เอพี - แม้ไม่อาจหาคำอธิบายที่น่าเชื่อถือสำหรับบรรดาการก่อเหตุคร่าชีวิตผู้คนมากมาย ซึ่งเคยเกิดขึ้นหลายครั้งในอดีตที่ผ่านมา รวมถึงกรณีที่ผู้ช่วยนักบินนำเครื่องบินเยอรมันวิงส์โหม่งโลก แต่ผู้เชี่ยวชาญก็ระบุว่า ความผิดปกติทางด้านบุคลิกภาพ มีส่วนช่วยผลักดันให้คนแบบนั้นปลิดชีพตัวเองไปพร้อมกับคนอื่นๆ
ผู้เชี่ยวชาญหลายรายพากันวินิจฉัยอย่างระมัดระวัง ในช่วงที่อัยการเยอรมันค้นหาแรงจูงใจที่ทำให้ผู้ช่วยนักบิน “แอนเดรียส ลูบิตส์” นำเครื่องบินของเยอรมันวิงส์โหม่งโลกที่บริเวณเทือกเขาแอลป์ในฝรั่งเศส ทำให้ทั้งหมด 150 ชีวิตต้องตายตกไปตามกัน
“เราไม่มีเบาะแสอะไรเลยว่ามันเกิดอะไรขึ้นในหัวของเขา ต่อให้เรามีบันทึกทางการแพทย์และได้พูดคุยกับเขา ก็อาจจะยังไม่สามารถอธิบายการกระทำของเขา” ดร.ไซมอน เวสเซลีย์ จากสถาบันจิตเวชศาสตร์ มหาวิทยาลัยคิงส์ คอลเลจ ระบุ
บันทึกอาการป่วยจากแพทย์ถูกอัยการเยอรมนีตรวจพบที่บ้านของลูบิตส์ ทำให้ได้รู้ว่าผู้ช่วยนักบินรายนี้ปกปิดอาการป่วยไม่ให้ทางสายการบินเยอรมันวิงส์ล่วงรู้ เอกสารทางการแพทย์เหล่านั้นแสดงให้เห็นว่าเขายังคงป่วยอยู่ ขณะที่โรงพยาบาลแห่งหนึ่งในดุสเซลดอร์ฟก็ยืนยันว่าลูบิตส์เคยมาเข้ารับการรักษา
เพื่อนบ้านพากันตกตะลึงกับข้อกล่าวหาที่ว่าเขาจงใจเอาเครื่องบินโหม่งโลก พร้อมทั้งบอกว่าลูบิตส์ดูจะตื่นเต้นกับงานที่ทำ พวกเขาระบุด้วยว่า ชายผู้มีสุขภาพแข็งแรงคนนี้มีประวัติร่วมบินระยะไกลหลายครั้ง แถมทางเยอรมันวิงส์ยังบอกว่าเขาผ่านการตรวจสุขภาพแล้ว
อย่างไรก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญบางรายก็บอกว่ามันมีความเป็นไปได้ที่คนเราจะทำเรื่องที่รุนแรงและน่ากลัวขึ้นมา หากต้องทนทุกข์กับอาการผิดปกติทางจิต
ดร.ราจ เพอร์ซูด จิตแพทย์จากบริเตน รอยัล คอลเลจ ระบุว่า ในกรณีที่มีการสังหารหมู่เกิดขึ้น บางครั้งก็จะเกิดจากคนที่ทนทุกข์จากความผิดปกติด้านบุคลิกของตนเอง จนยึดเอาตัวเองเป็นศูนย์กลาง แต่ถึงกระนั้นผู้เชี่ยวชาญรายนี้และคนอื่นๆ ก็ยังบอกเหมือนๆ กันว่าไม่รู้ข้อมูลเกี่ยวกับบุคลิกของลูบิตส์
ผู้เชี่ยวชาญรายอื่นๆ บอกว่า การก่อเหตุรุนแรงที่เลือดเย็นนั้นแทบจะป้องกันไม่ได้เลย หากคนเหล่านั้นเก็บอาการได้เป็นอย่างดีหรือไม่มีสัญญาณเตือนให้เห็นอย่างชัดเจน
“คนเรานั้นมีทักษะที่ยอดเยี่ยมในการปกปิดปัญหาของตนเอง เพราะกลัวสังคมรังเกียจ” ดร.พอล คีดเวล นักจิตวิทยาผู้เชี่ยวชาญด้านความผิดปกติทางอารมณ์ มหาวิทยาลัยคาร์ดิฟ กล่าว
คีดเวลบอกด้วยว่า คงจะไม่ฉลาดนัก หากจะสันนิษฐานว่าการเอาเครื่องบินโหม่งโลกของลูบิตส์ เป็นการกระทำที่ก้าวร้าว หวังเอาชีวิตผู้อื่น
“มันยากที่จะเข้าใจนะ ถ้าหากเขาเพียงแค่หมกมุ่นครุ่นคิดแต่เรื่องที่จะจบชีวิตตัวเองโดยที่ไม่ทันนึกถึงว่ามีคนอื่นอยู่บนเครื่องบินด้วยล่ะ?” คีดเวลกล่าว พร้อมกับเปรียบเทียบถึงคนเอาตัวเองเข้าไปขวางทางรถไฟ โดยที่ไม่ได้คิดว่าคนขับรถไฟกับผู้โดยสารอาจจะได้รับผลกระทบไปด้วย
ดร.โรลองด์ กูแตนโค ประธานสมาคมสุขภาพจิตของฝรั่งเศส ระบุว่า การฆาตกรรมหมู่หลายครั้งเกิดขึ้นเพราะผู้ก่อเหตุอยากจะสร้างความเสียหายให้มากที่สุดเพื่อจะได้เรียกร้องความสนใจ โดยคิดว่าจะได้มีชื่อเสียงจากการทำอะไรสักอย่างที่โลกต้องจดจำ แม้ว่ามันจะเป็นเรื่องในด้านลบก็ตาม
เขาบอกว่า ในบางครั้งการกระทำแบบนั้นเกิดจากคนที่หวาดระแวง โกรธแค้นนายจ้างหรือสังคมโดยรวม หลงคิดว่าการทำแบบนั้นจะทำให้ชื่อคงอยู่ไปตลอดกาล มองความตายเป็นส่วนหนึ่งของบทบาทที่เตรียมไว้