าในเรื่องการปรับความสมดุลทางการทหาร โดยเน้นน้ำหนักมาที่เอเชีย-แปซิฟิก มากขึ้น 4 ปีหลังจากที่ประธานาธิบดีบารัค โอบามา ประกาศเรื่องกาปรับเปลี่ยนทางยุทธศาสตร์นี้ ถึงแม้ยังคงมีบางประเทศรู้สึกว่าเรื่องนี้เกิดขึ้นเชื่องช้าเหลือเกิน
เป็นต้นว่า สหรัฐฯได้ปรับปรุงเรื่องข้อตกลงด้านความมั่นคงกับพันธมิตรสำคัญอย่างญี่ปุ่นและฟิลิปปินส์ ให้มีความทันสมัยมากยิ่งขึ้น ขณะเดียวกัน นาวิกโยธินอเมริกันกำลังผลัดเปลี่ยนกำลังเข้าทำการฝึกซ้อมอยู่ในดินแดนออสเตรเลีย ส่วนเรือรบเขตน้ำตื้น (littoral combat ships) ก็กำลังออกปฏิบัติการโดยสามารถใช้สิงคโปร์เป็นฐาน แล้วยังฝูงบินตรวจการณ์ พี-8 โพไซดอน ซึ่งประจำการอยู่ในญี่ปุ่น ก็กำลังออกบินปฏิบัติภารกิจทั่วทั้งภูมิภาค
พวกเจ้าหน้าที่กลาโหมสหรัฐฯ ระบุว่า โดยองค์รวมแล้ว กองทัพเรืออเมริกาจะขยายการปฏิบัติการเพิ่มขึ้นอีก 18% ในระหว่างปี 2014 - 2020 และตั้งเป้าส่งเรือ 60% ไปประจำการในแปซิฟิก จากระดับ 57% ในขณะนี้
ด้านพวกเจ้าหน้าที่ทหารในฟิลิปปินส์ก็ชี้ว่า การเปลี่ยนแปลงยุทธศาสตร์ทางทหารของสหรัฐฯ เวลานี้สามารถมองเห็นได้อย่างชัดเจน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการซ้อมรบทางทหาร, การฝึกอบรม และการส่งเรือและเครื่องบินออกเยี่ยมเยียนประเทศต่างๆ ขณะที่เจ้าหน้าที่ผู้หนึ่งชี้ว่า ตอนนี้มีการเปลี่ยนจุดเน้นหนักจากการต่อต้านการก่อการร้าย มาเป็นการรักษาความมั่นคงทางทะเลแล้ว