xs
xsm
sm
md
lg

‘ตำรวจจีน’จับผู้ประท้วงต่อต้านมลพิษอย่างน้อย10คนที่‘กวางตุ้ง’

เผยแพร่:   โดย: วิทยุเอเชียเสรี

(เก็บความจากเอเชียไทมส์ www.atimes.com)

Police detain ‘at least 10′ pollution protesters in China’s Guangdong
Author: Radio Free Asia
15/04/2015

เจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบในมณฑลกวางตุ้งทางตอนใต้ของจีน ได้จับกุมคุมขังประชาชนไปอย่างน้อยที่สุด 10 คน ภายหลังเกิดเหตุปะทะกันระหว่างตำรวจกับชาวบ้านท้องถิ่นซึ่งกำลังประท้วงคัดค้านมลพิษ ที่ถูกระบุว่าปล่อยออกมาจากโรงงานเหล็กซึ่งตั้งอยู่ใกล้เคียง ทั้งนี้เป็นคำบอกเล่าของพวกชาวบ้านที่เป็นชาติพันธุ์ “เย้า” ของหมู่บ้านต้าอิง ใกล้ๆ เมืองชิงหยวน กับทางวิทยุเอเชียเสรี

เจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบในมณฑลกวางตุ้งทางตอนใต้ของจีน ได้จับกุมคุมขังประชาชนไปอย่างน้อยที่สุด 10 คน ภายหลังเกิดเหตุปะทะกันระหว่างตำรวจกับชาวบ้านท้องถิ่นซึ่งกำลังประท้วงคัดค้านมลพิษ ที่ถูกระบุว่ามาจากโรงงานเหล็กซึ่งตั้งอยู่ใกล้เคียง ชาวบ้านที่เป็นชาติพันธุ์ส่วนน้อยของหมู่บ้านต้าอิง (Daying) ใกล้ๆ เมืองชิงหยวน (Qingyuan) ระบุเมื่อวันพุธ (15 เม.ย.)

นอกจากนั้น ชาวบ้านเหล่านี้ซึ่งเป็นชาติพันธุ์ “เย้า” (Yao) บอกกับวิทยุเอเชียเสรี (RFA) ด้วยว่า ยังมีผู้ได้รับบาดเจ็บอย่างน้อยที่สุด 10 คน หลังจากทางการจัดส่งกำลังตำรวจปราบจลาจลเข้าขับไล่ฝูงชนผู้ประท้วง ซึ่งได้ปิดกั้นทางเข้าออกโรงงานผลิตภัณฑ์อุปกรณ์ท่อเหล็ก หมิงเฟิง (Mingfeng Pipe Fittings Products) แห่งนั้นมาหลายวันแล้ว

“พวกเขาทำราวกับว่ากำลังไล่ติดตามอาชญากร” ชาวบ้านผู้ที่มีนามว่า ไห่ ซู (Hai Shu) บอก และยืนยันว่า “มีคนเยอะแยะเลยที่เห็นตำรวจทุบตีคนแก่คนหนึ่งซึ่งมีอายุเกิน 60 ปีแล้ว”

“พวกเขาล็อกคนแก่คนนี้ลงนอนกับพื้นและช่วยกันจับตัวเอาไว้อย่างแน่นหนาจนดิ้นไม่ออก เหมือนกับว่าเขาเป็นคนต้องสงสัยว่าเป็นอาชญากร ทำให้คนแก่คนนี้บาดเจ็บตาปูดตาเขียว มีเลือดกลบจมูกกลบหน้า” ไห่ เล่าต่อ

“พวกเขา 4 คนช่วยกันลากคนแก่คนนี้ไปขึ้นรถของพวกเขา และเตะเอาๆ ทั้งที่ใส่รองเท้าบู๊ตเพื่อให้คนแก่คนนี้นอนลง คนแก่คนนี้พยายามอยู่นิ่งกับที่ไม่ยอมเคลื่อนไหวไปไหนแม้แต่นิดเดียว” เขาบอก

ชาวบ้านกล่าวว่า มลพิษจากโรงงานเหล็กแห่งนั้นซึ่งตั้งอยู่ในตำบลเหยาอัน (Yao'an) ที่อยู่ใกล้เคียงหมู่บ้าน เพิ่มทวีความเลวร้ายยิ่งขึ้นเรื่อยๆ นับตั้งแต่โรงงานแห่งนี้เปิดดำเนินการเมื่อไม่กี่ปีก่อน

มีเจ้าหน้าที่สิ่งแวดล้อมไปตรวจเยี่ยมพื้นที่มาแล้วหลายครั้ง และได้นำเอาตัวอย่างต่างๆ กลับไปทดสอบด้วย ทว่าไม่เคยมีการแถลงผลให้สาธารณชนรับทราบเลย พวกเขาเล่าต่อ

