รอยเตอร์/ASTV ผู้จัดการออนไลน์ - แหล่งข่าวในรัฐบาลชินโซ อาเบะ ของญี่ปุ่นเปิดเผยวันนี้ (6 ก.ค.) กับรอยเตอร์ว่า รัฐบาลญี่ปุ่นมีแนวคิดให้การสนับสนุนฟิลิปปินส์ในด้านเครื่องบินรบ Beechcraft TC-90 จำนวน 3 ลำเพื่อให้ทางมะนิลาสามารถใช้บินลาดตระเวนเหนือเขตน่านน้ำทะเลจีนใต้ ที่จีนประกาศถือสิทธิเข้าครอบครองพื้นที่ทับซ้อน
รอยเตอร์รายงานในวันพฤหัสบดี (6) ว่า แหล่งข่าววงใน 4 คนในรัฐบาลญี่ปุ่น ชินโซ อาเบะได้ออกมาเปิดเผยกับรอยเตอร์ถึง แนวคิดของรัฐบาลญี่ปุ่นที่ต้องการให้ความช่วยเหลือฟิลิปปินส์ในเรื่องการลาดตระเวนริเวนทะเลจีนใต้ ซึ่งทางมานิลามีเหตุพิพาทกับจีน และถือเป็นการกระชับความสัมพันธ์ทางการทหารระหว่างสองชาติให้แน่นแฟ้นขึ้น
โดยทางญี่ปุ่นต้องการมอบเครื่องบินรบรุ่น Beechcraft TC-90 จำนวน 3 ลำที่มีศักยภาพเพียงพอในการทำหน้าที่ลาดตระเวนพื้นฐานทั่วไป และจะมีการติดตั้งอุปกรณ์เรดาร์ตรวจจับบนเครื่องบินเหล่านี้ก่อนส่งมอบ
โดยแหล่งข่าวกล่าวเพิ่มเติมว่า ในขณะนี้รัฐบาลญี่ปุ่นยังคงอยู่ในระดับการเจรจาพื้นฐาน และยังคงต้องหาช่องทางตามข้อกฎหมายเพื่อให้แผนการนี้สัมฤทธิผล ซึ่งในการเสนอเครื่องบินลาดตระเวนรุ่นนี้ทางรัฐบาลญี่ปุ่นต้องการให้เป็นทางเลือกนอกจากเครื่องบินรบสมรรถนะสูง ล็อกฮีดมาร์ติน P3-C ที่ทางมานิลาหมายตามไว้เพื่อแกะรอยเรือดำน้ำจีนในเขตพิพาททะเลจีนใต้
อย่างไรก็ตาม เมื่อรอยเตอร์ได้สอบถามไปทางฟิลิปปินส์ถึงเรื่องการบริจาคเครื่องบินจากญี่ปุ่น แต่ทว่าแหล่งข่าวระดับสูงในกองทัพฟิลิปปินส์ปฎิเสธไม่ทราบข่าวที่ทางญี่ปุ่นต้องการมอบเครื่องบินรบ Beechcraft TC-90 ที่ใช้ในภารกิจการฝึกของกองกำลังปกป้องตัวเองญี่ปุ่น
“ฟิลิปปินส์ไม่มีเครื่องบินรบจำนวนมากเพียงพอในการทำภารกิจลาดตระเวนน่านน้ำทะเลจีนใต้” หนึ่งในแหล่งข่าวญี่ปุ่นให้เหตุผลในการช่วยเหลือครั้งนี้
รอยเตอร์วิเคราะห์ว่า ถึงแม้ข้อเสนอผูกใจจากญี่ปุ่นจะเป็นเครื่องบินที่มีขนาดเล็ก แต่ทว่ากลับมีความหมายเป็นอย่างมากต่อประเทศมากเกาะในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เช่น ฟิลิปปินส์ เพราะนี่เท่ากับว่าเป็นการเพิ่มสมรรถนะกองทัพฟิลิปปินส์ไปอีกขั้นซึ่งกองทัพฟิลิปปินส์มีฝูงบินรบจำกัดในยามสงคราม
