เอเจนซีส์/เอพี/ASTVผู้จัดการออนไลน์ – ในวันที่ 2 ของการประท้วงเหตุเสียชีวิตของเฟรดดี เกรย์ ชาวบัลติมอร์ วัย 25 ปี ที่เสียชีวิตจากกระดูคอหักซึ่งเกิดขึ้นในขณะจับกุมนำไปสู่การประท้วงอย่างต่อเนื่อง ซึ่งล่าสุดยังมีการปะทะระหว่างผู้ประท้วงจำนวนราว 100 – 200 คนที่ยังคงอยู่บนถนนท่ามกลางการรักษาความสงบอย่างเข้มงวดของทหารแนชันแนลการ์ดจำนวน 2,000 นายและตำรวจหน่วย SWATของรัฐอีก 1,000 นาย ตามประกาศเคอร์ฟิว 22.00 น. และมีการปะทะเกิดขึ้น ทำให้ยังมีแก๊สน้ำตา ระเบิดควัน และกองไฟที่ถูกจุดเป็นหย่อมๆบนถนนในคืนวานนี้(28) ในขณะที่สื่อขวาจัดสหรัฐฯ ฟ็อกซ์นิวส์ ยังคงตั้งคำถาม “หากเฟรดดี เกรย์ ไม่กระทำผิด ย่อมไม่มีเหตุผลที่จะวิ่งหนีตำรวจ” ทำให้สถานการณ์ในสหรัฐฯที่มีความแตกต่างระหว่างสีผิวและความสัมพันธ์ระหว่างตำรวจสหรัฐฯที่ส่วนใหญ่ยังเป็นคนผิวขาวและแอฟริกันอเมริกันยังมีความยากลำบากต่อไป
เมื่อวานนี้(28)ผู้ว่าการรัฐแมรีแลนด์ แลร์รี โฮแกน (Larry Hogan) ได้ออกคำสั่งประกาศเคอร์ฟิวในคืนที่ 2 ของเหตุการณ์ประท้วง 1 วันหลังจากพิธีศพของเฟรดดี เกรย์ ที่ห้ามออกจากคูหาหลังเวลา 22.00 น. พร้อมกับสั่งการให้ทหารแนชันแนลการ์ดประจำรัฐราว 2,000 นาย และตำรวจอีก 1,000 นายตรึงกำลังรักษาความสงบ ซึ่งโฮแกนประกาศเตือนอย่างขึงขันว่า “กองกำลังผสมที่ควบคุมพื้นที่นี้พร้อมจะทำหน้าที่ทันที และจะไม่อดทนต่อความรุนแรงและการปล้นสะดมที่จะเกิดขึ้น”
เดลีเมล สื่ออังกฤษรายงานวันนี้(29)ว่า 20 นาทีหลังจากเคอฟิวได้เริ่มต้นขึ้น ตำรวจที่อยู่ในชุดเกราะ SWATได้เคลื่อนเป็นแนวยาวประจันหน้ากับผู้ประท้วงราว 100 -200 คนที่ยังอยู่บนถนน และคนเหล่านั้นได้เริ่มปาขวดพลาสติกและขวดแก้วเข้าใส่เจ้าหน้าที่ พร้อมกับนอนราบลงกับพื้นถนนเพื่อขวางเจ้าหน้าที่แสดงอารยะขัดขืน
แต่ทว่ากองกำลังทหารและหน่วย SWAT เริ่มเข้าเคลียร์พื้นที่โดยการปาระเบิดควันและยิงกระสุนยางเข้าใส่กลุ่มผู้ประท้วง ซึ่งทำให้คนเหล่านั้นที่ส่วนใหญ่เป็นแอฟริกันอเมริกันขยับเขยื้อน แต่ทว่ายังมีผู้ประท้วงอีกบางส่วนที่ยังไม่ยอมเคลื่อนไหวออกจากผิวถนนทำให้ทางเจ้าหน้าที่ความมั่นคงสหรัฐฯตัดสินใจยิงระเบิดแก๊สน้ำตาเข้าใส่ฝูงคนเหล่านั้นอีก 4 ลูกอย่างต่อเนื่อง ซึ่งนักข่าวเอบีซีสหรัฐฯที่เกาะติดอยู่กับผู้ประท้วงถูกลูกหลง โดนแก๊สน้ำตา และนักข่าวหญิงรายนี้ได้รับการบอกให้หนีออกจากพื้นที่ปฎิบัติการ
สื่ออังกฤษยังรายงานเพิ่มเติมว่า ก่อนเวลาเที่ยงคืนถนนส่วนใหญ่ในบัลติมอร์ปราศจากผู้คนซึ่งเป็นเวลาเดียวกับที่ผู้บัญชาการตำรวจบัลติมอร์ แอนโธนี แบตต์ส (Anthony Batts) ออกแถลงข่าว ซึ่งแบตต์สให้สัมภาษณ์ว่า ได้จับกุมผู้ประท้วงจำนวน 10 คนในวันนั้น โดย 2 คนถูกจับในข้อหาปล้นสะดมร้านค้า 1 คนถูกจับข้อหาขัดขวางการปฎิบัติงานเจ้าหน้าที่ และอีก 7 คนถูกจับในข้อหาฝ่าฝืนคำสั่งเคอร์ฟิว “สิ่งที่สำคัญที่สุดคือ ประชาชนชาวบัลติมอร์ปลอดภัย และเมืองยังคงมีเสถียรภาพซึ่งทางเรายังต้องการให้รูปแบบนี้ยังดำเนินต่อไป” แบตต์สกล่าว
