xs
xsm
sm
md
lg

Weekend Focus: โลกอาลัย “ลี กวน ยู” รัฐบุรุษต้นแบบแห่งเอเชีย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ผู้นำประเทศทั่วโลกร่วมไว้อาลัยการจากไปของ ลี กวน ยู นายกรัฐมนตรีคนที่ 1 และบิดาผู้ก่อตั้งประเทศสิงคโปร์ ซึ่งถึงแก่อสัญกรรมด้วยภาวะปอดติดเชื้อก่อนรุ่งสางของวันจันทร์ที่ 23 มีนาคม สื่อทุกแขนงประโคมคำสดุดีรัฐบุรุษผู้ปลุกปั้นเกาะอาณานิคมอังกฤษแห่งนี้จนกลายเป็นศูนย์กลางการเงินและการค้าที่สำคัญของโลก และเป็นแบบอย่างการพัฒนาสำหรับอีกหลายประเทศ

ลี วัย 91 ปี ซึ่งได้รับการยกย่องอย่างกว้างขวางในฐานะรัฐบุรุษผู้ปฏิรูปเศรษฐกิจสิงคโปร์ให้พัฒนาแบบก้าวกระโดด จนกลายเป็นประเทศที่มีรายได้ต่อหัวประชากรสูงที่สุดแห่งหนึ่งโลก เข้ารับการรักษาอาการปอดอักเสบที่โรงพยาบาลสิงคโปร์เจเนอรัล ตั้งแต่วันที่ 5 กุมภาพันธ์ โดยพักอยู่ในห้องไอซียูและต้องใช้เครื่องช่วยหายใจตลอดเวลา ระหว่างนั้นได้เกิดข่าวลือแพร่สะพัดในสื่อออนไลน์ว่ารัฐบุรุษอาวุโสเสียชีวิตแล้ว แต่รัฐบาลสิงคโปร์ก็ออกมาปฏิเสธ โดยยืนยันว่า ลี ยังมีชีวิตอยู่ แต่อาการเข้าขั้นวิกฤตเท่านั้น

จนกระทั่งเช้าวันที่ 23 มีนาคม รัฐบาลสิงคโปร์จึงได้ประกาศอย่างเป็นทางการว่า ลี กวน ยู ถึงแก่อสัญกรรมเมื่อเวลา 3.18 น. ตามเวลาท้องถิ่น

ประธานาธิบดี บารัค โอบามา แห่งสหรัฐฯ กล่าวยกย่อง ลี ผู้วายชนม์เป็น “ยักษ์ใหญ่ในประวัติศาสตร์ตัวจริง” พร้อมระบุว่าตนชื่นชมในความคิดอันเฉียบคมของอดีตนายกฯ ผู้นี้เป็นอย่างยิ่ง หลังจากที่ได้สนทนากันระหว่างที่ตนไปเยือนสิงคโปร์เมื่อปี 2009

“ท่านเป็นยักษ์ใหญ่ในประวัติศาสตร์ตัวจริง ซึ่งจะถูกจดจำไปชั่วลูกชั่วหลานในฐานะบิดาแห่งสิงคโปร์ยุคใหม่ และเป็นนักยุทธศาสตร์ด้านกิจการเอเชียที่ยิ่งใหญ่ที่สุดคนหนึ่ง... มุมมองและวิสัยทัศน์ของอดีตนายกฯ ลี เกี่ยวกับพลวัตและการจัดการเศรษฐกิจเอเชียได้รับการยกย่องจากผู้คนทั่วโลก มีผู้นำประเทศไม่ใช่น้อยทั้งในอดีตและปัจจุบันที่นำหลักธรรมาภิบาลและการพัฒนาที่ท่านได้เสนอแนะไว้ไปปรับใช้”