ทั้งนี้ จากรายงานพบว่า ญี่ปุ่นไม่ได้ประกาศอ้างสิทธิในทะเลจีนใต้ แต่ทว่าทางโตเกียวมีความกังวลเป็นอย่างมากในโปรเจกต์ถมทะเลสร้างเกาะเทียมของปักกิ่ง ที่มีจำนวนถึง 7 เกาะในบริเวณเขตน่านน้ำหมู่เกาะสแปรตลีย์ พร้อมกับการปรากฏตัวของกองทัพจีนในแถบนี้ ซึ่งเป็นบริเวณที่เรือสินค้าหลักสัญชาติญี่ปุ่นใช้แล่นผ่าน
รอยเตอร์ยังวิเคราะห์เพิ่มเติมอีกว่า การติดอาวุธให้กองทัพมะนิลาสามารถตรวจการณ์ในทะเลจีนใต้จะทำให้อาเบะได้รับข้อมูลเพิ่มมากขึ้นในด้านความมั่นคงทางทะเลในแถบนี้ แต่ทว่าจะเป็นการทำให้ปักกิ่งยิ่งโกรธเพิ่มขึ้น เพราะที่ผ่านมาทางจีนได้กล่าวหาญี่ปุ่นได้เข้ามามีบทบาทในข้อพิพาทในแถบทะเลจีนใต้
ด้านโฆษกกองกำลังปกป้องตนเองญี่ปุ่นยอมรับกับรอยเตอร์ว่า มีการเจรจาระดับปฎิบัติงานเพื่อดูความเป็นไปได้ในความร่วมมือด้านยุทโธปกรณ์กับฟิลิปปินส์จริง แต่ในขณะนี้ยังไม่มี “แผนการณ์ที่เป็นรูปเป็นร่าง” ในการเสนอมอบ Beechcraft TC-90 ให้กับฟิลิปปินส์แต่อย่างใด
ในขณะที่รัฐมนตรีกลาโหมฟิลิปปินส์ วอลแตร์ กาซมิน (Voltaire Gazmin) กล่าวว่า เขาไม่ทราบเรื่องที่ทางโตเกียวมีแผนที่จะสนับสนุนเครื่องบินรบจำนวนหนึ่งให้กับกองทัพฟิลิปปินส์ ซึ่งสอดคล้องกับเหล่าผู้บัญชาการระดับสูงของกองทัพที่ออกมาประสานเสียงว่าไม่ทราบข่าวในเรื่องนี้ แต่ต่างรู้สึกยินดีที่ทั้งสองชาติจะมีความร่วมมือใกล้ชิดมากขึ้นในการทหาร
และแหล่งข่าวรัฐบาลญี่ปุ่นยังได้เปิดเผยกับรอยเตอร์ถึง อุปสรรคในแผนการส่งมอบเครื่องบินรบว่า อาจมีการติดขัดด้านข้อกฎหมาย ซึ่งทางรัฐบาลญี่ปุ่นต้องเสนอเป็นญัตติเข้าสู่สภาผู้แทนราษฎรญี่ปุ่นให้แก้กฏหมายกำกับการเงิน ที่ระบุว่า ยุทโธปกรณ์ที่ผ่านการใช้งานของรัฐบาลญี่ปุ่นจะต้องถูกจำหน่ายในราคาตลาดที่เป็นธรรม และแหล่งข่าวญี่ปุ่นกล่าวต่อว่า และหากมีการแก้ข้อกฎหมายนี้สำเร็จ จะเป็นการเปิดทางให้รัฐบาลญี่ปุ่นสามารถมอบยุทโธปกรณ์มือสองเหล่านี้ให้กับพันธมิตรในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เพื่อกระชับความสัมพันธ์ก็เป็นได้
นอกจากนี้ แหล่งข่าวญี่ปุ่นยังให้ข้อมูลกับรอยเตอร์เพิ่มเติมอีกว่า ทางญี่ป่นมีความพร้อมในการติดตั้งอุปกรณ์เรดาร์เพื่อตรวจจับความเคลื่อนไหวแบบอากาศสู่ภาคพื้นในเครื่องบินรบรุ่น Beechcraft TC-90 หากมีการส่งมอบเกิดขึ้น
โดยรอยเตอร์ชี้ว่า กองทัพสหรัฐฯ ใช้เครื่องบินรบรุ่นนี้ในภารกิจขนส่งและฝึกนักบิน
