เอเจนซีส์ - รัฐมนตรีคลังของยูโรโซน แสดงการสนับสนุนแทบจะในทันทีเมื่อวันอังคาร (24 ก.พ.) ต่อร่างพิมพ์เขียวการปฏิรูปของกรีซ เพื่อแลกเปลี่ยนกับการขยายอายุแพกเกจเงินกู้ออกไปอีก 4 เดือน ทว่าเจ้าหนี้ใหญ่ร่วมอีก 2 รายดูเหมือนยังไม่พอใจนัก โดยกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) บอกเลยว่าข้อเสนอล่าสุดไม่มีส่วนใดทำให้แน่ใจได้ว่ากรีซจะยึดมั่นในมาตรการปฏิรูป ขณะที่ธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) พูดแบบอ้อมค้อมกว่า
ระหว่างการประชุมทางไกลที่ใช้เวลาไม่นานเมื่อวันอังคาร รัฐมนตรีคลัง 19 ชาติซึ่งใช้เงินตาสกุลยูโรด้วยกัน ได้รับรองแผนการที่รัฐบาลฝ่ายซ้ายของกรีซส่งให้แทบจะในนาทีสุดท้ายก่อนเที่ยงคืนวันจันทร์ (23) แต่ก็เป็นไปตามข้อเรียกร้องของคณะเจ้าหนี้ภายหลังการหารือมาราธอน 11 ชั่วโมงเมื่อปลายสัปดาห์ที่แล้ว
ขั้นตอนต่อไปคือ รัฐสภาของชาติสมาชิกยูโรโซนเหล่านี้ยังจะต้องลงมติอนุมัติแผนการของกรีซ เพื่อขยายแพกเกจเงินกู้ปัจจุบันที่กำลังจะสิ้นสุดลงวันเสาร์นี้ (28) ออกไปอีก 4 เดือน และจากนั้นก็เริ่มต้นหารือในรายละเอียดเกี่ยวกับแผนปฏิรูปด้านต่างๆ ซึ่งเอเธนส์เสนอออกมาในคราวนี้
ปิแอร์ มอสโกวิชี กรรมาธิการกิจการเศรษฐกิจสหภาพยุโรป (อียู) กล่าวว่า แม้ยูโรโซนสามารถหลีกเลี่ยงวิกฤตได้อีกครั้ง แต่ยังมีความท้าทายมากมายรออยู่
ตลาดหุ้นเอเธนส์ทะยานขึ้นถึง 9.81% ในวันอังคาร ด้วยความมั่นใจว่า ข้อเสนอของกรีซจะผ่านฉลุย หลังการถกเถียงเผ็ดร้อนตลอดหลายสัปดาห์ทั้งในกรุงบรัสเซลส์ อันเป็นที่ตั้งสำนักงานใหญ่ของอียู และอีกหลายเมืองหลวงทั่วยุโรป
เช่นเดียวกัน ตลาดหุ้นลอนดอนทำสถิติอยู่ในระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ หลังปิดเพิ่มขึ้น 0.54% อยู่ที่ 6,94963 จุด
ท่ามกลางความดีใจและโล่งอกของหลายคน ทว่า คริสติน ลาการ์ด กรรมการผู้จัดการใหญ่ของไอเอ็มเอฟ ซึ่งเป็น 1 ใน 3 ของคณะเจ้าหนี้ที่เรียกกันว่า “ทรอยกา” ได้ออกมาตั้งข้อสังเกตในวันอังคารว่า ข้อเสนอของเอเธนส์ไม่มีการรับประกันอย่างชัดเจนว่า รัฐบาลภายใต้การนำของนายกรัฐมนตรีอเล็กซิส ซีปราส มีเจตนาจะผูกมัดตัวเองกับมาตรการปฏิรูปซึ่งได้รับการคาดหมายแต่อย่างใด โดยเฉพาะอย่างยิ่งไม่มีการให้คำมั่นชัดเจนในการพัฒนาและดำเนินการปฏิรูประบบบำนาญและภาษีการขาย หรือการดำเนินการเพื่อสานต่อนโยบายที่ตกลงก่อนหน้านี้ในการเปิดตลาดภาคอุตสาหกรรมที่ยังได้รับการปกป้องคุ้มครอง การปฏิรูประบบราชการ การแปรรูปกิจการ และการปฏิรูปตลาดแรงงาน
ขณะที่มาริโอ ดรากี ประธานอีซีบี ออกมาแถลงตั้งข้อสังเกตว่า แผนการปฏิรูปบางข้อของกรีซต่างจากแผนการเดิมที่ใช้อยู่ และมาตรการใหม่ใดๆ ก็ตามที จะต้องเท่าเทียมหรือกระทั่งมีคุณภาพมากขึ้นในการตัดลดหนี้สินของกรีซ
