xs
xsm
sm
md
lg

Weekend Focus:วิกฤตกรีซถึงทางตัน? หลัง “รัฐบาลซ้ายสุดติ่ง” ท้าชน “เจ้าหนี้ทรอยกา”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ชัยชนะในการเลือกตั้งทั่วไปที่จัดขึ้นก่อนกำหนดในกรีซ ของกลุ่มการเมืองซ้ายสุดติ่งอย่าง “ซีริซา” ในการลงคะแนนที่จัดขึ้นเมื่อวันที่ 25 มกราคมที่ผ่านมา กลายเป็นชัยชนะครั้งประวัติศาสตร์ ที่สร้างแรงกระเพื่อมและแรงสั่นสะเทือนไปทั่ว ไม่เพียงแต่เฉพาะในกรีซเท่านั้น แต่ยังรวมถึงดินแดนต่างๆทั่วยุโรป โดยเฉพาะในส่วนที่เป็นสมาชิกภาพของสหภาพยุโรป (อียู) และกลุ่มการเงิน “ยูโรโซน” ที่มีเงินสกุล “ยูโร” เป็นดั่งโซ่ทองคล้องใจ

การที่กลุ่มการเมืองซีริซาซึ่งเป็นพรรคฝ่ายค้านมาอย่างยาวนานและมีจุดยืนที่แข็งกร้าวต่อยุโรป สามารถคว้าจำนวนที่นั่งในรัฐสภามาครองได้ถึง 149 ที่นั่งหรือ “เกือบครึ่งหนึ่ง” ของทั้งหมด 300 ที่นั่ง และยังได้คะแนนโหวตจากประชาชน คิดเป็นสัดส่วนที่สูงถึง 36.3 เปอร์เซ็นต์ จึงถือเป็นเรื่องที่น่าจับตาใหญ่หลวง

แน่นอนว่าการได้มาซึ่งอำนาจของกลุ่มซีริซา ภายใต้การนำของ “อเล็กซิส ซีปราส” นักการเมืองหนุ่มวัยเพียง 40 ปีนั้นมีสาเหตุสำคัญมาจาก “ความเบื่อหน่ายเอือมระอา” และ “ความทุกข์ยากสาหัส” ของประชาชนชาวกรีก ที่ต้องกลายสภาพเป็น “เหยื่อ” จากผลพวงของ “ความล้มเหลวซ้ำซาก” ในการบริหารประเทศของรัฐบาลชุดก่อน ตลอดจนการบังคับใช้มาตรการรัดเข็มขัดทางเศรษฐกิจสุดโหด ที่พ่วงท้ายแนบมากับเงื่อนไขเงินกู้เมื่อครั้งที่กรีซต้อง “แบมือ” ขอรับความช่วยเหลือจาก “เจ้าหนี้สามฝ่าย” หรือ “ทรอยกา” ที่ประกอบด้วยสหภาพยุโรป (อียู) ธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) และกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ)

ดังนั้น จึงมิใช่เรื่องแปลกแต่อย่างใดที่บรรดาเจ้าหนี้จะรู้สึกเป็นกังวลต่อรัฐบาลชุดใหม่ในกรุงเอเธนส์ ที่ได้ขึ้นสู่อำนาจโดยมีจุดยืนเป็นปฏิปักษ์ในแทบทุกเรื่องต่อนโยบายของเหล่าเจ้าหนี้ ขณะที่ฝ่ายรัฐบาลนิยมซ้ายของกรีซเองก็ต้องการเปิดการเจรจาใหม่เพื่อขอลด-เลิกเงื่อนไขที่พวกเขาเห็นว่า “ไม่เป็นธรรม”

อย่างไรก็ดี การเจรจาล่าสุดระหว่าง “ยานิส วารูฟากิส” รัฐมนตรีคลังของกรีซกับกลุ่มยูโรโซน ที่ถือเป็น “ไฮไลต์ประจำสัปดาห์นี้” กลับปิดฉากจบลงเร็วเกินความคาดหมายในวันจันทร์ (16 ก.พ.) ที่ผ่านมา หลังจากรัฐบาลใหม่ของกรีซยืนกรานแบบ “กระต่ายขาเดียว” ไม่ยอมต่อสัญญาเงินกู้ยืม และปฏิเสธที่จะยอมรับทุกเงื่อนไขคุมเข้มเศรษฐกิจที่กำหนดโดยเจ้าหนี้ 3 ฝ่าย ถึงแม้ทางด้านทางด้านนักวิเคราะห์จากสำนักต่างๆ จะพากันลงความเห็นว่า หากปราศจาก “เงินสดก้อนใหม่” อัดฉีดเข้ามาในเร็ววัน เศรษฐกิจที่ร่อแร่เจียนอยู่เจียนไปของกรีซ อาจอยู่รอดปลอดภัยได้ถึงแค่กลางปี 2015 นี้เท่านั้น ก่อนที่กรีซจะกลายสภาพเป็นรัฐที่ “ล้มละลายถาวร”

