xs
xsm
sm
md
lg

พบนักบินเยอรมันวิงส์ปกปิดอาการป่วยก่อนบังคับโหม่งโลก รพ.ปัดไม่เคยรักษาโรคซึมเศร้า

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เอเอฟพี/รอยเตอร์ - เยอรมันวิงส์เสนอมอบเงินช่วยเหลือแก่ครอบครัวเหยื่อเที่ยวบินที่ประสบหายนะพุ่งชนเทือกเขาแอลป์ สูงสุดศพละ 50,000 ยูโร ขณะที่ผลสืบสวนล่าสุดพบผู้ช่วยนักบินที่บังคับเครื่องโหม่งโลก ปกปิดอาการป่วยของตัวเองจากนายจ้างที่อาจจะให้เขาหยุดงานในวันที่เกิดโศกนาฏกรรม แต่อีกด้านหนึ่งทางโรงพยาบาลออกมาปฏิเสธรายงานข่าวของสื่อมวลชนเมืองเบียร์ที่ระบุว่าเขาเพิ่งเข้ารับการรักษาโรคซึมเศร้าเมื่อไม่นานมานี้

โฆษกของของสายการบินเยอรมันวิงค์ยืนยันรายงานข่าวจากหนังสือพิมพ์ Tagesspiegel ว่าความช่วยเหลือดังกล่าวซึ่งทางครอบครัวเหยื่อไม่จำเป็นต้องใช้คืน เป็นคนละส่วนกับเงินชดเชยที่ทางสายการบินจะต้องจ่ายจากโศกนาฎกรรมครั้งนี้

ในรายงาน Tagesspiegelอ้างคำสัมภาษณ์ของ โฮลเกอร์ ฮอพเพอร์ไดเอตเซล์ม ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายการบิน ที่บอกว่าลุฟต์ฮันซา บริษัทแม่ของเยอรมันวิงค์ มีสิทธิ์ต้องจ่ายเงินชดเชยในระดับต่างๆ ไล่ตั้งแต่หลายหมื่นยูโรไปจนถึงหลายแสนยูโรต่อเหยื่อ 1 ราย

อย่างไรก็ตามเอลมาร์ กีมุลลาร์ ศาสตราจารย์ด้านกฎหมายการบิน ณ มหาวิทยาลัยเทคนิคเบอร์ลิน ให้สัมภาษณ์กับหนังสือพิมพ์ Rheinische Post คาดหมายว่าสายการบินใหญ่ที่สุดของยุโรปแห่งนี้ อาจควักกระเป๋าจ่ายเงินชดเชยในจำนวนที่น้อยกว่านั้น บางทีอาจอยู่ราวๆ 10 ถึง 30 ล้านยูโร

ความรับผิดชอบทางกฎหมายของสายการบินต่างๆในอุบัติเหตุจะถูกตัดสินใจภายใต้อนุสัญญามอนทรีออลปี1999 ซึ่งกำหนดกรอบวงเงินสูงสุดไว้ที่ 143,000 ยูโรต่อเหยื่อ 1 ราย แต่หากทางครอบครัวเหยื่อสามารถพิสูจน์ได้ว่ามันเกิดจากความละเลยจากสายการบิน พวกเขาสามารถฟ้องเรียกค่าเสียหายได้มากขึ้น ขณะที่เหล่าผู้เชี่ยวชาญด้านประกันภัยบอกกับเอเอฟพีว่าข้อเท็จจริงที่พบว่านักบินผู้ช่วยตั้งใจบังคับเครื่องบินพุ่งชนภูเขาจะไม่ส่งผลกระทบกับประเด็นจ่ายเงินชดเชยใดๆ

ข้อสงสัยดังกล่าวเกิดขึ้นหลังจากข้อมูลในกล่องดำพบว่าแอนเดรียส ลูบิตซ์ นักบินที่สองของเที่ยวบินมรณะ จงใจนำเครื่องบินโดยสารของสายการบินเยอรมันวิงส์ พุ่งชนเทือกเขาแอลป์ในเขตประเทศฝรั่งเศส หลังจากล็อกประตูกันไม่ให้กัปตันกลับเข้ามายังห้องนักบิน

ในส่วนของความคืบหน้าการสืบสวน ในวันศุกร์(27มี.ค.) อัยการเยอรมนีพบใบรับรองแพทย์ในสภาพฉีกขาดที่แสดงให้เห็นว่านักบินผู้ช่วยรายดังกล่าวมีอาการป่วย บ่งชี้ว่าเขาปกปิดอาการป่วยของตัวเองจากนายจ้างที่อาจจะให้เขาหยุดงานในวันที่เกิดโศกนาฏกรรมที่คร่า 150 ชีวิตบนเครื่องยกลำ

"เอกสารด้่านการแพทย์ที่ริบมา ชี้ว่ามีอาการป่วยและกำลังติดต่อรักษากับแพทย์" สำนักงานอัยการในดุสเซลดอร์ฟ เยอรมนี ถิ่นพำนักของนักบินผู้ช่วยและปลายทางของเที่ยวบินมรณะที่ขึ้นบินจากเมืองบาร์เซโลนา ประเทศสเปน