ประธานาธิบดี สี่ จิ้นผิง ของจีน ระบุว่า ลี กวน ยู เป็น “มิตรเก่าแก่ของชาวจีน” และเป็นทั้งนักยุทธศาสตร์และรัฐบุรุษผู้ริเริ่มและส่งเสริมความสัมพันธ์อันดีระหว่างจีนและสิงคโปร์ ขณะที่ หง เล่ย โฆษกกระทรวงการต่างประเทศจีน ก็ได้แถลงผ่านเว็บไซต์เช่นกันว่า ลี เป็น “รัฐบุรุษแห่งเอเชียผู้มีอิทธิพลโดดเด่นไม่เหมือนใคร” และยังเป็น “นักยุทธศาสตร์ที่เปี่ยมด้วยค่านิยมแบบตะวันออก และมุมมองที่เป็นสากล”

นายกรัฐมนตรีเดวิด คาเมรอน ของอังกฤษ กล่าวว่า ประวัติศาสตร์จะจารึกชื่อของ ลี กวน ยู ในฐานะผู้นำและหนึ่งในรัฐบุรุษที่สำคัญที่สุดของโลกในยุคใหม่ และยอมรับว่าผู้นำหลายคนของอังกฤษ รวมถึงตนเอง ล้วนได้รับคำแนะนำอันมีค่ายิ่งจาก ลี

นายกรัฐมนตรี นาจิบ ราซัก แห่งมาเลเซีย ก็ได้แสดงความเสียใจไปยังรัฐบาลสิงคโปร์ซึ่งเป็นเพื่อนบ้านใกล้ชิด โดยสรรเสริญ ลี ว่าเป็นผู้ปลุกปั้นเกาะสิงคโปร์จนกลายเป็น “ประเทศที่ทันสมัยและมีพลวัต”

ความสัมพันธ์ระหว่างมาเลเซียและสิงคโปร์ไม่สู้จะราบรื่นนัก นับตั้งแต่ ลี กวน ยู นำพาสิงคโปร์แยกตัวเป็นรัฐเอกราชในปี 1965 หลังจากที่เคยรวมกันเป็นสหภาพมลายาชั่วระยะเวลาสั้นๆ อย่างไรก็ดี ทั้ง 2 ชาติต่างตระหนักในความจำเป็นที่จะต้องทำนุบำรุงความสัมพันธ์ระหว่างประเทศให้มั่นคง โดยเฉพาะในด้านการค้าที่สิงคโปร์และมาเลเซียผูกพันกันอย่างแยกไม่ออก ในช่วงไม่กี่ปีมานี้ ความสัมพันธ์ระหว่าง 2 ประเทศเพื่อนบ้านค่อนข้างอบอุ่นเป็นพิเศษภายใต้การนำของนายกรัฐมนตรี นาจิบ ราซัก และนายกรัฐมนตรี ลี เซียนลุง ผู้เป็นบุตรชายของ ลี กวน ยู

ลี กวน ยู เกิดเมื่อวันที่ 16 กันยายน ปี 1923 บิดาเป็นชาวจีนแคะรุ่นที่ 3 ซึ่งอพยพมาจากมณฑลฮกเกี้ยน เขาเติบโตขึ้นท่ามกลางบรรยากาศของการเป็นอาณานิคมอังกฤษ และเคยเชื่อว่าไม่มีสิ่งใดจะท้าทายอำนาจของเจ้าอาณานิคมตะวันตกได้
ความคิดของ ลี เปลี่ยนไปโดยสิ้นเชิง เมื่อกองทัพจักรวรรดิญี่ปุ่นแผ่อิทธิพลเข้ามาขับไล่อังกฤษและครอบครองเกาะสิงคโปร์ในปี 1942

