xs
xsm
sm
md
lg

ทางรถไฟไฮสปีดเจาะอุโมงค์ลอดเขาเอเวอเรสต์ ของ ‘จีน’ ทำให้ ‘อินเดีย’ ไม่พอใจ

เผยแพร่:   โดย: เอเชีย อันเฮดจ์

(เก็บความจากเอเชียไทมส์ www.atimes.com)

China’s ambitious Mt. Everest tunnel is unsettling India
Author: Asia Unhedged
09/04/2015

จีนกำลังวางแผนการที่จะสร้างเส้นทางรถไฟความเร็วสูง เชื่อมต่อระหว่างทิเบตกับเนปาล โดยที่จะมีการเจาะอุโมงค์ลอดใต้ภูเขาเอเวอเรสต์ (Mt. Everest) ด้วย หนังสือพิมพ์ของแดนภารตะบอกว่า ความเคลื่อนไหวเช่นนี้ของแดนมังกร “อาจก่อให้เกิดความตื่นตัวระแวงภัยขึ้นในอินเดีย ”

จีนกำลังวางแผนจัดทำและเดินหน้าโครงการอื่นๆ ด้วย นอกเหนือจากการสร้าง “เข็มขัดเศรษฐกิจเส้นทางสายไหมสายใหม่ (new Silk Road economic belt) ที่จะพาดผ่านครอบคลุมเอเชียกลางไปจนถึงยุโรป แต่ในบรรดาโครงการซึ่งมีการหยิบยกขึ้นมาเสนอกันเหล่านี้ มีอยู่โปรเจ็กต์หนึ่งซึ่งคงจะทำให้ชาติเพื่อนบ้านของจีนอย่างอินเดีย บังเกิดความโกรธกริ้ว

หนังสือพิมพ์ “อีโคโนมิก ไทมส์” (Economic Times) ของอินเดีย รายงานเมื่อวันพฤหัสบดี (9 เม.ย.) ว่า จีนวางแผนการที่จะสร้างเส้นทางรถไฟความเร็วสูงอันมีความสำคัญทางยุทธศาสตร์ เชื่อมต่อระหว่างทิเบตกับเนปาล โดยจะมีการเจาะอุโมงค์ลอดใต้ภูเขาเอเวอเรสต์ (Mt. Everest) หนังสือพิมพ์ของแดนภารตะฉบับนี้บอกว่า ความเคลื่อนไหวเช่นนี้ของแดนมังกร “อาจก่อให้เกิดความตื่นตัวระแวงภัยขึ้นในอินเดีย เกี่ยวกับการที่ยักษ์ใหญ่คอมมิวนิสต์รายนี้กำลังแผ่อิทธิพลเพิ่มขึ้นทุกทีในชาติเพื่อนบ้านอย่างเนปาล”

ในเวลาเดียวกัน ทางด้านหนังสือพิมพ์ “ไชน่า เดลี่” (China Daily) ของทางการจีน ในฉบับวันพฤหัสบดี (9 เม.ย.) เช่นเดียวกัน ได้รายงานข่าวโดยอ้างคำพูดของ หวัง เมิ่งซู (Wang Mengshu) ผู้เชี่ยวชาญคนหนึ่งของวิศวกรรมสถานแห่งประเทศจีน (Chinese Academy of Engineering) ซึ่งกล่าวว่า โครงการนี้กำลังคืบหน้าไปอย่างคึกคัก ถึงแม้มีอุปสรรคทางด้านวิศวกรรมจำนวนมาก

“การขยายเส้นทางรถไฟ ชิงไห่-ทิเบต ให้ตัดผ่านทิเบต ไปจนถึงชายแดนจีน-เนปาล ตามที่เสนอขึ้นมานี้ จะสามารถเพิ่มพูนการค้าทวิภาคีและการท่องเที่ยว เนื่องจากในปัจจุบันประเทศทั้งสองยังไม่มีเส้นทางรถไฟเชื่อมต่อกันเลย” รายงานของไชน่าเดลี่ บอก

โปรเจ็กต์สร้างเส้นทางรถไฟที่จะมีการเจาะลอดภูเขาเอเวอเรสต์ด้วยนี้ ในขณะนี้ยังคงมีรายละเอียดเพียงคร่าวๆ เท่านั้น เป็นที่คาดหมายกันว่าโครงการนี้จะเสร็จสิ้นสมบูรณ์ภายในปี 2020 ทว่ายังคงไม่มีการประมาณการต้นทุนค่าใช้จ่ายกันเลย

เส้นทางรถไฟสาย ชิงไห่-ทิเบต ระยะทาง 1,956 กิโลเมตร ซึ่งจีนสร้างเสร็จและเปิดเดินรถแล้วนั้น ก็มีการโหมประโคมข่าวว่าสามารถที่จะเชื่อมต่อส่วนอื่นๆ ของประเทศจีนเข้ากับเมืองลาซา เมืองเอกของทิเบต ตลอดจนดินแดนทิเบตที่อยู่เลยไกลไปกว่านั้น

