บีบีซี/เอเอฟพี - สื่อต่างชาติรายงานผู้อพยพจากบังกลาเทศและพม่ามากกว่า 700 คนได้รับความช่วยเหลือจากเรือลำหนึ่งที่กำลังจมนอกชายฝั่งของอินโดนีเซียในวันศุกร์(15พ.ค.) แต่เรืออีกลำถูกกองทัพเรือแดนอิเหนาผลักดันกลับ ส่วนสหประชาชาติตำหนิไทยที่ผลักดันเรือผู้อพยพออกจากน่านน้ำ ขณะที่ความพยายามแก้ปัญหาส่อแววยุ่งยาก หลังพม่าบ่งชี้ไม่ร่วมประชุมที่ไทยเป็นเจ้าภาพ
บีบีซีรายงานเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นในขณะที่องค์กรสิทธิมนุษยชน "ฮิวแมนไรท์วอชต์" เตือนว่าการโยนความรับผิดชอบกันไปมาในทะเลอันดามัน กำลังทำให้ชีวิตผู้อพยพหลายพันคนที่ล่องลอยอยู่กลางทะเลตกอยู่ในอันตราย
ชาวมุสลิมโรฮีนจา ต้องหลบหนีออกจากประเทศพม่า เนื่องจากพวกเขาไม่ได้รับการรับรองในฐานะพลเมืองของประเทศและเจอการตามประหัตประหารอย่างไม่หยุดย่อน ส่วนชาวบังกลาเทศที่อยู่กลางทะเลนั้น ลงเรือมาเพื่อแสวงหาชีวิตที่ดีกว่านอกประเทศบ้านเกิดเมืองนอน
สื่อชื่อดังของอังกฤษระบุว่าในทุกๆปีพวกเขาจะพยายามหลบหนีนอกฤดูกาลมรสุม แต่พวกลักลอบค้ามนุษย์ที่ลอบพาพวกเขาขึ้นฝั่งประเทศไทยหวาดผวาต่อการปราบปรามอย่างจริงจังของเจ้าหน้าที่รัฐเมื่อเร็วๆนี้ และตัดสินใจทิ้งผู้อพยพเหล่านั้นไว้กลางทะเลแทน
ผู้บัญชาการตำรวจในจังหวัดอาเจะห์ของอินโดนีเซียบอกกับเอเอฟพี เชื่อว่าเรือที่ได้รับความช่วยเหลือนั้น ถูกผลักดันออกมาจากน่านน้ำมาเลเซียโดยกองทัพเรือแดนเสือเหลือง เขาบอกต่อว่าเรือลำดังกล่าวกำลังจมและถูกลากขึ้นฝั่งโดยชาวประมง ขณะที่เจ้าหน้าที่ด้านการแพทย์เผยว่ามีอพยพ 8 คนบนเรือลำดังกล่าวมีป่วยหนักอาการสาหัส
นอกเหนือจากเรือทั้งสองลำข้างต้นแล้ว ชะตากรรมของผู้อพยพบนเรืออีกลำที่ตกค้างนอกชายฝั่งไทยก็ยังไม่ชัดเจน หลังถูกลากออกจากน่านน้ำของประเทศ
ในเรื่องนี้ สหประชาชาติในวันศุกร์(15พ.ค.) แสดงความตกใจต่อนโยบายของทางการไทย มาเลเซียและอินโนเซีย ที่จะผลักดันเรือผู้อพยพกลับออกไป "สิ่งที่ควรให้ความมสำคัญคือปกป้องชีวิต ไม่ใช่ทำให้พวกเขาต้องอยู่ในอันตรายกว่าเดิม" โฆษกข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งยูเอ็นกล่าว
โฆษกรายนี้ยังตำหนิการตัดสินใจของกองทัพเรือไทยที่ผลักดันเรือที่บรรทุกชาวมุสลิมโรฮีนจากว่า 300 คน ที่ลอยลำอยู่ใกล้เกาะหลีเป๊ะ ออกนอกน่านน้ำของไทยในค่ำคืนวันพฤหัสบดี(14พ.ค.) ว่า "ไม่สามารถเข้าใจได้" และ "ขาดมนุษยธรรม" แม้เจ้าหน้าที่ไทยอ้างว่าผู้อพยพเหลานั้นไม่ต้องการขึ้นฝั่งและหวังเดินทางต่อไปยังมาเลเซีย
นายโจนาธาน เฮด ผู้สื่อข่าวบีบีซีที่เดินทางไปยังเรือลำนี้เมื่อวันพฤหัสบดี(14พ.ค.) รายงานผู้อพยพเหล่านั้นเผยว่ามีกลุ่มชายในเครื่องแบบและติดอาวุธขึ้นไปบนเรือ ช่วยซ่อมเครื่องยนต์ที่ได้รับความเสียหาย มอบอาหารและพาเรือมุ่งหน้าไปทางใต้ นอกจากนี้ยังพบเห็นเฮลิคอปเตอร์นำอาหารมาหย่อนลงน้ำใกล้ๆเรือและเหล่าผู้อพยพก็ว่ายมาเอา
อย่างไรก็ตามผู้สื่อข่าวรายงานนี้บอกว่าหลังต้องล่องลอยอยู่กลางทะเลมาเกือบ 3 เดือน พบว่ามีผู้เสียชีวิตแล้วอย่างน้อยๆ 10 คน ส่วนคนอื่นๆต้องดื่มปัสสาวะประทังชีวิต และบางส่วนดูเหมือว่าจำเป็นต้องได้รับการรักษาทางการแพทย์
ยังไม่เป็นที่ชัดเจนว่ามีเรือที่อัดแน่นไปด้วยผู้คนกี่ลำที่ยังลอยลำอยู่กลางทะเล แต่กลุ่มสิทธิมนุษยชนคาดหมายว่าน่าจะมีผู้อพยพติดค้างหลายพันชีวิตเลยทีเดียว
ไทยได้แถลงจัดประชุมฉุกเฉินระดับภูมิภาคในวันที่ 29 พฤษภาคม แต่ความพยายามแก้ไขปัญหาของเหล่าชาติอาเซียนนั้นต้องพบกับอุปสรรค หลังพม่าเปรยอาจจะไม่เข้าร่วมการประชุมที่ไทยเป็นเจ้าภาพครั้งนี้
ผู้อำนวยการประจำสำนักประธานาธิบดีพม่า นายซอ เท แถลงวันศุกร์ (15 พ.ค.) ว่าพม่าอาจจะไม่เข้าร่วมการประชุมในครั้งนี้ เนื่องจากรับไม่ได้หากประเทศไทยเชิญพม่าเพียงเพื่อลดแรงกดดันจากปัญหาการค้ามนุษย์ที่ไทยกำลังเผชิญอยู่ เขากล่าวด้วยว่า ต้นตอของปัญหาดังกล่าวคือมีการค้ามนุษย์เพิ่มมากขึ้น และปัญหาเรื่องหลุมศพของผู้อพยพก็ไม่ใช่ปัญหาของพม่า แต่เป็นผลมาจากความอ่อนแอในการป้องกันการค้ามนุษย์และหลักนิติธรรมของไทยเอง