เขารอดชีวิตจากการสังหารหมู่พลเรือน และถึงขั้นเคยทำงานโฆษณาชวนเชื่อให้แก่กองทัพญี่ปุ่นด้วย และเมื่อสิงคโปร์ได้รับอิสรภาพ เขาก็เดินทางไปศึกษาต่อด้านกฎหมายที่มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ และแต่งงานอย่างเงียบๆ กับ ควา ก๊อก ชู ซึ่งเป็นเพื่อนหญิงร่วมชั้นเรียน ก่อนจะพาครอบครัวกลับสู่บ้านเกิดสิงคโปร์ในปี 1950

ลี และภรรยามีบุตรชายหญิงรวม 3 คน ได้แก่ ลี เซียน ลุง บุตรชายคนโตซึ่งเป็นนายกรัฐมนตรีสิงคโปร์คนปัจจุบัน, ลี เว่ย หลิง บุตรสาวคนที่ 2 ซึ่งทำงานเป็นแพทย์และดำรงตำแหน่งประธานสถาบันประสาทวิทยาแห่งชาติ ส่วนบุตรชายคนสุดท้องคือ ลี เซียน ยาง เป็นนักธุรกิจใหญ่

ลี ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีตั้งแต่สิงคโปร์ได้เอกราชจากอังกฤษในปี 1959 และครองเก้าอี้อยู่นานถึง 31 ปี ก่อนจะตัดสินใจวางมือให้ผู้นำรุ่นสองอย่าง โก๊ะ จ๊กตง ก้าวขึ้นมาบริหารประเทศในปี 1990 และต่อมา โก๊ะ ก็ได้ส่งมอบอำนาจต่อให้แก่ ลี เซียนลุง ผู้เป็นบุตรชายของนายกฯคนที่ 1

พรรคกิจประชาชน (PAP) ที่ ลี กวนยู ร่วมก่อตั้งชนะศึกเลือกตั้งทุกครั้งมาตั้งแต่ปี 1959 และปัจจุบันก็ยังครองเสียงข้างมากในสภาสิงคโปร์ถึง 80 ที่นั่งจากจำนวน ส.ส.ที่มาจากการเลือกตั้งทั้งหมด 87 ที่นั่ง

สุขภาพที่เคยแข็งแรงของ ลี เริ่มส่งสัญญาณร่วงโรย หลังจากภรรยาคู่ทุกข์คู่ยากซึ่งอยู่กินกันมานานถึง 63 ปี ได้ด่วนจากโลกนี้ไปก่อนเมื่อปี 2010

ในหนังสืออัตชีวประวัติของเขาที่ตีพิมพ์เมื่อปี 2013 ลี กล่าวว่า ตนรู้สึกอ่อนแรงลงทุกวัน และหวังว่าความตายจะมาถึงอย่างรวดเร็วในวาระสุดท้าย

พิมพ์เขียวจีนยุคใหม่

หากมองในแง่ของภูมิศาสตร์และประชากร สิงคโปร์อาจเป็นเพียงเกาะเล็กๆ ที่มีผู้คนอาศัยอยู่ไม่ถึงร้อยละ 0.5 ของจีน แต่ ลี กวน ยู กลับมีอิทธิพลอย่างสูงยิ่งต่อแดนมังกรทั้งในแง่ของการเป็นแบบอย่าง, ที่ปรึกษา, นักวิจารณ์ และนักปฏิบัตินิยมผู้ช่ำชองภูมิรัฐศาสตร์ นโยบายควบคุมกิจการภายในอย่างเข้มงวดผสมผสานกับการเปิดตลาดเสรีส่งผลให้เขาสามารถพลิกอดีตเมืองท่าอาณานิคมให้กลายเป็นรัฐที่มั่งคั่งและมีระเบียบวินัยดีที่สุดประเทศหนึ่งในโลก “ค่านิยมเอเชีย” ของ ลี ซึ่งมีทั้งความเป็นเผด็จการผสมผสานกับการวางแผนกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างชาญฉลาด ได้กลายมาเป็น “พิมพ์เขียว” ให้กับจีนยุคใหม่

