xs
xsm
sm
md
lg

“นายกฯโมดี” กร้าว! จะยกระดับ “กองทัพอินเดีย” ให้เข้มแข็งจนไม่มีใครกล้าลองดี

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เอเอฟพี – นายกรัฐมนตรี นเรนทรา โมดี แห่งอินเดียลุกขึ้นประกาศกร้าวในวันนี้(16) ว่าแดนภารตะจำเป็นต้องเสริมศักยภาพกองทัพให้แข็งแกร่ง จนถึงขั้นไม่มีชาติใดกล้า “จ้องมองด้วยเจตนาร้าย”

นายกฯ โมดี ได้ประกาศเจตนารมณ์ดังกล่าวระหว่างเป็นประธานในพิธีเปิดเรือรบขนาดใหญ่ที่สุดที่ต่อขึ้นเองในประเทศ ณ นครมุมไบ

“จุดมุ่งหมายของเราคือการบรรลุซึ่งศักยภาพในการป้องกันประเทศ ถึงขั้นไม่มีชาติใดกล้าจ้องมองอินเดียด้วยเจตนาร้าย” โมดี แถลงต่อบรรดานายทหารเรือและบุคคลสำคัญที่มาร่วมเป็นสักขีพยานในพิธีดังกล่าว

อินเดียซึ่งมีจำนวนประชากรมากเป็นอันดับ 2 ของโลกได้ทุ่มงบประมาณราว 100,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพื่อยกระดับการป้องกันตนเอง และรัฐบาล โมดี ยังมีนโยบายผ่อนปรนข้อจำกัดด้านการลงทุนในอุตสาหกรรมกลาโหมสำหรับนักลงทุนต่างชาติ เพื่อเร่งให้กองทัพมีความทันสมัยยิ่งขึ้น

อินเดียและเพื่อนบ้านคู่อริอย่างปากีสถานเคยทำสงครามกันถึง 3 ครั้ง โดย 2 ครั้งเกิดจากข้อพิพาทว่าด้วยดินแดนแคชเมียร์

นิวเดลียังจำเป็นต้องพัฒนาศักยภาพของกองทัพเพื่อรับมือจีน ซึ่งหันมาใช้นโยบายเชิงรุกป้องกันผลประโยชน์ของตนมากขึ้นทุกขณะ

โมดี ซึ่งเป็นผู้นำหัวชาตินิยมจัด กล่าวย้ำว่า อินเดียไม่ควรพึ่งพาอาวุธยุทโธปกรณ์ที่นำเข้าจากต่างชาติมากเกินไป และต้องหันมาสนับสนุนการวิจัย ออกแบบ และผลิตสรรพาวุธด้วยตนเอง

อินเดียถือเป็นประเทศผู้นำเข้าอาวุธรายใหญ่ที่สุดของโลก โดยมีสหรัฐฯเป็นซัพพลายเออร์ใหญ่ รองลงมาได้แก่ รัสเซีย ฝรั่งเศส และอิสราเอล

“เรือรบลำนี้สร้างขึ้นโดยฝีมือวิศวกร ช่างเทคนิค และผู้เชี่ยวชาญด้านกลาโหมของอินเดีย... นี่คือตัวอย่างสิ่งที่ยิ่งใหญ่ซึ่งเราสามารถผลิตขึ้นได้เองในอินเดีย” โมดี กล่าว

“รัฐบาลของผมมีเป้าหมายที่จะเปลี่ยนแปลงอินเดียจากประเทศที่ต้องนำเข้าเครื่องไม้เครื่องมือทางทหารทุกอย่าง มาเป็นประเทศที่สามารถผลิตและส่งออกอาวุธได้”

พรรคฮินดูขวาจัดภารติยะชนตะของ โมดี ก้าวขึ้นกุมบังเหียนปกครองอินเดีย หลังชนะศึกเลือกตั้งทั่วไปเมื่อเดือนพฤษภาคมด้วยคะแนนเสียงถล่มทลาย

เรือรบ ไอเอ็นเอส กัลกัตตา ระวางขับน้ำ 6,800 ตันลำนี้มีการติดตั้งระบบเซ็นเซอร์ เทคโนโลยีด้านการสื่อสาร และระบบอาวุธที่ทันสมัยที่สุด ซึ่งคาดว่าเรือลำนี้จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพด้านการป้องกันทางทะเล และปกป้องผลประโยชน์ทางยุทธศาสตร์ของอินเดียตั้งแต่บริเวณอ่าวเบงกอล เรื่อยไปจนถึงช่องแคบมะละกา



กำลังโหลดความคิดเห็น