การเจรจาระหว่างรัฐบาลใหม่ของกรีซกับยูโรโซนที่แต่เดิมคาดว่าจะยืดเยื้อยาวนานเป็นวันเป็นคืน กลับสิ้นสุดลงรวดเร็วเกินคาดในเวลาเพียง 4 ชั่วโมงเศษ และส่งผลให้อนาคตของกรีซในฐานะสมาชิกกลุ่มยูโรโซน ดูจะตกอยู่ในสภาพที่ไร้ความแน่นอนมากยิ่งขึ้นไปอีก โดยเฉพาะการที่รัฐบาลใหม่ที่นำโดยพวกฝ่ายซ้ายจัดในกรุงเอเธนส์ ประกาศยุติข้อตกลงเงินกู้ยืมจำนวน 240,000 ล้านยูโร ( 8.92 ล้านล้านบาท) รวมถึงยังประกาศ “Say No” ต่อมาตรการรัดเข็มขัดที่พ่วงติดมาด้วย ไม่เว้นแม้แต่การจำกัดขอบเขตการให้ความร่วมมือกับคณะตรวจสอบของเจ้าหนี้ทรอยกา

ก่อนหน้านี้มีการหารือกันมายกหนึ่งแล้วระหว่างรัฐบาลใหม่ของกรีซกับคณะกรรมาธิการยุโรป ซึ่งได้ข้อสรุปเบื้องต้นว่ากรีซจะได้รับเงินกู้ระยะสั้น 4-6 เดือน เพื่อแลกเปลี่ยนกับการ “แช่แข็ง” นโยบายต่อต้านการรัดเข็มขัด แต่การหารือยกล่าสุดระหว่างรัฐบาลใหม่ของกรีซกับบรรดาขุนคลังยูโรโซนกลับมีการยื่นข้อเสนอใหม่ซึ่งมีเนื้อหาต่างออกไป และนำไปสู่การปฏิเสธอย่างแข็งกร้าวจากทางเอเธนส์


ล่าสุดเมื่อช่วงกลางสัปดาห์ โฆษกรัฐบาลกรีซออกโรงยืนยันว่าทางเอเธนส์ เตรียมขอขยายข้อตกลงเงินกู้กับยูโรโซนต่อไปอีก 6 เดือน แต่ไม่ขอพ่วงเอามาตรการปฏิรูปอันเข้มงวดและแสนเจ็บปวดตามสัญญาเดิมเข้ามาด้วย ซึ่งถือเป็นการปรับท่าทีครั้งสำคัญเพื่อเปิดช่องให้การเจรจากับเจ้าหนี้ทรอยกาพอจะมีโอกาสดำเนินต่อไปได้

ด้านโวล์ฟกัง ชอยเบิล รัฐมนตรีคลังเยอรมนี กล่าวว่า ยูโรโซนมีจุดยืนที่ชัดเจนว่าไม่ปรารถนาจะอัดฉีดกรีซต่อไป หากรัฐบาลใหม่ของกรีซไม่สามารถการันตีหรือสร้างความมั่นใจได้ว่า จะเร่งจัดการระบบการเงินการคลังของตนให้เป็นระเบียบเรียบร้อย และถูกหลักธรรมาภิบาล พร้อมกำชับว่าการเจรจาที่จะเกิดขึ้นต่อจากนี้ไป จะไม่ใช่การพุ่งเป้าขยายโปรแกรมเงินกู้ยืม แต่เยอรมนีและสมาชิกยูโรโซนอื่นๆจะขอดูความชัดเจนว่า โปรแกรมความช่วยเหลือที่มีอยู่แล้วในปัจจุบัน จะได้รับการดำเนินการและสนองตอบจนครบถ้วนสมบูรณ์จากทางเอเธนส์หรือไม่ และกรีซควรชี้แจงว่า จะแก้ปัญหาของตัวเองอย่างไรเสียมากกว่า

สถานการณ์ที่ยังไร้ความแน่นอน ไม่ต่างจากการถูกปกคลุมด้วยเมฆหมอกทึบอย่างในเวลานี้ เกี่ยวกับการเจรจาต่ออายุหนี้ของกรีซ ส่งผลให้บรรดานักเศรษฐศาสตร์คาดการณ์ว่า โอกาสที่กรีซจะต้องโบกมืออำลากลุ่มยูโรโซนขณะนี้มีสูงถึง 50เปอร์เซ็นต์เลยทีเดียว จากที่คาดการณ์ไว้เดิมเพียง 25 เปอร์เซ็นต์

ดังนั้น จึงสามารถสรุปได้แต่เพียงว่าศึกดวลหมัดและการงัดข้อประลองกำลัง ระหว่างรัฐบาลใหม่ของกรีซกับบรรดาเจ้าหนี้ที่เกิดขึ้นอาจเป็นเพียงแค่ “มวยยกแรก” และคงต้องติดตามดูต่อไปว่าสุดท้ายแล้ว “มหากาพย์หนี้สินกรีซ” จะจบลงเมื่อใดและจบลงอย่างไรในบั้นปลาย



อเล็กซิส ซีปราส
กำลังโหลดความคิดเห็น