xs
xsm
sm
md
lg

‘จีน’มีโครงการอื่นใน‘เนปาล’ ไม่ใช่แค่‘รถไฟไฮสปีด’ลอด‘เอเวอร์เรสต์’

เผยแพร่:   โดย: เอเชีย อันเฮดจ์

(เก็บความจากเอเชียไทมส์ www.atimes.com)

China’s road to Kathmandu
Author: Asia Unhedged
13/04/2015

ผู้คนที่ตั้งข้อปรามาสข้องใจข้อเสนอเมื่อเร็วๆ นี้ของจีนที่จะสร้างเส้นทางรถไฟความเร็วสูงทิเบต-เนปาล โดยที่จะขุดอุโมงค์ยาวเจาะลอดใต้ภูเขาเอเวอเรสต์ด้วยนั้น สมควรที่จะมองดูโครงการขนาดใหญ่อื่นๆ ซึ่งปักกิ่งกำลังจะดำเนินการในประเทศแถบเทือกเขาหิมาลัยแห่งนี้ประกอบไปด้วย โปรเจ็กต์เหล่านี้มีทั้งเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำ และงานปรับปรุงถนนหนทาง ตลอดจนโครงสร้างพื้นฐานอื่นๆ

ประดาผู้คนที่ตั้งข้อปรามาสข้องใจข้อเสนอเมื่อเร็วๆ นี้ของจีนที่จะขุดอุโมงค์รางรถไฟความเร็วสูงลอดใต้ภูเขาเอเวอเรสต์ของเนปาล สมควรที่จะมองดูโครงการขนาดใหญ่อื่นๆ ซึ่งปักกิ่งกำลังจะดำเนินการในประเทศแถบเทือกเขาหิมาลัยแห่งนี้ประกอบไปด้วย

สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานเมื่อวันจันทร์ (13 เม.ย.) ว่า คณะกรรมการการลงทุนของเนปาลเพิ่งอนุมัติให้ บรรษัท ทรี กอร์เจส อินเตอร์ชั่นแนล คอร์ป (Three Gorges International Corp ) ของจีน ดำเนินการก่อสร้างโครงสร้างเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำแห่งใหม่ที่มีมูลค่า 1,600 ล้านดอลลาร์ได้หลังจากล่าช้าอยู่เป็นเวลายาวนาน โดยที่โปรเจ็กต์นี้จะกลายเป็นการลงทุนของต่างชาติที่มีมูลค่าสูงที่สุดของเนปาลทีเดียว เมื่อนับแยกกันเป็นแต่ละโครงการ

การเดินหน้าเช่นนี้ถูกจับจ้องด้วยสายตาระแวงระวังจากนิวเดลี ซึ่งมีรายงานว่ารู้สึกไม่สบายใจอยู่แล้ว จากการที่จีนกำลังพิจารณาที่จะสร้างอุโมงค์เจาะลอดข้ามภูเขาเอเวอเรสต์ โดยเป็นส่วนหนึ่งของเส้นทางรถไฟความเร็วสูงในเนปาล ซึ่งแต่ไหนแต่ไรมาอินเดียถือว่าเป็นพื้นที่เขตอิทธิพลของตน

การที่ปักกิ่งเพิ่มขยายบทบาทในเนปาลอย่างนี้ ยังบังเกิดขึ้นในจังหวะเวลาเดียวกับที่จีนกำลังเป็นตัวตั้งตัวตีผลักดันให้มีการจัดตั้งธนาคารเพื่อการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานเอเชีย (Asian Infrastructure Investment Bank หรือ AIIB) ตลอดจนดำเนินโครงการเส้นทางสายไหมสายใหม่อันแสนทะเยอทะยาน ซึ่งมุ่งเชื่อมโยงเอเชียกลางเข้ากับยุโรป

สำหรับเขื่อนไฟฟ้าพลังงานน้ำที่บรรษัทจีนเพิ่มได้รับอนุมัตินี้ จะก่อสร้างขึ้นบนแม่น้ำ เซติตะวันตก (West Seti river) ในภาคตะวันตกเฉียงเหนือของเนปาล โดยมีกำหนดเวลาแล้วเสร็จในช่วงประมาณปี 2021-2022 คาดหมายกันว่า เขื่อนแห่งนี้เมื่อเสร็จแล้วจะสามารถผลิตกระแสไฟฟ้าได้ 750 เมกะวัตต์ กานัชยัม โอจฮา (Ghanashyam Ojha) เจ้าหน้าที่คนหนึ่งของคณะกรรมการการลงทุนเนปาล บอกกับสำนักข่าวรอยเตอร์

ทั้งจีนและอินเดียต่างกำลังแข่งขันกัน เพื่อให้ได้สิทธิเข้าไปใช้ประโยชน์จากระบบแม่น้ำอันใหญ่โตกว้างขวางของเนปาล มาผลิตเป็นกระแสไฟฟ้าจากพลังน้ำ ยิ่งอินเดียด้วยแล้ว มีความกระหายเป็นพิเศษทีเดียวที่จะได้ไฟฟ้าจากเนปาลมาป้อนเศรษฐกิจซึ่งกำลังเติบโตขยายตัวของตน ทั้งนี้โครงการสร้างเขื่อนเพื่อผลิตไฟฟ้าพลังน้ำขนาดใหญ่ 2 โครงการของอินเดียในเนปาล ได้รับอนุมัติไปแล้วเมื่อปี 2014 และทั้งสองประเทศได้ลงนามในข้อตกลงจัดสรรแบ่งปันกระแสไฟฟ้าที่จะผลิตออกมาได้ ในเวลาเดียวกัน จีนก็กำลังปรับปรุงยกระดับถนนหนทางและโครงสร้างพื้นฐานอื่นๆ ในตลอดทั่วประเทศเนปาล

บริษัท ทรี กอร์เจส เป็นบริษัทผลิตไฟฟ้าพลังน้ำรายใหญ่ที่สุดของจีน และเป็นผู้กำกับดูแลโรงไฟฟ้าพลังน้ำแห่งใหญ่ที่สุดของโลก ซึ่งตั้งอยู่ตรงบริเวณ “สามโตรก” (Three Gorges) ของแม่น้ำแยงซีเกียง

หนังสือพิมพ์ไชน่า เดลี่ (China Daily) ของจีน เมื่อวันพฤหัสบดี (9 เม.ย.) ได้อ้างคำพูดของวิศวกรอาวุโสชาวจีนผู้หนึ่ง ซึ่งกล่าวว่า จีนวางแผนการที่จะจัดสร้างเส้นทางรถไฟไฮสปีดยุทธศาสตร์ความยาว 540 กิโลเมตร เชื่อมระหว่างเขตปกครองตนเองทิเบตของจีน กับเนปาล โดยที่จะมีการสร้างอุโมงค์ยาวเหยียดเจาะลอดใต้ภูเขาเอเวอเรสต์ด้วย

(จากคอลัมน์ Asia Unhedged ในเอเชียไทมส์)
กำลังโหลดความคิดเห็น