เอเอฟพี - เจ้าหน้าที่กระทรวงกลาโหมอินเดียระบุในวันนี้ (19 ก.พ.) ว่าแผนสร้างเรือรบ 7 ลำที่มีมูลค่ากว่า 8 พันล้านดอลลาร์ (ประมาณ 2.6 แสนล้านบาท) ได้จัดทำเรียบร้อยแล้ว อันเป็นส่วนหนึ่งของการผลักดันให้เกิดการผลิตยุทโธปกรณ์ภายในประเทศ รวมถึงเป็นการเตรียมรับมือจีนที่กำลังเหิมเกริมขึ้นเรื่อยๆ
ความเคลื่อนไหวครั้งนี้ถูกมองว่า เป็นความพยายามที่จะลดความห่างในด้านแสนยานุภาพทางทะเล ระหว่างอินเดียกับจีน ในขณะเดียวกันก็ยังเป็นการช่วยให้นายกรัฐมนตรี นเรนทรา โมดี ของอินเดีย สามารถผลักดันนโยบายที่จะให้มีการผลิตยุทโธปกรณ์ภายในประเทศ
การที่ถูกล้อมรอบไปด้วยชาติที่เป็นศัตรูอย่างปากีสถานและจีน ทำให้อินเดียต้องทุ่มทุนหลายพันล้านดอลลาร์ เร่งพัฒนายุทโธปกรณ์ที่ล้าหลังของตน แถมเมื่อไม่นานมานี้ยังมีการยกเลิกข้อจำกัดของต่างชาติ สำหรับการลงทุนเกี่ยวกับด้านกลาโหม
แหล่งข่าวในกระทรวงกลาโหมบอกกับเอเอฟพีว่า คณะรัฐมนตรีด้านความมั่นคงได้ดำเนินแผนสำหรับการสร้างเรือรบสเตลธ์ฟริเกต 7 ลำ ที่อู่ต่อเรือภายในประเทศไว้แล้ว ซึ่งจะมี 4 ลำที่สร้างขึ้นโดยบริษัท "มาซากอน ด็อคส์" ในมุมไบ ส่วนอีก 3 ลำ จะสร้างโดยบริษัท "การ์เดน รีช ชิพบิลเดอร์ แอนด์ เอนจิเนีย" ในเมืองกัลกัตตา
เรือฟริเกตเหล่านี้จะติดตั้งเทคโนโลยีสเตลธ์ ซึ่งจะช่วยให้มันถูกตรวจจับโดยเรดาห์หรือเครื่องมือแกะรอยอื่นๆ ของศัตรูได้ยากมากขึ้น
หนังสือพิมพ์ "เดอะ ไทม์ ออฟ อินเดีย" รายงานว่า คณะรัฐมนตรีด้านความมั่นคงยังได้เปิดไฟเขียวให้กับโครงการสร้างเรือดำน้ำพลังงานนิวเคลียร์ 6 ลำ ที่มีมูลค่าอีก 8 พันล้านดอลลาร์ ตอนที่มีการประชุมคณะรัฐมนตรีช่วงต้นสัปดาห์นี้ไปแล้วด้วย
นับตั้งแต่ชนะการเลือกตั้งในเดือนพฤษภาคมปีที่แล้ว รัฐบาลเอียงขวาของโมดีก็ได้ดำเนินการหลายอย่างที่มุ่งเป้าไปสู่การปรับปรุงยุทโธปกรณ์ของประเทศ ที่เก่าแก่มาตั้งแต่ยุคสมัยสหภาพโซเวียต ให้กลายเป็นอาวุธที่ทันสมัย
โมดี ได้ทำงานร่วมกับบรรดามิตรประเทศในภูมิภาค เพื่อเตรียมรับมือกับจีน ประเทศที่มีข้อพิพาทกับอินเดียบริเวณพื้นที่แถบเทือกเขาหิมาลัยกันมายาวนาน
นอกจากนี้จีนยังถูกกล่าวหาด้วยว่า กำลังหาหนทางที่จะพัฒนาสิ่งปลูกสร้างไว้ในมหาสมุทรอินเดีย บริเวณจุดยุทธศาสตร์สำคัญหลายแห่ง ที่ถูกเรียกว่า "สตริง ออฟ เพิร์ล" เพื่อรับมือกับอินเดียและรักษาผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจของจีนเอาไว้
ทั้งนี้ การตรวจพบเรือดำน้ำจีน 2 ลำในน่านน้ำของศรีลังกาเมื่อปลายปีก่อน ได้สร้างความกังวลให้กับอินเดียเป็นพิเศษ เนื่องจากมองว่าเป็นเขตภายใต้อิทธิพลของตน