xs
xsm
sm
md
lg

In Pics :จับประท้วงฝ่าเคอร์ฟิวคืนที่ 5 หลังอัยการสหรัฐฯแถลงฟ้าผ่า “สั่งจับ 6 ตำรวจบัลติมอร์ยัดข้อหาผิวสีวัย 25” ที่คอหักตายหลังถูกจับ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


เอเจนซีส์ / ASTVผู้จัดการออนไลน์ – หลังจากเกิดเหตุการณ์จลาจลครั้งใหญ่ในบัลติมอร์ รัฐแมรีแลนด์ มีการจับกุมผู้ประท้วงจำนวนหนึ่งที่ฝ่าฝืนคำสั่งเคอร์ฟิวที่ยังประกาศใช้เพื่อรักษาความสงบในคืนที่ 5 หลังจากในวันศุกร์(1) แมริลีน มอสบี วัย 35 ปี อัยการรัฐบัลติมอร์ออกแถลงการจับกุมตัวตำรวจบัลติมอร์ทั้ง 6 นายที่ปฎิบัติหน้าที่ในขณะเกิดเหตุ โดยเธอระบุว่า เป็นการยัดข้อกล่าวหาให้กับเฟรดดี เกรย์ ชาวบัลติมอร์ หนุ่มแอฟริกันอเมริกันวัย 25 ปี ที่เป็นผู้บริสุทธิ แต่ต้องถูกไล่จับกุมด้วยข้อหาพกพามีดพับ ซึ่งไม่ผิดตามกฎหมายรัฐ แต่เกรย์กลับเสียชีวิตในอีก 1 สัปดาห์หลังจากอยู่ในรถตู้ตำรวจนาน 45 นาทีด้วยอาการกระดูกต้นคอหัก

NBC News สื่อสหรัฐฯ รายงานวันนี้(3)ว่า ในคืนที่ 5 หลังจากการประกาศเคอร์ฟิวห้ามออกจากเคหาในเวลาหลังจาก 22.00 น.ในบัลติมอร์ รัฐแมรีแลนด์ ที่คำสั่งนี้จะมีผลจนถึงวันอังคารนี้(5) มีการจับกุมผู้ฝ่าฝืนจำนวนหนึ่ง แต่ทว่าตำรวจบัลติมอร์ยังไม่เปิดเผยตัวเลขของผู้ที่ถูกจับ ซึ่งก่อนหน้านั้นมีการเดินขบวนอย่างสงบเพื่อแสดงความยินดีต่อการที่อัยการรัฐแมรีแลนด์ แมริลีน มอสบี วัย 35 ปี ได้ออกแถลงการณ์ประกาศตั้งข้อหาเจ้าหน้าที่ตำรวจบัลติมอร์ที่ปฎิบัติหน้าที่ในการจับกุมเฟรดดี เกรย์ หนุ่มผิวสีในพื้นที่วัย 25 ปี และต่อมาอีก 1 สัปดาห์หลังจากนั้นเกรย์เสียชีวิตในขณะที่อยู่ในโคม่าด้วยอาการกระดูกต้นคอหัก ซึ่งมอสบีชี้ว่า การเสียชีวิตของมอสบี “เป็นการฆาตกรรม”

สื่อสหรัฐฯยังรายงานเพิ่มเติมว่า มีพยานเห็นว่ามีผู้หญิงอย่างน้อย 3 คน และผู้ชายอีกจำนวน 2 คนถูกจับกุมนำขึ้นรถตู้ตำรวจท้องที่ถนนเพนซิลวาเนีย และถนนอร์ทเอเวนิว ใกล้กับร้านขายยาที่มีสาขาทั่วสหรัฐฯ CVS ที่ถูกเผาในการจลาจลวันจันทร์(27)

นอกจากนี้ยังพบตำรวจบัลติมอร์กำลังลากตัวชายผู้หนึ่งหลังจากเขาถูกจับในเวลาหลัง 22.00 น.ไปเล็กน้อย รวมไปถึงตำรวจได้ใช้สเปรย์พริกไทยกับผู้ประท้วงที่ฝ่าฝืนคำสั่งห้ามออกนอกบ้าน

ซึ่งในเวลา 23.00 น.NBC News รายงานว่าแยกถนนเพนซิลวาเนียและถนนนอร์ทเอเวนิวว่างเปล่า