“มีอยู่หมู่บ้านหนึ่งซึ่งน้ำไม่พอใช้ ชาวบ้านก็เลยต้องไปใช้น้ำจากแม่น้ำ ปรากฏว่ามีถึง 60 คนทีเดียวเกิดอาการท้องร่วงและอาเจียน” ไห่ กล่าว

“นอกจากนั้น ไข่เป็ดทั้งหมดแถวๆ นี้ที่อยู่ใกล้ๆ กับแม่น้ำ ทุกฟองเลยข้างในจะเป็นสีแดงเข้มมาก”

ไห่บอกว่าพวกชาวบ้านต่างสงสัยว่าโรงงานกำลังปล่อยของเสียที่มีพิษลงสู่แม่น้ำ ซึ่งอยู่ห่างจากโรงงานเพียงแค่ 10 เมตร

“โรงงานนี้ยังปล่อยควันที่มีสีและกลิ่นน่ากลัวมากออกมาเต็มท้องฟ้า พวกเราได้กลิ่นกันบ่อยๆ ในตอนกลางคืน” ไห่ กล่าว “มันทำให้พวกเราเกิดอาการคลื่นไส้ มันต้องมีพิษแน่นอนเลย”

แม่น้ำเน่าเสียหนัก

ชาวบ้านคนที่สองซึ่งใช่แซ่ว่า “เหลียว” (Liao) เล่าว่า พวกชาวบ้านต่างแน่ใจว่าโรงงานแห่งนี้ได้ปล่อยของเสียมีพิษออกมาอยู่เสมอ จนทำให้แม่น้ำที่อยู่ใกล้ๆ เน่าเสียหนัก

“ผมไม่คิดว่าถ้ามีการตรวจสอบด้านสิ่งแวดล้อมกันจริงๆ แล้ว โรงงานนี้จะผ่านการทดสอบได้” เหลียว บอก “ถ้าโรงงานพวกนี้สามารถผ่านการทดสอบได้ พวกเขาก็คงไม่มาตั้งกันอยู่แถวนี้ซึ่งเป็นพื้นที่ห่างไกลเมืองใหญ่ๆ หรอก”

ทางด้านเจ้าหน้าที่ผู้หนึ่งซึ่งรับโทรศัพท์ที่ติดต่อเข้าไปยังสำนักงานรัฐบาลท้องถิ่นตำบลเหยาอัน กล่าวว่าโรงงานแห่งนี้ดำเนินการอยู่ในภายในกรอบกติกาตามกฎหมาย

“รัฐบาล (ท้องถิ่น) ถือเรื่องนี้เป็นเรื่องที่ต้องเอาจริงเอาจัง และเราก็กำลังเฝ้าติดตามเหตุการณ์นี้กันอยู่” เจ้าหน้าที่ผู้นี้กล่าว “แต่ผมคงพูดอะไรมากกว่านี้ไม่ได้ เพราะเรายังไม่ได้รับผลการทดสอบกลับมาเลย”

สำหรับการติดต่อทางโทรศัพท์กับทางโรงงานหมิงเฟิงนั้น ถึงแม้พยายามหมุนไปครั้งแล้วครั้งเล่าในระหว่างชั่วโมงทำการของวันพุธ (15) แต่ทุกครั้งก็ไม่มีผู้รับสาย จากข้อมูลที่เผยแพร่ทางออนไลน์ระบุว่า โรงงานแห่งนี้ซึ่งมีพื้นที่ 20,000 ตารางเมตร เริ่มเปิดดำเนินการในปี 2009 และผลิตชิ้นส่วนอุปกรณ์ที่ทำจากเหล็กหล่อหลายประเภท

ชาวบ้านที่แซ่ฐัน (Tan) รายหนึ่ง เล่าว่า น้ำในแม่น้ำสายดังกล่าวส่งกลิ่นเหม็นหึ่งน่าสะอิดสะเอียน และน้ำที่ตักจากบ่อน้ำใกล้เคียง คนที่ดื่มเข้าไปก็เจ็บป่วยด้วยอาการโรคทางเดินอาหารอย่างรุนแรง

“เรื่องนี้เกิดขึ้นที่หมู่บ้านซึ่งอยู่ถัดจากหมู่บ้านของเรา” ฐัน กล่าว “หลังจากชาวบ้านดื่มน้ำในบ่อเข้าไป พวกเขาต่างก็อาเจียนและท้องร่วงเป็นแถว”

“เราอยู่กันที่นี่เราก็ปลูกข้าว เลี้ยงเป็ด แต่เมื่อเอาเป็ดหรือผลผลิตการเกษตรอื่นๆ ไปขาย คนซื้อต้องถามว่ามาจากไหน ถ้ารู้ว่ามาจากหมู่บ้านนี้ เขาก็จะไม่อยากซื้อ” เขาเล่าต่อ