เติ้ง เสี่ยวผิง อดีตประธานพรรคคอมมิวนิสต์จีน ได้ยึดสิงคโปร์เป็นแบบอย่างในการปฏิรูปเปิดประเทศเมื่อช่วงทศวรรษ 1970 ความเปลี่ยนแปลงเหล่านั้นส่งผลให้เศรษฐกิจจีนเติบโตแบบก้าวกระโดดในอีก 3 ทศวรรษให้หลัง และช่วยบรรเทาปัญหาความยากจนและความไร้เสถียรภาพทางการเมืองที่เป็นผลพวงจากนโยบายเศรษฐกิจแบบรวมศูนย์ในยุคประธาน เหมา เจ๋อ ตง

“คนสิงคโปร์มีระเบียบวินัยดีมาก เพราะรัฐบาลควบคุมอย่างเข้มงวด... เราควรจะเรียนรู้จากประสบการณ์ของพวกเขา และจัดการสังคมจีนให้ดียิ่งกว่า” หนังสือพิมพ์พีเพิลส์เดลีซึ่งเป็นกระบอกเสียงของพรรคคอมมิวนิสต์จีน อ้างถึงคำปรารภของ เติ้ง เมื่อปี 1992

ลี เขียนไว้ในหนังสือ “One Man’s View of the World” ซึ่งตีพิมพ์เมื่อปี 2013 ว่า “เมื่อมาเยือนสิงคโปร์ เติ้ง ได้เห็นว่าเกาะที่ทั้งเล็กและปราศจากทรัพยากรธรรมชาติสามารถทำให้ประชาชนอยู่ดีกินดีได้อย่างไร”

“เขากลับไปที่จีน และโน้มน้าวให้พรรคคอมมิวนิสต์เห็นความจำเป็นที่จะต้องปฏิรูปเศรษฐกิจและเปิดประเทศ... นั่นคือจุดเริ่มต้นและจุดเปลี่ยนที่สำคัญในประวัติศาสตร์จีน และจีนก็ไม่เคยหันหลังกลับอีกเลย”

นักธุรกิจสิงคโปร์กลายเป็นผู้ลงทุนรายใหญ่ในยุคของ เติ้ง เสี่ยวผิง โดยเข้าไปมีส่วนในโครงการก่อสร้างศูนย์การค้า สถานที่ราชการ สายการบิน และโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ของจีน

ในปี 1994 ลี นิคมอุตสาหกรรมซูโจวซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างรัฐบาลจีนและสิงคโปร์ได้ถือกำเนิดขึ้นใกล้ๆ กับนครเซี่ยงไฮ้ โดยนำแบบอย่างการบริหารรัฐกิจของสิงคโปร์มาปรับใช้ มีการก่อสร้างสำนักงานและโรงงานต่างๆ ที่บูรณาการพื้นที่ทำงานและพื้นที่อยู่อาศัยเข้าด้วยกัน เพื่อให้เป็นต้นแบบของโครงการพัฒนาทั่วประเทศจีน นิคมอุตสาหกรรมแห่งนี้ขาดทุนอยู่นานหลายปี แต่ในที่สุดก็เริ่มมีผลกำไรตอบแทนในปี 2001

ปัจจุบันจีนยังคงส่งเจ้าหน้าที่รัฐราว 1,000 คนไปสิงคโปร์ทุกปี เพื่อศึกษาวิธีจัดระเบียบสังคมในแง่มุมต่างๆ โดยเฉพาะด้านบริการสาธารณะและอุตสาหกรรมการเงิน