กาซมิน รัฐมนตรีกลาโหมฟิลิปปินส์กล่าวเพิ่มเติมว่า ถึงอย่างไรกองทัพฟิลิปปินส์ยังคงมีความจำเป็นต้องใช้เครื่องบินรบรุ่น ล็อกฮีดมาร์ติน P3-C ซึ่งคาดว่าทางกองกำลังปกป้องตนเองญี่ปุ่นจะปลดระวางในไม่กี่ปีข้างหน้านี้ ในขณะที่ผู้บัญชาการระดับสูงของกองทัพฟิลิปปินส์ออกมาเสริมว่า ถือเป็นสิ่งท้าทายสำหรับทางกองทัพในการใช้เครื่องบินรบ ล็อกฮีดมาร์ติน P3-C บินตรวจการณ์ทางอากาศควบคู่ไปกับการสนับสนุนจากยุทโธปกรณ์ทางภาคพื้น
อย่างไรก็ตาม แหล่งข่าวระดับสูงของกองทัพฟิลิปปินส์ชี้ถึงข้อด้อยของเครื่องบินรบรุ่นนี้ว่า ล็อกฮีดมาร์ติน P3-C เป็นเครื่องบินรบที่มีเครื่องยนต์แบบ “4 Turboprops” และยังใช้น้ำมันเป็นจำนวนมากในภารกิจขึ้นบิน
แหล่งข่าวในรัฐบาลอาเบะเปิดเผยกับรอยเตอร์ต่อว่า สำหรับปัญหานอกจากนี้ ทางญี่ปุ่นมีความกังวลถึงการขาดประสบการณ์ในการตรวจการณ์ทางทะเลของกองทัพฟิลิปปินส์ ซึ่งหมายความว่า เป็นที่คาดว่า นักบินฟิลิปปินส์จะประสบปัญหาในการควบคุมอุปกรณ์การลาดตระเวนที่ติดตั้งในเครื่องบินรบ และอาจไม่สามารถปะมวลผลข้อมูลที่ได้รับอย่างรวดเร็ว
รอยเตอร์รายงานว่า ในทะเลจีนใต้ที่ปักกิ่งประกาศเข้าครอบครองนั้นพิพาทกับประเทศเพื่อนบ้านที่ออกมาอ้างสิทธิ์ด้วยเช่นกัน รวมไปถึง ฟิลิปปินส์ เวียดนาม บรูไน มาเลเซีย และไต้หวัน
และถึงแม้ญี่ปุ่นไม่ได้มีข้อพิพาทกับจีนในแถบนี้ แต่ในสมัยของนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น ชินโซ อาเบะ โตเกียวผลักดันความร่วมมืออย่างใกล้ชิดกับฟิลิปปินส์มากขึ้น เพื่อเป็นการผูกมิตรในภูมิภาค
ซึ่งไม่กี่เดือนที่ผ่านมา ญี่ปุ่นและฟิลิปปินส์ได้จับมือร่วมกันลาดตระเวนทางทะเลในทะเลจีนใต้
นอกจากนี้ความร่วมมือในระดับรัฐบาลของสองชาติ ในเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา อาเบะได้ตกลงกับประธานาธิบดีฟิลิปปินส์ เบนิกโน ซิมยอน อาคิโน ในข้อตกลงการเยือนของกองกำลัง ซึ่งจะเปิดทางให้ทางญี่ปุ่นสามารถตั้งฐานทัพในเขตแดนฟิลิปปินส์เพื่อเป็นจุดแวะเติมน้ำมันให้กับฝูงเครื่องบินลาดตระเวน และฝูงเรือรบญี่ปุ่น
รอยเตอร์รายงานว่า ความร่วมมือใกล้ชิดทางทหารระหว่างญี่ปุ่นและฟิลิปปินส์ได้รับเสียงสนับสนุนจากวอชิงตัน ซึ่งแหล่งข่าวกองทัพสหรัฐฯได้เปิดเผยกับรอยเตอร์ว่า ทางสหรัฐฯได้ร้องขอให้ทางญี่ปุ่นช่วยสนับสนุนฟิลิปปินส์ในการฝึกสอนและซ่อมบำรุงเครื่องบินรบที่ญี่ปุ่นมีแผนจะส่งมอบให้มะนิลา