xs
xsm
sm
md
lg

ไอเอ็มเอฟฟันธง "เงินหยวนจีน" ไม่ได้มีมูลค่าต่ำกว่าความเป็นจริงแล้ว

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เอพี/เอเจนซีส์ - กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) แถลงในวันอังคาร (26 พ.ค.) ไม่เชื่อว่าเงินหยวนของจีนมีมูลค่าต่ำกว่าความเป็นจริงอีกแล้ว ถือเป็นจุดยืนที่น่าจะช่วยปักกิ่งในการโต้เถียงกับวอชิงตันซึ่งกล่าวหาแดนมังกรควบคุมบิดเบี้ยวอัตราแลกเปลี่ยน

กระนั้น รองกรรมการผู้จัดการคนที่หนึ่งของไอเอ็มเอฟ เดวิด ลิปตัน ก็ระบุว่า ปักกิ่งควรเร่งฝีก้าวเพื่อไปสู่การมีระบบอัตราแลกเปลี่ยนแบบลอยตัวในระยะ 2 ถึง 3 ปีข้างหน้า

สหรัฐฯนั้นกล่าวหาจีนมาอย่างยาวนานว่าพยายามกดมูลค่าสกุลเงินตราของตนให้ต่ำเข้าไว้ เพื่อให้ผู้ส่งออกของจีนได้เปรียบในการแข่งขันอย่างไม่เป็นธรรมและสร้างความเสียหายให้แก่พวกคู่แข่งขันชาวต่างชาติ และที่ผ่านมาไอเอ็มเอฟก็เห็นพ้องกับวอชิงตันว่าเงินหยวนมีค่าต่ำกว่าความเป็นจริง จนเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดความตึงเครียดระหว่างไอเอ็มเอฟกับปักกิ่ง

แต่ลิปตันแถลงที่ปักกิ่งในวันอังคารว่า ภายหลังการเปลี่ยนแปลงในอัตราแลกเปลี่ยนของโลกช่วง 1 ปีที่ผ่านมา “เราเชื่อว่ามัน (เงินหยวน) ไม่ได้มีมูลค่าต่ำกว่าความเป็นจริงอีกต่อไปแล้ว”

ลิปตันพูดเรื่องนี้ภายหลังการประชุมหารือกับเจ้าหน้าที่ฝ่ายจีนนำโดยรองนายกรัฐมนตรีหม่า ไข่ และผู้ว่าการธนาคารกลางแดนมังกร โจว เสี่ยวชวน ในวาระสรุปการทบทวนประจำปีของไอเอ็มเอฟในเรื่องภาวะเศรษฐกิจของจีน

ไอเอ็มเอฟนั้นพยากรณ์ว่า อัตราเติบโตของเศรษฐกิจจีนในปีนี้จะอยู่ที่ 6.8% ใกล้เคียงกับเป้าหมายซึ่งพรรคคอมมิวนิสต์จีนตั้งไว้ที่ 7%

อัตราเติบโตของจีนลดต่ำลงอย่างสม่ำเสมอตลอดช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ขณะที่จีนพยายามลดการพึ่งพาการส่งออกและการลงทุน แล้วหันไปส่งเสริมการบริโภคภายในประเทศ

การที่เศรษฐกิจจีนชะลอลงอย่างแรงเกินกว่าที่คาดหมายกัน ได้ทำให้เกิดความกังวลกันว่าอาจเป็นชนวนให้มีอันตรายทางการเมืองจากการที่ประชาชนจำนวนมากต้องสูญเสียตำแหน่งงาน ปักกิ่งเองได้หาทางแก้ไขด้วยการลดอัตราดอกเบี้ยมาแล้ว 3 ครั้งนับตั้งแต่เดือนพ.ย.เป็นต้นมา เพื่อดันให้การเติบโตดีขึ้น รวมทั้งบอกให้บรรดาธนาคารที่เป็นรัฐวิสาหกิจทั้งหลายปล่อยกู้แก่พวกหน่วยงานการลงทุนที่เป็นของบรรดารัฐบาลท้องถิ่น

ลิปตันกล่าวว่า ถ้าอัตราการเติบโตทำท่าจะสูงเกินระดับ 7% แล้ว ปักกิ่งก็ควรจะใช้ประโยชน์ด้วยการเพิ่มการควบคุมสินเชื่อซึ่งกำลังมีอัตราขยายตัวรวดเร็วมาก จะได้ลดความเสี่ยงทางการเงิน แต่ถ้าอัตราเติบโตทำท่าจะต่ำกว่า 6.5% รัฐบาลจีนก็ควรต้องพิจารณาขยายการใช้จ่ายเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ

“เรารบเร้าให้เจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบทั้งหลายของฝ่ายจีน เร่งความคืบหน้าในด้านการทำให้อัตราแลกเปลี่ยนมีความยืดหยุ่นยิ่งขึ้นไปอีก” ลิปตันพูดในที่ประชุมแถลงข่าว “เราเชื่อว่าจีนควรมีจุดมุ่งหมายที่จะไปสู่การมีอัตราแลกเปลี่ยนแบบลอยตัวอย่างมีประสิทธิภาพภายในระยะเวลา 2 หรือ 3 ปีข้างหน้า”

สำหรับปฏิกิริยาของสหรัฐฯต่อการประเมินของไอเอ็มเอฟเช่นนี้ สำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงานว่า ภายหลังการแถลงที่ปักกิ่งคราวนี้ผ่านไปสองสามชั่วโมง เจ้าหน้าที่กระทรวงการคลังสหรัฐฯผู้หนึ่งซึ่งออกมาพูดสรุปให้ผู้สื่อข่าวรับฟังทางโทรศัพท์ด้วยเงื่อนไขว่าจะไม่มีการระบุชื่อ ได้กล่าวว่า ทางกระทรวงยังคงมีความเห็นเหมือนเดิมว่าเงินหยวนยังคงมีมูลค่าต่ำกว่าความเป็นจริงเป็นอย่างมาก และจีนยังจำเป็นต้องดำเนินการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ทางด้านนโยบายและการเงินตามที่ได้วางแผนเอาไว้ จึงจะทำให้เงินหยวนมีคุณสมบัติเพียงพอที่จะถูกบรรจุเข้าไว้ในตะกร้าสกุลเงินตรา Special Drawing Rights (SDR) ของไอเอ็มเอฟ

จีนได้เคยแถลงในเดือนมีนาคมที่ผ่านมาว่า “ในอนาคตอันใกล้นี้” หวังที่จะได้เห็นเงินหยวนกลายเป็นส่วนหนึ่งในสินทรัพย์ SDR ของไอเอ็มเอฟ จากที่ในปัจจุบัน SDR ประกอบด้วย เงินดอลลาร์สหรัฐฯ, เงินยูโร, เงินเยน, และเงินปอนด์อังกฤษ เท่านั้น

คณะกรรมการบริหารของไอเอ็มเอฟ ทำการทบทวนองค์ประกอบของตะกร้า SDR ทุกๆ 5 ปี โดยที่จะมีการทบทวนครั้งต่อไปในปีนี้

ลิปตันบอกว่า ไอเอ็มเอฟยินดีต้อนรับจีนที่ยื่นสมัครให้พิจารณารับเงินหยวนเข้า SDR ขณะที่คำแถลงของไอเอ็มเอฟกล่าวว่า จะทำงานอย่างใกล้ชิดกับผู้รับผิดชอบของฝ่ายจีนเกี่ยวกับเรื่องนี้ อีกทั้งเสริมด้วยว่า “การบรรจุเงินเหรินหมินปี้ (เงินหยวน) เข้าไปใน SDR ด้วยนั้น ไม่ใช่เป็นเรื่อง 'ควรหรือไม่' หากเป็นเรื่อง 'เมื่อใด' ต่างหาก”

ทางด้านหนังสือพิมพ์วอลล์สตรีทเจอร์นัลชี้ว่า สกุลเงินตราที่บรรจุอยู่ในตะกร้า SDR ปัจจุบันต่างเป็นสกุลเงินตราที่สามารถแลกเปลี่ยนได้อย่างเสรี (freely convertible) ซึ่งเงินหยวนไม่ได้อยู่ในข่ายนี้ ทว่าหลักเกณฑ์ที่ไอเอ็มเอฟกำหนดเอาไว้นั้น ก็ไม่ถึงกับบอกว่าต้องแลกเปลี่ยนได้อย่างเสรี โดยกล่าวเพียงว่า “สามารถใช้ได้อย่างเสรี” (freely usable) ขณะเดียวกัน พวกประเทศผู้ถือหุ้นรายใหญ่ๆ ของไอเอ็มเอฟ ซึ่งจะมีสิทธิมีเสียงมากที่สุดในการพิจารณาเรื่องนี้ ก็ยังมีท่าทีไม่ชัดเจนว่าจะรับเงินหยวนในปีนี้เลยหรือไม่ ดังนั้น นักเศรษฐศาสตร์บางคนจึงเห็นว่า การพิจารณากันในตอนนี้ไม่ใช่ชี้ขาดกันที่ด้านเทคนิคแล้ว หากแต่เป็นปัญหาการเมืองมากกว่า และที่สำคัญก็อยู่ที่ท่าทีของสหรัฐฯ ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ที่สุดของไอเอ็มเอฟ


กำลังโหลดความคิดเห็น