xs
xsm
sm
md
lg

In Pics : สื่อเยอรมันแฉ “นักบินผู้ช่วยเยอรมันวิงส์” โกหกหมอโรคซึมเศร้าและโรคตา “ไม่ได้ขึ้นบิน” ก่อนก่อเหตุบินโหม่งระทึกโลก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


รอยเตอร์/เอเจนซีส์ - เมื่อวานนี้ (2) เม.ย. หนังสือพิมพ์เยอรมัน บิลด์ รายงานเงื่อนงำล่าสุดของคดีเยอรมันวิงส์เที่ยวบิน 4U9525 ว่า แอนเดรียส ลูบิตซ์ นักบินผู้ช่วยวัย 27 ปี ที่มีประวัติการประสบอุบัติเหตุทางรถในปลายปี 2014 และมีปัญหาทางการมองเห็นนับมาตั้งแต่นั้น และได้หาหนทางรักษาอาการบาดเจ็บทางสายตา โดยสื่อเยอรมันชี้ว่าผู้ช่วยนักบินเยอรมันวิงส์ได้ปกปิดแพทย์ที่ทำการรักษาว่า “อยู่ในระหว่างการลาป่วย” เพราะเกรงว่าหากเปิดเผยว่ายังทำการบินอยู่ แพทย์ที่ทำการรักษาอาจนำเรื่องเข้าแจ้งบริษัทสายการบินลุฟท์ฮันซ่า

เมื่อวานนี้ (2) หนังสือพิมพ์เยอรมัน บิลด์ รายงานความคืบหน้าเหตุเที่ยวบิน 4U9525 ที่ทางฝั่งเยอรมนีเริ่มต้นสอบสวนเพื่อหามาตรการป้องกันความปลอดภัยทางการบินจากคดีเยอรมันวิงส์ว่า แอนเดรียส ลูบิตซ์ นักบินผู้ช่วยวัย 27 ปี ได้เสาะหาการรักษาทางการแพทย์ต่อสายตาของเขา ที่มีรายงานว่าลูบิตซ์ได้ประสบอุบัติเหตุทางรถยนต์ในช่วงสิ้นปี 2014 และมีอาการบาดเจ็บ และมีปัญหาทางการมองเห็น ซึ่งในระหว่างการรักษา ลูบิตซ์มักแจ้งกับแพทย์ว่ารู้สึกว่าทุกอย่างมืดลงไปหมดต่อหน้าเขา

เดลีเมล์ สื่ออังกฤษรายงานเพิ่มเติมว่า ในช่วงไม่กี่สัปดาห์ก่อนขึ้นบินเที่ยวบิน 4U9525 ลูบิตซ์ได้พบกับแพทย์รักษาอาการซึมเศร้าและจักษุแพทย์ 3 ครั้ง เพราะเกรงว่าเขาจะสูญเสียการมองเห็นไปซึ่งจะทำให้เขาไม่สามารถทำหน้าที่ขับเครื่องบินได้

แหล่งข่าวในเยอรมนีได้เปิดเผยกับบิลด์อีกว่า ถึงแม้ผู้ช่วยนักบินชาวเยอรมันวัย 27 ปีจะเปิดเผยกับแพทย์ที่ทำการรักษาถึงอาชีพ “เป็นนักบินขับเครื่องบินโดยสาร” แต่เขาไม่ได้เปิดเผยว่ายังคงทำหน้าที่นี้อยู่ จากการสืบของเจ้าหน้าที่เยอรมนีพบว่าลูบิตซ์โกหกแพทย์ที่ทำการรักษาว่า “อยู่ในระหว่างการลาป่วย” และจะกลับไปทำหน้าที่หลังจากหายดีแล้ว

โดยเดลีเทเลกราฟระบุว่า ผู้ช่วยนักบินได้ปกปิดหลังจากที่แพทย์ได้สั่งจ่ายยาแรง “tranquilizer Lorazepam” เพื่อทำการรักษาโรคซึมเศร้า เพราะผู้ช่วยนักบินวัย 27 ปี เกรงว่าหากเปิดเผยไป แพทย์ที่ทำการรักษาจะละเมิดความลับของคนไข้ด้วยเกรงถึงความปลอดภัยในตัวผู้โดยสารเป็นหลัก เนื่องจากผลข้างเคียงของตัวยาที่ทำให้เกิดอาการง่วงซึม และมีแนวโน้มเสี่ยงต่อการฆ่าตัวตายสูง และนำเรื่องเข้าแจ้งกับบริษัทลุฟท์ฮันซ่าซึ่งเป็นบริษัทแม่ของสายการบินโลว์คอสต์ เยอรมันวิงส์ ต้นสังกัด ซึ่งลูบิตซ์ตั้งความหวังว่าต้องการไต่เต้าเป็นนักบินของสายการบินลุฟท์ฮันซ่าในอนาคต

บิลด์ยังรายงานเพิ่มเติมถึงประวัติการรักษาทางการแพทย์ที่ลูบิตซ์ได้รับนั้นรวมไปถึง การรักษาโรคซึมเศร้า โรควิตกกังวลขั้นร้ายแรง และโรคตื่นตระหนกอย่างรุนแรง และรวมไปถึงการใช้ยา tranquilizer Lorazepam เพื่อทำให้สงบ ซึ่งตัวยานี้แพทย์มักจะแนะนำไม่ให้คนไข้ที่ใช้ขับรถ

อย่างไรก็ตาม มาจนถึงวันนี้สาเหตุที่ผู้ช่วยนักบินผู้นี้จงใจล็อกห้องนักบิน และทำการบินเครื่องบินแอร์บัส A320 พุ่งชนยอดเขาแอลป์นั้นยังคงเป็นปริศนา

และเมื่อวานนี้ (2) รัฐมนตรีกระทรวงคมนาคมเยอรมนี รวมไปถึง เคลาซ์-ปีเตอร์ ซีกลอช (Klaus-Peter Siegloch) ประธานสมาพันธ์อุตสาหกรรมการบินเยอรมัน BDL ได้ประกาศว่า หนึ่งในภารกิจของผู้เชี่ยวชาญเยอรมันที่ได้รับมอบหมายในการสอบสวนครั้งนี้คือ การเปลี่ยนแปลงการทดสอบทางการแพทย์และทางจิตวิทยาของนักบิน เพื่อทำให้มั่นใจในมาตรฐานความปลอดภัยทางการบิน และทางผู้เชี่ยวชาญจะดูไปถึงการเปลี่ยนแปลงของกลไกที่แต่เดิมให้ห้องนักบินคนขับปิดล็อกจากด้านใน ซึ่งเป็นมาตรการที่ได้ใช้เป็นต้นมาหลังจากมีการก่อการร้ายโจมตีตึกเวิลด์เทรดวันที่ 11 กันยายน 2011












กำลังโหลดความคิดเห็น