ในทำนองเดียวกัน เส้นทางรถไฟลอดอุโมงค์และขบวนไฮสปีดเทรน ทิเบต-เนปาล นี้ เป็นที่คาดหมายกันว่าจะเพิ่มพูนการค้าทวิภาคีกับเนเปล โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านผลผลิตทางการเกษตร นอกจากนั้นเรื่องการท่องเที่ยวก็คาดหมายว่าจะได้ประโยชน์ด้วยเช่นกัน

“ปัญหาที่โดดเด่นชัดเจนของเส้นทางรถไฟสายนี้ก็คือ จะต้องมีการเปลี่ยนแปลงระดับความสูงไปตามเส้นทาง บางทีเส้นทางอาจจะต้องลอดผ่านภูเขาโชโมลังมา ซึ่งถ้าเป็นอย่างนั้น คนงานก็คงจะต้องขุดอุโมงค์ยาวมากกันหลายอุโมงค์เลย” ไชน่า เดลี่ อ้างคำพูดของ หวัง (โชโมลังมา Qomolangma เป็นชื่อเรียกภูเขาเอเวอเรสต์ ในภาษาทิเบต)

สภาพพื้นที่อันขรุขระสูงชันของเทือกเขาหิมาลัย ซึ่งเส้นทางรถไฟสายนี้ต้องตัดผ่านนั้น คาดกันว่าจะเป็นข้อจำกัดที่ทำให้ขบวนรถไฟไฮสปีดทำความเร็วสูงสุดได้เพียง 120 กิโลเมตรต่อชั่วโมง

ตามข่าวของไชน่า เดลี่ หวังระบุว่าการดำเนินโครงการนี้เป็นไปตามการขอร้องของฝ่ายเนปาล และจีนได้เริ่มเดินหน้างานในขั้นเตรียมการแล้ว

อีโคโนมิก ไทมส์ รายงานว่า โลสัง จัมชัน (Losang Jamcan) ประธานของเขตปกครองตนเองทิเบต (Tibet Autonomous Region เขตปกครองตนเองของจีนแห่งนี้มีฐานะเทียบเท่ามณฑล -ผู้แปล) ได้แจ้งต่อประธานาธิบดี ราม บารัม ยาเดฟ (Ram Baran Yadav) แห่งเนปาล ระหว่างที่เขาไปเยือนเมืองลาสา เมืองเอกของทิเบตเมื่อเดือนที่แล้วว่า จีนวางแผนการจะขยายเส้นทางรถไฟสายชิงไห่-ทิเบต ออกไปจนถึงเมืองเคอร์มัก (Kermug) ซึ่งเป็นเมืองระดับตำบลของจีนที่อยู่ใกล้พรมแดนเนปาลมากที่สุด โดยที่เมืองนี้ได้มีการก่อสร้างท่าขนส่งสินค้าชายแดนขึ้นมาแล้ว

หนังสือพิมพ์ของอินเดียฉบับนี้ยังกล่าวต่อไปว่า “นอกเหนือจากเนปาลแล้ว ก่อนหน้านี้จีนได้เคยประกาศแผนการที่จะขยายเครือข่ายเส้นทางรถไฟทิเบตของตนไปยังภูฏาน และ อินเดีย ด้วยเช่นกัน ระหว่างที่เขาไปเยือนเนปาลเมื่อไม่นานมานี้ รัฐมนตรีต่างประเทศ หวัง อี้ (Wang Yi) ของจีน ได้ขอให้พวกเจ้าหน้าที่ดำเนินการศึกษาความเป็นไปได้ ในการขยายเครือข่ายเส้นทางรถไฟทิเบต ไปจนถึงกรุงกาฐมาณฑุ ตลอดจนพื้นที่ซึ่งอยู่ไกลกว่านั้น

หู สือเซิง (Hu Shisheng) ผู้อำนวยการสถาบันความสัมพันธ์ระหว่างประเทศร่วมสมัยแห่งประเทศจีน (China Institute of Contemporary International Relations)บอกกับสื่อมวลชนของทางการก่อนหน้านี้ว่า จุดมุ่งหมายของทางรถไฟสายนี้ มีเพียงเพื่อปรับปรุงยกระดับเศรษฐกิจในท้องที่และชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน ทั้งนี้จีนกำลังยกระดับสายสัมพันธ์ที่มีอยู่กับเนปาล ถึงแม้มันจะสร้างความระคายเคืองให้แก่อินเดีย ก็ด้วยต้องการที่จะสกัดกั้นไม่ให้ชาวทิเบตใช้เส้นทางผ่านเนปาลเพื่อไปเข้าเฝ้า ทะไลลามะ ที่เมืองธรรมศาลา (Dharamshala)”

อีโคโนมิก ไทมส์ รายงานด้วยว่า เมื่อเร็วๆ นี้ปักกิ่งได้เพิ่มความช่วยเหลือประจำปีที่ให้แก่เนปาล เป็น 128 ล้านดอลลาร์ จากเดิมซึ่งให้เพียง 24 ล้านดอลลาร์

(จากคอลัมน์ Asia Unhedged ในเอเชียไทมส์)
กำลังโหลดความคิดเห็น