xs
xsm
sm
md
lg

สภามาเลย์ผ่าน กม.ต้านก่อการร้าย ตร.เผยผู้ต้องสงสัยเล็งตั้งรัฐอิสลาม

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


เอเจนซีส์ - รัฐสภามาเลเซียเร่งผ่านกฎหมายต่อต้านการก่อการร้ายฉบับใหม่ซึ่งให้อำนาจแบบครอบจักรวาลแก่เจ้าหน้าที่ปราบปรามเมื่อวันอังคาร (7 เม.ย.) ขณะที่ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติตีฆ้องร้องป่าวว่า ผู้ต้องสงสัย 17 คนที่กวาดจับได้เมื่อวันอาทิตย์ (5) ที่ผ่านมานั้น มีแผนการบุกค่ายทหารและสถานีตำรวจเพื่อชิงอาวุธ รวมทั้งยังจะปล้นธนาคาร และโจมตี “สถานที่ทางยุทธศาสตร์” ในนครหลวงกัวลาลัมเปอร์ ตลอดจนมุ่งหมายที่จะจัดตั้งรัฐอิสลามแบบกลุ่มไอเอสขึ้นในแดนเสือเหลือง

พระราชบัญญัติป้องกันการก่อการร้ายฉบับใหม่ ที่ผ่านความเห็นชอบของสภาผู้แทนราษฎรแดนเสือเหลือง ด้วยคะแนน 79 ต่อ 60 เสียง ในเวลาที่ล่วงเลยเข้าสู่วันอังคาร (7) ภายหลังการอภิปรายยาวเหยียด 15 ชั่วโมง มีเนื้อหาให้อำนาจเจ้าหน้าที่ในการควบคุมตัวผู้ต้องสงสัยกระทำความผิดก่อการร้ายโดยไม่ต้องตั้งข้อหาส่งฟ้องศาล รวมถึงสามารถระงับหรือเพิกถอนหนังสือเดินทางของผู้ต้องสงสัยไม่ว่าสัญชาติใด ที่เชื่อว่าเกี่ยวข้องหรือให้การสนับสนุนการก่อการร้าย

ภายหลังรัฐบาลเปิดเผยร่างกฎหมายฉบับนี้เมื่อช่วงสิ้นเดือนมีนาคมที่ผ่านมา กลุ่มการเมืองฝ่ายตรงข้ามกับรัฐบาล ตลอดจนกลุ่มเคลื่อนไหวด้านกฎหมายและสิทธิพลเมือง ต่างพากันคัดค้านและเรียกร้องให้ถอนกลับไป โดยเตือนว่ารัฐบาลมาเลเซียที่มีพรรคสหมาเลย์แห่งชาติ (อัมโน) เป็นแกนนำ และผูกขาดอำนาจมาอย่างยาวนาน จะนำกฎหมายนี้ไปใช้ในทางมิชอบ เหมือนที่เคยเกิดขึ้นในอดีต ตอนที่มีพระราชบัญญัติให้อำนาจครอบจักรวาลแก่เจ้าหน้าที่เช่นนี้

เอ็น. เซอเรนดรัน สมาชิกรัฐสภาฝ่ายค้านระบุว่า การอนุญาตให้ควบคุมตัวผู้ต้องสงสัยไม่มีกำหนดโดยไม่ต้องไต่สวน จะเปิดโอกาสให้รัฐบาลใช้อำนาจโดยมิชอบและถือเป็นการบ่อนทำลายประชาธิปไตยขั้นรุนแรง

อย่างไรก็ดี รัฐบาลยืนยันมาตลอดว่าจะไม่นำกฎหมายฉบับนี้ไปจัดการกับมุมมอง “ทางการเมือง” รวมทั้งย้ำเตือนเกี่ยวกับภัยคุกคามในการก่อการร้ายที่มีความเป็นไปได้สูง โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังการแผ่ขยายอิทธิพลของกลุ่ม “รัฐอิสลาม” (ไอเอส) ทั้งนี้ทางการแดนเสือเหลืองระบุว่า มีพลเมืองมาเลเซียอย่างน้อยหลายสิบคน เดินทางไปเข้าร่วมกับไอเอสเพื่อสู้รบทำสงครามในซีเรียและอิรักด้วยความสมัครใจ

