xs
xsm
sm
md
lg

สื่อญี่ปุ่นมีแนวโน้ม “เซ็นเซอร์ตัวเอง” ไม่กล้าวิจารณ์ “อาเบะ”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายกรัฐมนตรี ชินโซ อาเบะ แห่งญี่ปุ่น
รอยเตอร์ – สื่อมวลชนแดนปลาดิบมีแนวโน้ม “เซ็นเซอร์ตัวเอง” มากยิ่งขึ้นภายใต้รัฐบาลชุดปัจจุบัน โดยเฉพาะสื่อรุ่นใหม่ๆ ที่มักไม่กล้าวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของนายกรัฐมนตรี ชินโซ อาเบะ เพราะเกรงว่าการสร้างความไม่พอใจต่อฝ่ายบริหารจะทำให้พวกเขาเข้าถึงแหล่งข่าวได้ยากขึ้น ผู้สันทัดกรณีเผย

แม้ไม่เคยมีใครกล่าวหาว่ารัฐบาลอาเบะแทรกแซงการทำงานของสื่อมวลชนโดยตรง แต่ผู้คร่ำหวอดในแวดวงสื่อเมืองปลาดิบและนักวิเคราะห์ชี้ว่า สารที่รัฐบาลกำลังส่งออกมานั้นเป็นที่เข้าใจแจ่มแจ้ง

“ไม่กี่ปีมานี้ สื่อมวลชนญี่ปุ่นนำเสนอข่าวสารได้อย่างตรงไปตรงมา และมีบทบาทเชิงบวกในการเรียกร้องอำนาจของประชาชน แต่พอมาถึงยุคของ อาเบะ พวกเขาเริ่มที่จะล่าถอย” เจฟฟรีย์ คิงสตัน ผู้อำนวยการศูนย์เอเชียศึกษา มหาวิทยาลัยเทมเปิลสาขาประเทศญี่ปุ่น ระบุ

“บรรยากาศที่น่าหวาดหวั่นทำให้สื่อต้องจำกัดการทำงานมากขึ้น”

อาเบะ มีความสัมพันธ์ไม่สู้ดีกับสื่อมวลชนมาตั้งแต่ช่วงที่เขาเป็นรัฐบาลสมัยแรก ซึ่งสิ้นสุดลงในปี 2007 ก่อนที่ผู้นำสายอนุรักษ์นิยมรายนี้จะคว้าชัยในสนามเลือกตั้งกลับมากุมบังเหียนประเทศอีกครั้งในปี 2012

สำหรับครั้งนี้ ผู้เชี่ยวชาญชี้ว่า อาเบะ พยายามที่จะไม่ทำพลาดซ้ำสอง

คัตสุโตะ โมมิอิ ประธานสถานีโทรทัศน์แห่งชาติเอ็นเอชเคซึ่ง อาเบะ คัดเลือกเองกับมือ เคยทำให้หลายฝ่ายรู้สึกกังขาต่อความเป็นกลางของสื่อสำนักนี้มาแล้วด้วยคำพูดเมื่อต้นปี 2014 ที่ว่า “ถ้ารัฐบาลบอกให้ไปขวา เราจะพูดว่าไปซ้ายไม่ได้”

ต่อมาในช่วงปลายปี ผู้ช่วยคนสนิทของ อาเบะ ยังได้ส่งหนังสือไปยังสถานีโทรทัศน์ทั่วประเทศเพื่อขอร้องให้รายงานข่าวการเลือกตั้งอย่างเป็นธรรม แต่ผู้สื่อข่าวส่วนใหญ่ก็ตีความได้ว่า พวกเขาไม่ควรวิพากษ์วิจารณ์อะไรให้มากนักถ้ายังไม่อยากสูญเสียแหล่งข่าว

“ในอดีตก็เคยมีหลายกรณีที่สื่อมวลชนถูกบีบให้ต้องเซ็นเซอร์ตัวเอง แต่ส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับราชวงศ์ หรือหลังเกิดสึนามิและภัยพิบัตินิวเคลียร์เมื่อปี 2011 ซึ่งสื่อจำเป็นต้องรายงานข่าวด้วยภาษาที่เคร่งขรึมสงบเสงี่ยมกว่าปกติ” ชินิจิ ฮิซาโดเมะ บรรณาธิการข่าวต่างประเทศของหนังสือพิมพ์โตเกียวชิมบุน ระบุ

“ผมคิดว่า นี่อาจจะเป็นครั้งแรกที่การวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลมีน้อยขนาดนี้”

ผู้สันทัดกรณีชี้ว่า ผลที่ติดตามมาคือการพูดถึงรัฐบาลอย่างเป็นมิตรมากขึ้น แม้แต่ในสื่อที่เคยสาวไส้กันแบบไม่เกรงใจ

“การวิจารณ์รัฐบาลลดลงอย่างเห็นได้ชัด” โคโซ นากาตะ อดีตผู้ผลิตรายการของเอ็นเอชเค ซึ่งปัจจุบันผันตัวมาเป็นอาจารย์สอนวิชาสื่อสารมวลชนที่มหาวิทยาลัยมูซาชิ กล่าว

ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดก็คือ ผู้ผลิตรายการ Hodo Station ทางทีวีอาซาฮีซึ่งถูกสั่งย้ายให้ไปทำหน้าที่อื่นในเดือนเมษายนนี้ หลังจากที่เธอไม่แยแสคำเตือนภายในที่ห้ามไม่ให้วิจารณ์รัฐบาลอาเบะ แหล่งข่าว 2 รายที่รู้ตื้นลึกหนาบางในเรื่องนี้เผย

ชิเงอากิ โคกะ อดีตเจ้าหน้าที่กระทรวงพาณิชย์ซึ่งเป็นแขกรับเชิญประจำของรายการ Hodo Station บอกกับรอยเตอร์ว่า เขาเองก็ได้รับแจ้งว่าไม่ต้องไปร่วมรายการอีกต่อไปหลังจากเดือนมีนาคม ซึ่งเข้าใจว่าเป็นเพราะตนเองเคยวิจารณ์การตัดสินใจของรัฐบาลอาเบะในเรื่องตัวประกันญี่ปุ่น 2 รายที่ถูกกลุ่มติดอาวุธรัฐอิสลาม (ไอเอส) จับเป็นตัวประกัน ซึ่งสุดท้ายทั้งสองก็ถูกฆ่าตัดคอโดยที่โตเกียวช่วยเหลืออะไรไม่ได้

โยชิฮิเดะ สุกะ เลขาธิการคณะรัฐมนตรีญี่ปุ่น ออกมายืนยันเมื่อวานนี้ (24) ว่ารัฐบาลเคารพเสรีภาพของสื่ออย่างเต็มที่

อย่างไรก็ตาม นักข่าวและผู้เชี่ยวชาญด้านสื่อสารมวลชนต่างบอกเป็นเสียงเดียวกันว่า แนวโน้มของการเซ็นเซอร์ตัวเองเพิ่มมากขึ้นตั้งแต่เกิดวิกฤตตัวประกัน

คนในแวดวงสื่อมวลชนญี่ปุ่นเกือบ 3,000 คนได้ออกถ้อยแถลงร่วมในเดือนนี้ เพื่อแสดงความกังวลเกี่ยวกับการจำกัดเสรีภาพสื่อ


กำลังโหลดความคิดเห็น