เอเจนซีส์/ASTV ผู้จัดการออนไลน์ - วอร์เร็น บัฟเฟตต์ นักลงทุนชื่อก้องโลกในวัย 84 ปี ชี้การก้าวออกจากกลุ่ม “ยูโรโซน” ของกรีซที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตอาจไม่ใช่ “สิ่งเลวร้าย” เสมอไป พร้อมย้ำว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นกับกรีซมิได้หมายความว่ากลุ่มการเงินดังกล่าวของยุโรปจะต้องพลอยล้มเหลวไปด้วย
บัฟเฟตต์ซึ่งเป็นผู้บริหารของบริษัทด้านการลงทุนชื่อดัง “เบิร์กไชร์ แฮธาเวย์” และมีทรัพย์สินในครอบครอง 71,800 ล้านดอลลาร์ (ราว 2.33 ล้านล้านบาท) ให้สัมภาษณ์ผ่านเครือข่ายสถานีโทรทัศน์ซีเอ็นบีซีเมื่อวันอังคาร (31 มี.ค.) โดยระบุหากกรีซต้องก้าวออกจากกลุ่มยูโรโซนจริง ก็อาจไม่ใช่สิ่งเลวร้ายสำหรับเงินยูโรและกลุ่มยูโรโซนเสมอไป
บัฟเฟตต์ชี้ว่า ที่ผ่านมากลุ่มยูโรโซนและเงินยูโร ต้องประสบกับปัญหาในเชิงโครงสร้างมาโดยตลอดนับตั้งแต่เริ่มก่อตั้ง และปัญหาที่เกิดขึ้นกับกรีซก็เป็นเพียงหนึ่งในหลายปัญหาของยูโรโซน แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นกับกรีซนั้นมิได้หมายความว่ากลุ่มการเงินดังกล่าวของยุโรปจะต้องพลอยล้มเหลวตามไปด้วย
“ผมมองว่ายูโรโซนสามารถรับมือและปรับตัวกับปัญหาเชิงโครงสร้างนี้ และก้าวเดินต่อไปได้ แต่อาจมีเพียงบางประเทศเท่านั้นที่ไม่ปรับตัว ซึ่งประเทศที่ไม่ปรับตัวและไม่เคารพกติกานี้ก็จะไม่สามารถอยู่ร่วมในกลุ่มได้อีกต่อไป” บัฟเฟตต์กล่าว
นักลงทุนชื่อก้องโลกชาวอเมริกันรายนี้ยังระบุด้วยว่า ในความเป็นจริงแล้วไม่มีข้อกำหนดใดๆที่ผูกมัดว่า กลุ่มยูโรโซนต้องมีจำนวนสมาชิกที่เท่าเดิมตลอดไป ดังนั้น การเปลี่ยนแปลงในแง่ของสมาชิกที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตโดยเฉพาะกรณีของกรีซ จึงไม่สมควรถูกเหมารวมว่า เป็น “ความล้มเหลว” ของทั้งกลุ่มแต่อย่างใด
ท่าทีล่าสุดของวอร์เร็น บัฟเฟตต์มีขึ้นในขณะที่รัฐบาลใหม่ของกรีซ ภายใต้การนำของนายกรัฐมนตรีอเล็กซิส ซีปราส ซึ่งมีจุดยืนแข็งกร้าวต่อสหภาพยุโรป (อียู) และยูโรโซนกำลังเปิดการเจรจากับเจ้าหนี้ต่างประเทศเกี่ยวกับเงื่อนไขการรับความช่วยเหลือมูลค่า 240,000 ล้านยูโร (ราว 8.4 ล้านล้านบาท) เพื่อช่วยพยุงเศรษฐกิจกรีซ และหากการเจรจาล้มเหลวอาจทำให้กรีซต้องประสบภาวะล้มละลายสิ้นเชิงภายในไม่กี่สัปดาห์ และอาจต้องก้าวออกจากการเป็นสมาชิกยูโรโซน