ท่ามกลางการถกเถียงเผ็ดร้อนเกี่ยวกับกฎหมายฉบับใหม่นี้ คอลิด อาบู บาการ์ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติแดนเสือเหลือง ได้ออกคำแถลงในวันอังคาร (7) ให้รายละเอียดเกี่ยวกับการจับกุมผู้ต้องสงสัย 17 คนเมื่อวันอาทิตย์ โดยเขาระบุว่า ผู้ต้องสงสัยเหล่านี้ที่มีอายุระหว่าง 14-49 ปี มีแผนลักพาตัวบุคคลสำคัญ บุกสถานีตำรวจและค่ายทหารเพื่อชิงอาวุธ ปล้นธนาคารเพื่อหาเงินมาใช้ซื้ออาวุธจากกลุ่มก่อการร้ายอื่นๆ ในประเทศเพื่อนบ้าน และทำการก่อการร้ายในเมืองหลวงกัวลาลัมเปอร์ ตลอดจนในเมืองปุตราจายา ซึ่งอยู่ชานกัวลาลัมเปอร์และเป็นที่ตั้งศูนย์ราชการของมาเลเซีย ทั้งนี้โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อจัดตั้งรัฐอิสลามในมาเลเซีย และมีไอเอสเป็นต้นแบบ

คำแถลงซึ่งบอกว่าสามารถจับกุมผู้ต้องสงสัยเหล่านี้ได้ในกรุงกัวลาลัมเปอร์และที่รัฐเกดะห์ ซึ่งอยู่ทางตอนเหนือของประเทศ ยังแจกแจงว่า สมาชิกอาวุโสของกลุ่มนี้คือชายคนหนึ่งที่เคยถูกจับกุมในปี 2011 ภายใต้กฎหมายความมั่นคงภายใน และเคยไปฝึกการสู้รบทั้งในอัฟกานิสถานและอินโดนีเซีย ขณะที่อีกคนหนึ่งเป็นครูสอนศาสนาวัย 38 ปี โดยทั้งคู่เพิ่งเดินทางกลับจากซีเรียเมื่อเดือนธันวาคมที่ผ่านมา

สำหรับผู้ต้องสงสัยที่เหลือเป็นเจ้าหน้าที่กองทัพบก 2 คน เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย 1 คนที่สามารถเข้าถึงอาวุธต่างๆ และเป็นนักรบชาวอินโดนีเซีย 1 คนที่มีทักษะความชำนาญเรื่องอาวุธ

ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติมาเลเซียระบุด้วยว่า การจับกุมครั้งล่าสุดทำให้ยอดรวมผู้ต้องสงสัยเกี่ยวข้องกับไอเอสที่ถูกควบคุมตัวในมาเลเซียในรอบปีที่ผ่านมาเพิ่มเป็น 92 คน

อย่างไรก็ตาม ฝ่ายตรงข้ามทางการเมืองต่างพากันชี้ว่า รัฐบาลไม่ได้เปิดเผยรายละเอียดเกี่ยวกับการจับกุมผู้ต้องสงสัยเหล่านั้นหรือระดับภัยคุกคามในการก่อการร้ายที่อ้างไว้ นอกจากนั้นพวกเขายังแสดงความหวั่นเกรงว่า กฎหมายต่อต้านการก่อการร้ายฉบับใหม่นี้ จะถูกนำมาใช้แบบเดียวกับกฎหมายความมั่นคงภายในที่เคยใช้กันอยู่ในอดีต และกลายเป็นเครื่องมือของรัฐบาลสำหรับการขังลืมศัตรูทางการเมือง ตลอดจนผู้ที่วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล

กฎหมายความมั่นคงภายในฉบับดังกล่าว ถูกยกเลิกในปี 2012 หลังเผชิญกระแสกดดันให้ปฏิรูปการเมือง

ทางด้านฟิล โรเบิร์ตสัน รองผู้อำนวยการฮิวแมน ไรต์ส วอตช์ในเอเชีย ก็ชี้ว่า การออกกฎหมายฉบับใหม่นี้ ถือเป็นการถอยหลังด้านสิทธิมนุษยชนในมาเลเซีย

ทว่า ซาฮิด ฮามิดี รัฐมนตรีมหาดไทยยืนยันว่า กฎหมายฉบับใหม่จำเป็นต่อการป้องกันการแผ่ขยายอิทธิพลของไอเอส

ตามขั้นตอนแล้ว กฎหมายฉบับนี้ยังต้องผ่านความเห็นชอบจากวุฒิสภาและได้รับการลงพระปรมาภิไธยจากพระราชาธิบดีจึงจะมีผลบังคับใช้ โดยคาดกันว่าคงไม่มีปัญหาติดขัดอะไร แม้จะต้องใช้เวลาอีกหลายสัปดาห์


กำลังโหลดความคิดเห็น