เอเจนซีส์ – อีซูโม (Izumo ) เรือรบบรรทุกอากาศยานลำแรกขนาด 250 ม. ความสามารถรองรับเฮลิคอปเตอร์ขับไล่ได้ถึง 28 ลำ และมีลูกเรือ 470 คน ราคา 120 พันล้านเยน เข้าประจำการชักธงชาติแดนอาทิตย์อุทัยแล่นเข้ามาจอดเทียบท่าที่ฐานทัพเรือโยโกซูกะ (Yokosuka) ในคานากาวะ ( Kanagawa) เมื่อวานนี้(25) ในพิธีบรรจุเข้าประจำการ หลังจากที่นายกรัฐมนตรี ชินโซ อาเบะได้รับการอนุมัติจากสภาญี่ปุ่นในการเพิ่มเขี้ยวเล็บทางการทหารเพื่อปกป้องคุ้มครองประเทศ โดยเฉพาะในเขตดินแดนพิพาท ในขณะที่อังกฤษยอมรับ ขาดสภาพคล่องทางการเงิน ไม่สามารถจัดหาเรือรบบรรทุกเครื่องบินลำใหม่เข้าประจำการได้เหตุราคาฝูงบินขับไล่ F-35 สูงเกินคาด ในขณะที่บิสซิเนสอินไซด์เดอร์ชี้ ไทยเป็นชาติแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่มีเรือบรรทุกเครื่องบิน แต่กลับไร้เขี้ยวเล็บ ความสามารถหลักคือการช่วยบรรเทาทุกข์สาธารณภัย
เดลีเมล สื่ออังกฤษ รายงานเมื่อวานนี้(25) ญี่ปุ่นประกาศแสนยานุภาพทางทะเลเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่นายกรัฐมนตรี ชินโซ อาเบะได้รับการอนุมัติจากสภาญี่ปุ่นในการเพิ่มเขี้ยวเล็บทางการทหารเพื่อปกป้องคุ้มครองประเทศ มีพิธีบรรจุเข้าประจำการ อีซูโม (Izumo ) เรือรบบรรทุกอากาศยานลำแรกขนาด 250 ม. สามารถรองรับเฮลิคอปเตอร์ขับไล่ได้ถึง 28 ลำ และมีลูกเรือ 470 คน ที่ฐานทัพเรือโยโกซูกะ (Yokosuka) ในคานากาวะ ( Kanagawa)
ซึ่งอีซูโมมีขนาดและรูปลักษณ์เหมือนกับเรือลำเลียงพลจู่โจมยกพลขึ้นบกของนาวิกโยธินสหรัฐฯ ต่างตรงที่เรือรบญี่ปุ่นถูกออกแบบให้ขนเฮลิคอปเตอร์ขับไล่แทน ซึ่งภายใต้กฎหมายรัฐธรรมนูญญี่ปุ่นยังอนุญาตให้กองทัพญี่ปุ่นสามารถมีไว้ประจำการเพื่อปกป้องประเทศได้
สื่ออังกฤษชี้ว่า เหตุที่ญี่ปุ่นเลือกเรือบรรทุกอากาศยานบินเพราะสามารถประเมินกำลัง และยังสามารถใช้ในการจู่โจมได้อีกด้วย
ด้านพลเอกนากาตานิ (Nakatani) รัฐมนตรีกระทรวงกลาโหมญี่ป่นได้ให้สัมภาษณ์ในพิธีส่งมอบเรือรบอีซูโมที่โยโกฮามาว่า “เรือรบลำนี้สามารถใช้ได้ในหลากหลายสถานะ ทั้งเพื่อปกป้องสันติภาพ บรรเทาทุกขุ์นานาชาติ และยังเสริมสมรรถนะของญี่ปุ่นในการสู้กับเรือดำน้ำ
นอกจากเรือบรรทุกอากาศยานอีซูโมแล้ว รัฐบาลญี่ปุ่นยังเสริมด้วยเครื่องบินสอดแนมระยะไกล และเครื่องบินลำเลียงเพื่อยกระดับความสามารถในการป้องกันประเทศ รวมไปถึงการสั่งซื้อเครื่องบินขับไล่ล็อกฮีด มาร์ติน F-35 รถถังสะเทินน้ำสะเทินบก และเฮลิคอปเตอร์ขับไล่ออสเปรย์ ทรูป แคริเออร์ ซึ่งจะมาประจำการบนเรือรบอีซูโม