ลี กวน ยู ส่งเสริมชาวสิงคโปร์ให้เรียนรู้ภาษาจีนกลางด้วยตัวอักษรแบบย่อ แทนที่จะท่องจำอักษรตัวเต็มอย่างที่ใช้กันในไต้หวันและฮ่องกง และยังเป็นผู้นำต่างชาติคนแรกๆ ที่คาดเดาได้ว่าจีนจะก้าวขึ้นมามีอิทธิพลในอนาคต จึงสนับสนุนให้นักธุรกิจสิงคโปร์เข้าไปลงทุนในจีนอย่างกว้างขวาง แม้ในช่วงที่เกิดการประท้วงที่จตุรัสเทียนอันเหมินปี 1989 รัฐบาลสิงคโปร์ก็ยังติดต่อสัมพันธ์กับพรรคคอมมิวนิสต์จีนอย่างไม่ขาดช่วง

“ตอนนั้นสาธารณรัฐประชาชนจีนไม่เป็นที่ชื่นชอบของโลกตะวันตกเลย แต่ท่านนายกฯ ลี กวน ยู กลับคิดตรงกันข้าม” ทอมมี โก๊ะ ซึ่งเคยเป็นเอกอัครราชทูตผู้แทนสิงคโปร์ประจำองค์การสหประชาชาติถึง 2 สมัย ให้สัมภาษณ์ต่อสำนักข่าวแชนแนลนิวส์เอเชีย

“หลังจากนั้นท่านได้ไปเยือนจีนปีละกว่า 1 ครั้ง สานสัมพันธ์กับผู้นำจีนหลายต่อหลายรุ่น เพื่อจะได้รู้จักคุ้นเคยกับพวกเขา”

ลี เคยให้คำปรึกษาด้านการบริหารรัฐกิจแก่ผู้นำจีนหลายคน รวมถึงเรื่องความสัมพันธ์กับสหรัฐฯ และไต้หวันซึ่งปักกิ่งถือว่าเป็นเพียงจังหวัดหนึ่งที่คิดจะแยกตัวออกจากจีนแผ่นดินใหญ่

“ลี กวน ยู แนะให้ผู้นำจีนเริ่มต้นบูรณาการทางเศรษฐกิจเสียก่อน และอย่าไปกดดันไต้หวันในเชิงการเมืองหรือการทหารให้มากนัก” แลม กล่าว

ถึงจะมีมิตรภาพที่แน่นแฟ้นเพียงไร แต่ ลี กวน ยู ก็ยังรักษาระยะในห่างเชิงยุทธศาสตร์กับจีน และย้ำถึงความจำเป็นที่สหรัฐฯ จะต้องเข้ามามีบทบาททางทหารในเอเชีย-แปซิฟิก

แม้การบริหารประเทศของ ลี กวน ยู จะนำพาความรุ่งเรืองที่น่าอัศจรรย์มาสู่เกาะสิงคโปร์ แต่การปกครองแบบกึ่งเผด็จการที่เขาออกแบบไว้อาจไม่สอดรับกับวิกฤตท้าทายต่างๆ ที่สิงคโปร์จะต้องเผชิญในศตวรรษที่ 21

สิงคโปร์ขึ้นชื่อว่าเป็นประเทศที่มีสถิติอาชญากรรมต่ำ การคอร์รัปชันเกือบจะเป็นศูนย์ พลเมืองเชื้อสายจีนก็สามารถอยู่ร่วมกับชาวมาเลย์กลุ่มน้อยได้อย่างกลมกลืน แต่ถึงกระนั้นก็มีผู้คนจำนวนมากขึ้นที่รู้สึกว่า พรรคกิจประชาชนของ ลี นำพาประเทศซึ่งมีประชากร 5.4 ล้านคนเดินมาผิดทางตลอด 20 ปี เห็นได้ชัดจากช่องว่างรายได้ที่เพิ่มขึ้น การไหลเข้าของผู้อพยพซึ่งก่อให้เกิดปัญหาการแย่งงานและค่าแรงตกต่ำ ภาพของผู้สูงอายุที่เข็นรถเก็บเศษกระดาษหรือพลาสติกไปขายก็เป็นอีกหนึ่งประจักษ์พยานที่แสดงให้เห็นช่องโหว่ของระบบสวัสดิการสังคมในสิงคโปร์

