เอเจนซีส์ - สวิตเซอร์แลนด์แดนแห่งนาฬิกา และช็อกโกแลต เป็นประเทศที่ผู้คนใช้ชีวิตอย่างมีความสุขที่สุดในโลก ตามรายงาน “World Happiness 2015” จัดทำโดยเครือข่ายทางออกเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน (SDSN) ในสังกัดองค์การสหประชาชาติ ขณะที่ไทยติดอันดับ 34 และสิงคโปร์อยู่ในลำดับที่ 24 สูงสุดในกลุ่มอาเซียน
กลุ่มประเทศที่ติด Top 10 รองมาจากสวิตเซอร์แลนด์ ได้แก่ ไอซ์แลนด์ เดนมาร์ก นอร์เวย์ แคนาดา ฟินแลนด์ เนเธอร์แลนด์ สวีเดน นิวซีแลนด์ และออสเตรเลีย ส่วนท้ายตารางตกเป็นของกลุ่มประเทศที่ยากจน หรือเผชิญพิษสงครามกลางเมืองอย่างโตโก บุรุนดี เบนิน รวันดา และซีเรีย
รายงานเวิลด์แฮปปีเนส เป็นการสรุปผลสำรวจระดับความสุขของประชากรใน 158 ประเทศทั่วโลก โดยมุ่งหมายที่จะกระตุ้นให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในเชิงนโยบายของรัฐ
ผลวิจัยชิ้นนี้อาศัยข้อมูลการจัดอันดับของแกลลัป เวิลด์ โพล โดยนำตัวแปรอื่นๆ มาวิเคราะห์ร่วมด้วย เช่น จีดีพีต่อหัวประชากร อายุ ดัชนีคอร์รัปชัน และเสรีภาพทางสังคม
“ความสุขของพลเมืองกำลังถูกมองว่าเป็นดัชนีชี้วัดความก้าวหน้าทางสังคม และเป้าหมายของนโยบายสาธารณะ” รายงานระบุ
“ปัจจุบันมีฝ่ายบริหารทั้งระดับประเทศและท้องถิ่นจำนวนมากขึ้นที่หันมาใช้ข้อมูลความสุขในการวิจัย และคิดค้นนโยบายที่จะช่วยให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดี”
เจฟฟรีย์ แซกส์ ผู้อำนวยการสถาบันโลกแห่งมหาวิทยาลัยโคลัมเบียซึ่งเป็นหนึ่งในคณะผู้วิจัย ระบุว่า รายชื่อ 13 อันดับแรกไม่แตกต่างจากเมื่อปีก่อน เพียงแต่สลับตำแหน่งกันบ้าง ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าความสุขไม่ได้ขึ้นอยู่กับเศรษฐกิจที่มั่งคั่งเท่านั้น แต่ยังรวมถึงกระบวนการสนับสนุนทางสังคมและรัฐบาลที่ซื่อสัตย์ตรวจสอบได้ด้วย
สหรัฐอเมริกาคว้าตำแหน่งประเทศที่มีความสุขอันดับ 15 ของโลก แต่ยังเป็นรองอิสราเอล (11) และเม็กซิโก (14) ส่วนอังกฤษอยู่ในอันดับที่ 21 ตามมาด้วยฝรั่งเศส (29) และเยอรมนี (26)
ญี่ปุ่นและเกาหลีใต้อยู่อันดับที่ 46 และ 47 เรียงกันมา ในขณะที่รัสเซียติดอันดับ 64 ส่วนมหาอำนาจยักษ์ใหญ่ของเอเชียอย่างจีนอยู่ในลำดับที่ 84
10 ประเทศที่มีดัชนีความสุขต่ำที่สุดในโลกได้แก่ อัฟกานิสถาน ซีเรีย โตโก บุรุนดี เบนิน รวันดา บูร์กินาฟาร์โซ ไอเวอรีโคสต์ กินี และชาด
ที่น่าแปลกใจคือกรณีของอิรัก แม้จะเผชิญภัยสงครามแต่ประชาชนยังคงมีความสุขเป็นอันดับ 112 ของโลก เหนือกว่าแอฟริกาใต้ (113) อินเดีย (117) เคนยา (125) และบัลแกเรีย (134)
สิงคโปร์ติดอันดับที่ 24 สูงที่สุดในกลุ่มอาเซียน รองลงมา คือ ไทย (34) มาเลเซีย (61) อินโดนีเซีย (74) เวียดนาม (75) ฟิลิปปินส์ (90) ลาว (99) พม่า (129) และกัมพูชา (145)