เดลีเมลรายงานว่า จากทั้งหมดนี้เป็นความพยายามของอาเบะที่จะสร้างกองกำลังป้องกันประเทศเพื่อคานอำนาจกับความก้าวร้าวของจีนประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งเป็นที่น่าเสียดายว่า เรือรบอีซูโมไม่ได้ถูกออกแบบให้สามารถเป็นที่ขึ้นและลงเครื่องบินรบขับไล่ได้ แต่อากาศยานที่ขึ้นลงในแนวดิ่ง เช่น เครื่องบิน F-35 รุ่นขึ้นลงแนวดิ่ง VTOL สามารถทำได้
ในขณะที่อังกฤษ ดูเหมือนสถานการณ์ตรงกันข้าม RT สื่อรัสเซียรายงานว่า คณะกรรมาธิการรัฐสภาอังกฤษได้เปิดเผยในวันอังคาร(24)ว่า เนื่องจากงบประมาณทางทหารถูกตัดทำให้ไม่สามารถจัดหาเรือรบบรรทุกเครื่องบินลำที่ 2 เข้าประจำการได้ และหากมีแต่เรือรบบรรทุกเครื่องบิน แต่ไร้เงาฝูงเครื่องบินขับไล่ประจำลำเรือ การมีเรือบรรทุกเครื่องบินดูเหมือนเป็นสิ่งที่ไร้ประโยชน์
เพราะเมื่อคำนวณดูแล้ว ค่าต่อเรือรบบรรทุกเครื่องบินลำใหม่ ซึ่งรวมไปถึง กองเรือปกป้องเรือบรรทุกเครื่องบิน และฝูงเครื่องบินขับไล่ที่จะบินขึ้นลงนั้น ดูเหมือนจะเกิดกว่างบประมาณที่อังกฤษได้กำหนดไว้
ในขณะที่ก่อนหน้านี้ นายกรัฐมนตรีอังกฤษ เดวิด คาเมรอน ประกาศดึงดันที่จะนำเรือบรรทุกเครื่องบิน HMS Prince of Wales เข้าประจำการที่การประชุมนาโตซัมมิตที่เวลส์ ในเดือนกันยายนที่ผ่านมา เพราะในเวลานั้น คาเมรอนประกาศว่า การมีเรือบรรทุกเครื่องบินลำที่สอง จะทำให้อังกฤษมีความพร้อม 100 % ในการมีเรือรบอีกลำอยู่ตลอดเวลา
สื่อรัสเซียชี้ว่า กองทัพราชนาวีอังกฤษมีเรือรบบรรทุกเครื่องบิน HMS Queen Elizabeth เข้าประจำการตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2014 ที่มีสนนค่าต่อที่ 3.1 พันล้านปอนด์ สูงกว่าการประมาณการเดิมที่กำหนดไว้มาก
อย่างไรก็ตาม คณะกรรมาธิการรัฐสภาอังกฤษได้เห็นแย้งคาเมรอนในความคิดที่จะมีเรือบรรทุกเครื่องบินลำที่ 2 ในรายงาน ”Re-thinking defense to meet new threats” โดยให้ความเห็นว่า ในสถานการณ์การคลังอังกฤษในปัจจุบัน ทำให้เห็นว่าไม่มีความสมเหตุสมผลในการที่อังกฤษจะมีเรือบรรทุกเครื่องบินลำที่ 2 ในความครอบครอง และยังเสริมว่า ค่าใช้จ่ายของการต่อเรือลำที่สองมีเพิ่มมากขึ้นเนื่องจากราคาของฝูงเครื่องบินขับไล่ F-35 ที่มีราคาเพิ่มสูงขึ้น