“ทุกวันนี้มีความไม่พอใจเกิดขึ้นในสังคม ใครๆ ก็รู้สึกได้ ผู้คนอยากเห็นความเปลี่ยนแปลง” ลีน ซู่-หลิน นักธุรกิจหญิงวัย 56 ปี กล่าว เธอเป็นคนหนึ่งซึ่งเกิดทันยุคที่สิงคโปร์ได้เห็น “ปาฏิหาริย์” ทางเศรษฐกิจที่ ลี กวน ยู สร้างขึ้น และรู้สึกกังวลเมื่อเห็นเยาวชนรุ่นใหม่ๆ ไม่ได้ซาบซึ้งกับเรื่องเหล่านี้เท่าที่ควร

พรรคกิจประชาชนเริ่มสูญเสียคะแนนนิยมลงอย่างเห็นได้ชัดในศึกเลือกตั้งปี 2011 แม้จะยังกำชัยชนะล้นหลามในมุมมองของตะวันตกก็ตาม ด้วยเหตุนี้รัฐบาลจึงหันมาทุ่มงบประมาณอุดหนุนสวัสดิการสังคมเพิ่มขึ้น และออกมาตรการสกัดกั้นผู้อพยพ แต่การปรับนโยบายก็ดูเหมือนจะไม่เป็นที่พอใจของประชาชนรุ่นใหม่ๆ ที่ต้องการมีสิทธิ์มีเสียงมากขึ้น

“ผมเคารพอดีตนายกฯ ลี กวน ยู เพราะท่านได้อุทิศตนเพื่อประเทศชาติมากมาย แต่ผมก็ไม่เห็นด้วยกับบางสิ่งบางอย่างที่ท่านทำ” ตัน กวน ฮง นักศึกษามหาวิทยาลัยวัย 22 ปี กล่าว

นักสิทธิมนุษยชนวิจารณ์อดีตนายความจากมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ผู้นี้ว่าปกครองประเทศอย่างเผด็จการ และใช้อำนาจกดขี่ศัตรูทางการเมืองจนถึงขั้นเข้าคุก หรือไม่ก็ถูกฟ้องหมิ่นประมาทจนล้มละลายไปหลายคน

ว่ากันตามจริงแล้ว สิงคโปร์แทบไม่เคยตกอยู่ในกลุ่มประเทศโลกที่ 3 และไม่รู้จักความอดอยากยากจนมาก่อน เพราะเกาะแห่งนี้เป็นเมืองท่าที่คึกคักมั่งคั่งยิ่งกว่ารัฐใดๆ ในภูมิภาคมาตั้งแต่ยุคอาณานิคมแล้ว

จีดีพีสิงคโปร์จัดอยู่ในกลุ่มสูงที่สุดในโลก รายได้เฉลี่ยต่อหัวประชากรสูงถึง 54,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ ตามข้อมูลของธนาคารโลก (เวิลด์แบงก์) และเกาะศูนย์กลางการเงินแห่งนี้ก็มักติดลำดับต้นๆ ในการสำรวจความสามารถด้านการแข่งขัน (competitiveness) ในขณะที่มาเลเซียและเพื่อนบ้านอื่นๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ยังเทียบไม่ติด

แต่ความมั่งคั่งทางการเงินก็ไม่อาจกลบความรู้สึกคับแค้นในหมู่ประชาชน

“ฉันไม่ชอบคนสิงคโปร์ตรงที่พวกเขาบ้าเงินและความก้าวหน้าเสียจนลืมความเป็นมนุษย์” ลีน ซู่ หลิน เผยความรู้สึกในใจ

“พวกเขายกย่องความสำเร็จมากเสียจนไม่มีที่ว่างสำหรับคนที่ไม่ต้องการไล่ตามความฝันเหล่านั้น”








กำลังโหลดความคิดเห็น