“พวกเราทุกคนต่างต้องพึ่งพาหารายได้จากสิ่งที่เราปลูกเราเลี้ยง ดังนั้นตอนนี้เราจึงไม่มีทางอยู่รอดเลย” ฐัน บอก “ เราจึงต้องประท้วงคัดค้านกันเรื่อยไป แม้กระทั่งเมื่อลงท้ายทั้งหมู่บ้านจะต้องตายกันหมด”

เฝ้ารอผลทดสอบ

เจ้าหน้าที่รายหนึ่งซึ่งรับโทรศัพท์ที่หมุนเข้าไปในสำนักงานคุ้มครองสิ่งแวดล้อม ซึ่งตั้งอยู่ในเมืองเหลียนโจว (Lianzhou) ที่อยู่ใกล้ๆ กัน บอกว่าทางสำนักงานได้เก็บตัวอย่างไข่เป็ดจากเหยาอัน มาทำการทดสอบแล้ว

“ท้องที่ตรงนั้นมีปัญหามลพิษร้ายแรงหรือเปล่า ตอนนี้ยังตอบไม่ได้ เรายังต้องรอให้ผลทดสอบออกมาก่อน” เจ้าหน้าที่ผู้นี้กล่าว “เราไม่ขอพูดว่ามันมีมลพิษ และเราก็ไม่ขอพูดว่ามันไม่มีมลพิษ”

“คุณสามารถเดินทางมาที่นี่และพูดจากับพวกเราด้วยตัวเองได้เสมอ”

นอกจากกรณีซึ่งเกิดขึ้นที่กวางตุ้งนี้แล้ว เมื่อวันอังคาร (14 เม.ย.) ได้มีผู้ประท้วงที่โกรธแค้นหลายพันคนออกมาชุมนุมเดินขบวนกันตามท้องถนนของเมืองเน่ยเจียง (Neijiang) ในมณฑลเสฉวน ที่อยู่ภาคตะวันตกเฉียงใต้ของจีน เนื่องจากชาวบ้านไม่พอใจกันมากขึ้นเรื่อยๆ จากการที่มีก๊าซพิษรั่วไหลออกจากโรงงานถ่านหินโค้ก ซึ่งตั้งอยู่ใกล้ๆ พวกชาวบ้านท้องถิ่นบอกกับ RFA

ประเทศจีนเกิดกรณีการประท้วงของประชาชนเพิ่มขึ้นอย่างมากมาย สืบเนื่องจากระดับมลพิษทั้งทางอากาศและทางน้ำต่างเลวร้ายย่ำแย่ลง รวมทั้งเกิดกรณีอื้อฉาวชวนตื่นตะลึงทางด้านสาธารณสุขหลายต่อหลายกรณี ที่มีต้นสายปลายเหตุจากการปล่อยมลพิษโลหะหนักของกิจการเหมืองแร่และอุตสาหกรรม

พวกผู้ประท้วงและนักเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อมบอกว่า มีกระบวนการบิดเบือนปลอมแปลงกันอย่างกว้างขวาง ทั้งในเรื่องการทดสอบมลพิษ และการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม จึงทำให้แทบเป็นไปไม่ได้เลยที่จะติดตามกำกับตรวจสอบพวกอุตสาหกรรมท้องถิ่นซึ่งได้รับการหนุนหลังจากภาครัฐ

บรรดานักรณรงค์ด้านสิ่งแวดล้อมกล่าวด้วยว่า กฎหมายคุ้มครองสิ่งแวดล้อมของจีนนั้น มีเนื้อหาซึ่งสามารถใช้เป็นตัวอย่างที่ดีได้ ทว่าในทางปฏิบัติกลับแทบไม่มีการนำมาบังคับใช้อย่างถูกต้องเหมาะสมกันเลย

ข่าวนี้รายงานโดย ไห่ หนาน (Hai Nan) และ หว่อง ล็อกโต๋ (Wong Lok To) ทางวิทยุเอเชียเสรีภาคภาษากวางตุ้ง (RFA’s Cantonese Service) และ โดย หยัง ฟาน(Yang Fan) ทางวิทยุเอเชียเสรีภาคภาษาจีนกลาง (RFA’s Mandarin Service) แปลและเขียนเป็นภาษาอังกฤษโดย ลุยเซตตา มูดี (Luisetta Mudie)

วิทยุเอเชียเสรี (Radio Free Asia ใช้อักษรย่อว่า RFA) ก่อตั้งขึ้นโดยรัฐบัญญัติของรัฐสภาสหรัฐฯ และได้รับการสนับสนุนส่วนหนึ่งจากเงินให้เปล่าของรัฐบาลสหรัฐฯ ปัจจุบัน RFA เป็นผู้ดำเนินการสถานีวิทยุและบริการข่าวสารทางอินเทอร์เน็ต
กำลังโหลดความคิดเห็น