“เรือบรรทุกเครื่องบินแต่ละลำถูกออกแบบให้สามารถบรรทุกเครื่องบินขับไล่ F-35 ได้ถึง 36 ลำ แต่ ณ ถึงวินาทีนี้กระทรวงกลาโหมอังกฤษสั่งซื้อ F-35 เพียงแค่ 8 ลำ ซึ่งเนื่องมาจากราคาของเครื่องบินขับไล่ ที่มีการประเมินว่าตกลำละไม่ต่ำกว่า 100 ล้านปอนด์ และทำให้สามารถคำนวณได้ว่า เรือบรรทุกเครื่องบินนี้ต้องใช้เงินหลายพันล้านปอนด์เพื่อทำให้สามารถประจำการได้….แต่จะมีประโยชน์อันใดที่จะมีแต่เรือบรรทุกเครื่องบินที่ปราศจากฝูงเครื่องบินรบขับไล่” คณะกรรมาธิการรัฐสภาอังกฤษแถลง
ซึ่งในตอนแรกกระทรวงกลาโหมอังกฤษตั้งเป้าจะซื้อเครื่องบินขับไล่ F-35 จำนวน 128 ลำ แต่เนื่องด้วยต้องการประหยัดค่าใช้จ่าย จึงเลือกซื้อรุ่นที่ราคาต่ำลง แต่ทว่ากลับเกิดปัญหาที่รุ่นที่มีราคาต่ำนั้นไม่สามารถบินได้ในระยะไกล หรือสามารถติดอาวุธได้มากตามที่ต้องการ
และในรายงานฉบับนี้ คณะกรรมาธิการรัฐสภาอังกฤษ ยังเตือนถึงแผนการปกป้องอังกกฤษของกระทรวงกลาโหมแดนผู้ดีนั้นยังไม่เพียงพอรับมือภัยก่อการร้ายที่คุกคาม รวมไปถึงความก้าวร้าวของรัสเซีย และชาติเอเชีย เช่น จีน เป็นต้น
และเมื่อมองย้อนมาดูไทยที่มีเรือบรรทุกเครื่องบินเช่นกัน ซึ่งบิสซิเนสอินไซด์เดอร์ เคยลงบทความวิจารณ์ไทยว่า เป็นชาติแรกในภูมิภาคที่มีเรือบรรทุกเครื่องบินแต่กลับไร้เขี้ยวเล็บ และยังเป็นเรือบรรทุกเครื่องบินที่มีขนาดเล็กที่สุดในโลกซึ่งไม่มีแม้แต่อาวุธติดตั้งป้องกันตัวเอง
เรือหลวงจักรีนฤเบศร เป็นเรือธงและเรือบรรทุกอากาศยานลำแรกและลำเดียวของราชนาวีไทย ประจำการในส่วนกำลังรบของกองทัพเรือ และจากสื่อดิพโพลแมต ระบุว่า ในปี 2006 ฝูงบินรบ AV-8S Matador (Harrier) อายุร่วม 30 ได้ปลดประจำการไป ทำให้ เรือหลวงจักรีนฤเบศรปราศจากฝูงบินรบคอยคุ้มครอง ซึ่งเป็นปีเดียวกับที่เกิดการทำรัฐประหาร และเกิดซ้ำอีกครั้งในปี 2014
ซึ่งบิสซิเนสอินไซด์เดอร์ชี้ว่า แม้ในขณะที่เรือรบบรรทุกเครื่องบินลำนี้ประจำการ แต่ทว่ายังไม่สามารถเทียบได้กับเรือบรรทุกเครื่องบินจากจีนและอินเดียที่มีขนาดใหญ่กว่าได้ และไม่ต้องเทียบกับเรือรบบรรทุกเครื่องบินสหรัฐฯ ที่ทำให้เรือหลวงจักรีนฤเบศรกลายเป็นเรือบรรทุกเครื่องบินที่มีขนาดเล็กที่สุดในโลก โดยมีความสามารถบรรทุกเครื่องบินรบ AV-8S Matador (Harrier) ได้ 9 ลำ และเฮลิคอปเตอร์ 14 ลำ พร้อมกับลูกเรือ 609 คน ซึ่งบิสซิเนสอินไซด์เดอร์ระบุว่า เรือรบของไทยลำนี้ "ไม่ได้ติดตั้งระบบต่อต้านขีปนาวุธอากาศยานมาด้วย"
แต่กระนั้นเรือจักรีนฤเบศรโดดเด่นในด้านการช่วยบรรเทาทุกข์มากกว่าการใช้ในการป้องกันประเทศ ในเหตุการณ์สึนามิครั้งใหญ่ 2004 กองทัพไทยใช้เรือลำนี้ช่วยบรรเทาทุกข์ รวมไปถึงช่วยในภารกิจกู้ภัยในเหตุน้ำท่วมใหญ่ในปี 2010- 2011