xs
xsm
sm
md
lg

ทีมวิจัยอวกาศญี่ปุ่นสร้าง “เทคโนโลยีส่งพลังงานไร้สาย” ก้าวแรกสู่แผนสร้าง “โรงไฟฟ้าอวกาศ”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


เอเอฟพี – นักวิทยาศาสตร์ญี่ปุ่นประสบความสำเร็จในการส่งผ่านพลังงานแบบไร้สาย ซึ่งถือเป็นก้าวย่างสำคัญที่อาจก่อให้เกิดโรงไฟฟ้าแสงอาทิตย์ในอวกาศขึ้นในวันใดวันหนึ่งก็เป็นได้ เจ้าหน้าที่เผยวันนี้ (12)

ทีมวิจัยใช้คลื่นไมโครเวฟส่งพลังงาน 1.8 กิโลวัตต์ ซึ่งมากพอที่จะเปิดใช้งานกาต้มน้ำไฟฟ้า ผ่านอากาศด้วยความถูกต้องแม่นยำสู่เครื่องรับที่อยู่ห่างออกไป 55 เมตร

แม้ว่าระยะทางดังกล่าวจะถือว่าไม่มากนัก แต่เทคโนโลยีนี้ก็สามารถกรุยทางให้มนุษยชาติเอื้อมถึงพลังงานแสงอาทิตย์ปริมาณมหาศาลที่มีอยู่อย่างเหลือเฟือในอวกาศและใช้มันบนพื้นโลกในท้ายที่สุด โฆษกองค์การสำรวจอวกาศญี่ปุ่น (แจกซา) ระบุ

“นี่เป็นครั้งแรกที่มีผู้ประสบความสำเร็จในการส่งพลังงานไฟฟ้าปริมาณส่งออกสูงเกือบ 2 กิโลวัตต์ผ่านคลื่นไมโครเวฟไปยังเป้าหมายขนาดเล็ก โดยใช้อุปกรณ์ควบคุมแบบเจาะจงทิศทางอันซับซ้อน” เขากล่าว

แจกซาพยายามคิดค้นระบบพลังงานแสงอาทิตย์อวกาศ (Space Solar Power Systems หรือ SSPS) มาเป็นเวลาหลายปีแล้ว โฆษก ระบุ

โรงไฟฟ้าแสงอาทิตย์ในอวกาศจะมีประโยชน์เหนือกว่าโรงไฟฟ้าแสงอาทิตย์ที่ตั้งอยู่บนพื้นโลกอย่างมากมาย ด้วยสภาพความพร้อมที่จะนำพลังงานมาใช้ตลอดเวลา โดยไม่ต้องคำนึงถึงสภาพอากาศหรือช่วงเวลาของวัน

ถึงแม้ว่าดาวเทียมดวงต่างๆ อย่างเช่น สถานีอวกาศนานาชาติ จะสามารถใช้พลังงานแสงอาทิตย์ที่สาดส่องลงมาที่ตัวดาวเทียมได้มานานแล้ว แต่การส่งพลังงานดังกล่าวลงมาบนโลกให้คนใช้ได้นั้น ยังเป็นเพียงเรื่องของนิยายวิทยาศาสตร์

แต่งานวิจัยของแดนอาทิตย์อุทัยชิ้นนี้กำลังเสนอความเป็นไปได้ที่ วันหนึ่งมนุษย์จะสามารถเก็บเกี่ยวแหล่งพลังงานที่ไม่มีวันหมดสิ้นในอวกาศ

โฆษกของแจกซา ระบุว่า แนวคิดดังกล่าวมีไว้ใช้กับดาวเทียมส่งผ่านแสงอาทิตย์ด้วยคลื่นไมโครเวฟ ซึ่งจะมีแผงดูดซับแสงอาทิตย์และเสาอากาศ โดยจะถูกจัดตำแหน่งไว้ห่างจากโลกราว 36,000 กิโลเมตร

“แต่มันอาจใช้เวลาหลายสิบปีกว่าที่เราจะได้เห็นประโยชน์ที่จะได้รับจากเทคโนโลยีนี้ อาจเป็นในช่วงทศวรรษ 2040 หรือไกลกว่านั้น” เขากล่าว

“มีความท้าทายหลายอย่างที่จะต้องเอาชนะ เช่น จะส่งโครงสร้างขนาดใหญ่เข้าสู่อวกาศได้อย่างไร จะสร้างและบำรุงรักษามันอย่างไร”

แนวความคิดเรื่องโรงไฟฟ้าแสงอาทิตย์ในอวกาศผุดขึ้นมาในหมู่นักวิจัยสหรัฐฯ ในช่วงทศวรรษ 1960 และโครงการ SSPS ของญี่ปุ่น ซึ่งมีกระทรวงอุตสาหกรรมเป็นผู้จัดหาทุนหลัก ได้เริ่มต้นขึ้นในปี 2009 โฆษก ระบุ

ญี่ปุ่นซึ่งขาดแคลนทรัพยากรต้องนำเข้าเชื้อเพลิงฟอสซิลปริมานมหาศาล และหันมาอาศัยแหล่งพลังงานนี้มากยิ่งขึ้น เนื่องจากการปิดโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ของประเทศเพราะผลพวงจากภัยพิบัติที่ฟูกูชิมะเมื่อปี 2011


กำลังโหลดความคิดเห็น