ทั้งนี้มีเพียงกองทัพนักข่าวเท่านั้นที่ยังได้รับอนุญาตให้ยังคงอยู่ในพื้นที่การปะทะหลังเวลา 22.00 น. ไปแล้ว รวมไปถึงประชาชนที่ต้องไปทำงานช่วงกะกลางคืน และผู้ที่ต้องการเดินทางไปโรงพยาบาลเท่านั้น
ในขณะที่คืนวันที่ 2 ของการประท้วง ฟ็อกนิวส์ สื่อขวาจัดของสหรัฐฯได้ส่งทีมนักข่าวเข้าไปเกาะติดสถานการณ์ด้วยเช่นกัน ในรายงาน ฮานนิตาโชว์ ของ ณอน ฮานนิตา นักจัดรายการชื่อดังประจำช่องฟ็อกส์นิวส์ได้ตั้งคำถามเชิงยั่วยุกับผู้ถูกสัมภาษณ์ว่า หากต้นเรื่อง เฟรดดี เกรย์ ไม่ได้กระทำผิดอะไร มีความจำเป็นเช่นไรที่หนุ่มผิวสีวัย 25 ปีต้องวิ่งหนีเจ้าหน้าที่ตำรวจสหรัฐฯ ซึ่งทำงานอย่างยากลำบากโดยเฉพาะในชุมชนที่อัตราอาชญากรรมสูง เช่น ชุมชนผิวสี ที่ได้ขึ้นชื่อว่า แอฟริกันอเมริกันฆ่าและก่ออาชญากรรมกับพวกพ้องของตนเองในชุมชนตนเอง
ซึ่งในความเห็นของนักจัดรายการช่องขวาจัดนี้ ฮานนิตาเชื่อว่าตำรวจสหรัฐฯมีความจำเป็นที่ต้องใช้ความเข้มงวดในการรักษาความสงบในประเทศ และหลายครั้งนำมาสู่ความตายของผู้ต้องสงสัยซึ่งส่วนใหญ่เป็นคนผิวสี และเป็นคำถามว่า เหตุใดฟ็อกส์นิวส์และฮานนิตาจึงสนับสนุนให้ตำรวจสหรัฐฯที่มีกฎหมายปกป้องในการกระทำหน้าที่พร้อมกับยุทโธปกรณ์ที่เสมือนกองทัพขนาดย่อมจึงยอม “ให้สิทธิ์ในการฆ่า” แก่ผู้ต้องสงสัยที่กระทำเพียงแค่วิ่งหนีหลังจากสบตาโดยไม่ทราบว่าคนผู้นั้นวิ่งหนีไปเพราะเหตุใด และเป็นสิ่งยุติธรรมหรือไม่ที่สื่อขวาจัดสหรัฐฯจะตัดสินว่า เป็นการสมควรแก่เหตุในการใช้กำลังกับผู้ต้องสงสัยโดยเฉพาะแอฟริกันอเมริกัน
อย่างไรก็ตามก่อนหน้านี้ฟ็อกนิวส์ได้เคยตั้งคำถามถึงความน่าเชื่อถือของเกรย์ในแง่ที่ว่า ชาวบัลติมอร์ผิวสีวัย 25 ปีนี้มีอาชีพเป็นหลักแหล่งหรือไม่
และในการนำเสนอข่าวของฟ็อกส์นิวสยังชี้ว่า การรวมตัวประท้วงของชนผิวสีในบัลติมอร์เกิดขึ้นทั้งๆที่ยังไม่ทราบข้อเท็จจริงในการเสียชีวิตของเกรย์และนำไปสู่การก่อการจลาจลในที่สุด แต่ทว่าในการให้สัมภาษณ์ของผู้ประท้วงจำนวนหนึ่งของสื่อ MSNBC ที่มีแนวทางหัวก้าวหน้า ผู้ประท้วงต่างข้องใจในข้อเท็จจริงการเสียชีวิตของเกรย์และต้องการทราบว่าแท้จริงแล้วนั้นเกิดอะไรขึ้นกับเกรย์ในระหว่างที่เขาถูกควบคุมตัวอยู่ในรถตู้ในวันที่ 12 เมษายน 2015 และจนทำให้เขาได้รับบาดเจ็บสาหัสขั้นโคมา และเสียชีวิตในเวลาต่อมาด้วยอาการคอหัก
ซึ่งนักจัดรายการของ MSNBC ระบุว่าในขณะนี้ยังไม่มีการแถลงถึงข้อเท็จจริงในการเสียชีวิตของเกรย์อย่างเป็นทางการ และยังไม่มีใครทราบว่าเกิดอะไรขึ้นกับหนุ่มชาวบัลติมอร์วัย 25 ปีผู้นี้