การพบเอกสารที่ถูกฉีกขาดภายในบ้านของเขา อาจกันนายลูบิตซ์ ออกจากการทำงานด้วยเหตุผลทางการแพทย์ในช่วงระยะเวลาหนึ่ง ในนั้นรวมถึงวันที่เครื่องบินประสบอุบัติเหตุ และสนับสนุนข้อสันนิษฐานที่ว่านักบินผู้ช่วยรายนี้ปกปิดอาการป่วยจากนายจ้างและเพื่อนร่วมงาน "พวกเขาไม่พบจดหมายลาตายหรือสารภาพใดๆ รวมถึงไม่มีหลักฐานภูมิหลังทางการเมืองหรือศาสนากับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น" อัยการระบุ ส่วนเยอรมันวิงส์เผยว่านายลูบิตซ์ไม่ได้ยื่นจดหมายลาป่วย ในวันที่ 24 มีนาคมหรือวันเกิดเหตุแต่อย่างใด

ในฝรั่งเศส เจ้าหน้าที่เผยว่าพวกเขาได้เก็บกู้ชิ้นส่วนศพราวๆ 400 ถึง 600 ชิ้นที่กระจัดกระจายรอบๆจุดตกของเครื่องบินบนเทือกเขาแอลป์ โดยไม่พบศพที่อยู่ในสภาพสมบูรณ์แม้แต่รายเดียวและการตรวจสอบดีเอ็นเอจำเป็นต้องดำเนินการอย่างละเอียดรอบคอบที่สุดเพื่อระบุเอกลักษณ์บุคคลของเศษชิ้นส่วนเหล่านั้น ด้าน ปาทริค ตูรอง รองหัวหน้าแผนกวิจัยอาชญากรรมของกองตำรวจภูธรฝรั่งเศสบอกกับผู้สื่อข่าว ณ จุดเกิดเหตุว่าคณะสืบสวนกำลังตามหาชิ้นส่วนของเครื่องแบบเพื่อระบุตัวลูกเรือ ในนั้นรวมถึงนายลูบิตซ์ด้วย

สภาวะทางจิตของนายลูบิตซ์ ซึ่งเยอรมันวิงส์และบริษัทแม่อย่างลุฟต์ฮันซาก็รู้ดี จะกลายเป็นประเด็นสำคัญต่อการดำเนินคดีทางกฎหมายใดๆในอนาคตเกี่ยวกับอุบัติเหตุครั้งนี้ โดยภายใต้กฎหมายของเยอรมนี ลูกจ้างจำเป็นต้องแจ้งให้นายจ้างทราบโดยทันทีหากไม่สามารถปฏิบัติงานได้

โรงพยาบาลแห่งหนึ่งในดุสเซลดอร์ฟ ยอมรับว่านายลูบิตช์เพิ่งเข้ารับการวินิจฉัยโรคเร็วๆนี้เมื่อวันที่ 10 มีนาคม แต่ไม่ยอมให้รายละเอียดเพิ่มเติมสืบเนื่องจากกฎระเบียบด้านข้อมูลส่วนตัวของผู้ป่วย แต่ชี้แจงว่ารายงานข่าวของสื่อมวลชนที่ระบุเขาเข้ารับการรักษาโรคซึมเศร้านั้นไม่เป็นความจริง

ก่อนหน้านี้หนังสือพิมพ์บิลด์ สื่อเยอรมนีรายงานว่านายลูบิตซ์มีอาการซึมเศร้ารุนแรงในช่วงที่เขาต้องระงับการอบรมหลักสูตรฝึกบินเมื่อปี 2009 จากนั้นเขาก็ต้องเข้ารับการรักษาอาการทางจิตเป็นเวลานานกว่า 1 ปี ขณะที่บันทึกในแฟ้มเอกสารเกี่ยวกับการบินของเขาระบุว่านายลูบิทซ์ยังจำเป็นต้องได้รับการประเมินสภาพจิตเป็นประจำด้วย

ลุฟต์ฮันซาและอัยการเยอรมนี ปฏิเสธแสดงความเห็นต่อรายงานดังกล่าว ส่วนนายคาร์สเทน สปอร์ ซีอีโอของสายการบินลุฟต์ฮันซา ระบุในวันพฤหัสบดี(26มี.ค.) ว่ไม่มีอะไรในอดีตที่บ่งชี้ว่านายลูบิตซ์เป็นบุคคลเสี่ยง และหลังจากกลับเข้าไปฝึกบิน เขาก็ผ่านการทดสอบทุกประเภทอย่างงดงาม

ไม่กี่ชั่วโมงหลังจากอัยการฝรั่งเศสเปิดเผยทฤษฎีที่ว่าอุุบ้ติเหตุครั้งนี้เกิดขึ้นจากความจงใจ ทำให้สายการบินหลายแห่งออกข้อบังคับกำหนดให้นักบินทั้ง 2 อยู่ภายในห้องควบคุมตลอดเวลา มาตรการที่ใช้ในสหรัฐฯไปแล้ว แต่ในยุโรปยังไม่ได้ดำเนินการ


กำลังโหลดความคิดเห็น