ด้านองค์กรสิทธิมนุษยชนรัฐแมรีแลนด์ The American Civil Liberties Union of Maryland ได้ออกแถลงการณ์ในวันเสาร์(2) เรียกร้องให้มีการยกเลิกประกาศใช้เคอร์ฟิว พร้อมประกาศว่า การคงอยู่ของมาตรการห้ามออกนอกบ้านไม่ต่างอะไรกับการไม่ให้ใช้สิทธิประชาชนสหรัฐฯข้อ 1ตามกฎหมายรัฐธรรมนูญอเมริกาที่อนุญาตให้สามารถชุมนุมได้อย่างสันติ

ทั้งนี้ในคำแถลงของมอสบีในการตั้งหมายจับตำรวจบัลติมอร์ทั้ง 6 นายนั้น เธอระบุว่า เจ้าหน้าที่เหล่านี้ประมาทขั้นร้ายแรงจนทำให้เกรย์อยู่ในอาการโคม่า และทำให้เสียชีวิตเวลาต่อมา ซึ่งตำรวจที่ถูกตั้งข้อกล่าวหาได้รับการประกัน และถูกปล่อยตัวในบ่ายวันศุกร์(1)

และในคำแถลงการณ์ยังระบุว่า ตามกฎหมายของรัฐบัลติมอร์ อนุญาตให้พกพามีดพับแบบธรรมดาได้หากเพราะไม่ใช่มีดพกแบบสปริงที่ใบมีดออกมาโดยอัตโนมัติ และการบาดเจ็บของเกรย์ที่เกิดจากระดูกคอร้าว และทำให้เกรย์โคม่าและเสียชีวิต ซึ่งในระหว่างการจับกุมที่ข้างถนน เกรย์ได้ร้องว่า “หายใจไม่ออก” และขอความช่วยเหลือ และในขณะที่ถูกนำตัวขึ้นรถตู้นั้นมีภาพปรากฎว่าหัวของเขาชนกับขอบประตูรถตู้ก่อนเดินเข้าไป และเกรย์สามารถใช้ขาเพียงข้างเดียวในขณะที่เดินเข้าไปเนื่องจากถูกเจ้าหน้าที่ใช้กำลังในระหว่างการจับกุม

และในคำแถลงการณ์ของอัยการรัฐแมรีแลนด์ ระบุว่าเกรย์ได้ร้องขอความช่วยเหลือทางด้านการแพทย์อีกหลังจากนั้น แต่ตำรวจที่ปฎิบัติหน้าที่เพิกเฉย นอกจากนี้ในระหว่างการเดินทางไปยังสถานีตำรวจเพื่อนำตัวไปฝากขังนั้น ได้พบว่าในรายงานการจับกุมได้มีการปกปิดการจอดรถนอกเหนือจากที่ได้แจ้งไว้

และมอสบียังแถลงต่อว่า การเสียชีวิตของเกรย์เกิดขึ้นมาจากการที่เขาถูกใส่กุญแจมือ และกุญแจล่ามเท้า รวมไปถึงการที่นำตัวเข้าไปในรถตู้และไม่รัดเข็มขัดนิรภัยให้กับเกรย์ในระหว่างการเดินทาง ซึ่งเกรย์ถูกพบหมดสติหลังจากรถตู้เดินทางไปถึงสถานีตำรวจ ซึ่งใช้เวลาราว 45 นาที และมีอาการหัวใจหยุดเต้นในเวลาต่อมา ก่อนที่จะมีอาการโคม่าและเสียชีวิตในอีก 1 สัปดาห์หลังจากนั้น

ทั้งนี้มีหลายฝ่ายในสหรัฐฯเห็นว่า ตำรวจสหรัฐฯมีปัญหาในการใช้อำนาจในการจับกุมผู้ต้องสงสัย และมีกฎหมายปกป้องเจ้าหน้าที่ซึ่งเห็นชอบให้ใช้กำลังตามดุลย์พินิจ เช่น สามารถยิงผู้ที่กำลังถูกจับกุมได้ถึงแม้จะมีมีดปอกผลไม้เพียงเล่มเดียวหากคิดว่าเจ้าหน้าที่ซึ่งมีอาวุธปืนคิดว่าตนเองมีภัยถึงแก่ชีวิต

นอกจากนี้ชุมชนแอฟริกันอเมริกันในสหรัฐฯให้ความเห็นว่า เกรย์จะไม่เสียชีวิตหากตำรวจสหรัฐฯปฎิบัติกับเกรย์เฉกเช่น "ปฎิบัติกับเพื่อนมนุษย์คนหนึ่ง" และให้การช่วยเหลือด้านการแพทย์ทันทีเมื่อได้รับการร้องขอ








กำลังโหลดความคิดเห็น