กรีซนั้นต้องขอรับความช่วยเหลือแพกเกจเงินกู้ถึง 2 ระบอกในปี 2010 และ 2012 รวมมูลค่า 240,000 ล้านยูโร ซึ่งทำให้หนี้สาธารณะของประเทศพุ่งเป็น 175% ของมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี)
ซีปราส ผู้นำพรรคซีริซาที่ชนะการเลือกตั้งถล่มทลายเมื่อเดือนที่แล้ว เรียกร้องให้เจ้าหนี้ใหญ่อย่าง อียู ธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) และไอเอ็มเอฟ ยุติโครงการความช่วยเหลือชนิดที่ตั้งเงื่อนไขให้กรีซใช้มาตรการรัดเข็มขัด จนประชาชนเดือดร้อนกลายเป็น “วิกฤตการณ์มนุษยธรรม”
หากข้อตกลงนี้ได้รับการรับรองจากรัฐสภาของชาติสมาชิกยูโรโซน ทุกฝ่ายจะกลับมาหารือในรายละเอียดเกี่ยวกับข้อตกลงฉบับเต็มภายในสิ้นเดือนเมษายน เพื่อให้กรีซมีเงินชำระหนี้ส่วนซึ่งจะถึงกำหนดในเดือนมิถุนายน
นายกรัฐมนตรีอังเกลา แมร์เคิลของเยอรมนี ผู้สนับสนุนมาตรการรัดเข็มขัดและชาติเศรษฐกิจใหญ่สุดในยุโรป ขอให้พรรคอนุรักษนิยมของตนสนับสนุนการขยายข้อตกลงเงินกู้กรีซในระหว่างการลงมติของสภาผู้แทนราษฎรวันศุกร์นี้ (27) แต่สำทับว่า ภารกิจนี้ยังไม่เสร็จสิ้น
ทั้งนี้ แผนการปฏิรูปที่เอเธนส์เสนอครอบคลุมขั้นตอนในการปรับปรุงการจัดเก็บภาษีและการใช้จ่ายของรัฐบาล โดยเฉพาะภาคบริการประชาชนและบำเหน็จบำนาญ และการปราบปรามการทุจริต
นอกจากนี้ยังมีมาตรการเพื่อบรรเทาความทุกข์ยากจากนโยบายรัดเข็มขัด เช่น การจ่ายกระแสไฟฟ้าให้ผู้ยากไร้ 300,000 ครอบครัวฟรี คูปองอาหารและระบบขนส่งสาธารณะฟรี และการรักษาพยาบาลฟรี รวมทั้งการให้ความช่วยเหลือผู้มีบำเหน็จบำนาญต่ำ
เจ้าหน้าที่กระทรวงคลังกรีซคนหนึ่งเผยว่า เอเธนส์จะเริ่มหารือกับอียูและไอเอ็มเอฟทันที รวมถึงการเปิดทางให้กรีซออกตั๋วเงินคลังระยะสั้นเพิ่ม และนำกำไรที่อีซีบีได้จากพันธบัตรกรีซมาใช้
ด้านเจอโรน ดิจเซลโบลม ประธานของยูโรกรุ๊ป หรือกลุ่มรัฐมนตรีคลังยูโรโซน ได้เรียกร้องให้กรีซเดินหน้าอย่างรวดเร็ว เนื่องจากกรีซจะต้องปรับปรุงและเสนอแผนปฏิรูปอย่างละเอียดภายใน 4 เดือน
นักการทูตหลายคนในบรัสเซลส์สงวนท่าทีที่จะแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับข้อตกลงล่าสุด แต่ทุกคนยอมรับว่า เป็นเรื่องที่ดีในการมีข้อตกลงเบื้องต้นกันได้เช่นนี้ เพื่อหลีกเลี่ยงผลกระทบเลวร้ายหากกรีซไม่สามารถตกลงกับเจ้าหนี้ได้
ทว่า ในสายตานักวิเคราะห์เอกชนอย่างเจนนิเฟอร์ แมกคีโอน จากแคปิตอล อิโคโนมิกส์ กลับมองว่า นี่เป็นเพียงข้อตกลงชั่วคราว ขณะที่สถานการณ์หนี้สินที่ไม่ยั่งยืนของกรีซยังไม่ได้รับการแก้ไข เท่ากับว่า ยังมีความเป็นไปได้อย่างชัดเจนที่เอเธนส์จะต้องออกจากยูโรโซนซึ่งจะสร้างความโกลาหลใหญ่หลวง