xs
xsm
sm
md
lg

นายกฯ ออสซีโร่แจงไม่ได้อ้างเงินช่วยเหลือ “สึนามิ 2004” เพื่อขู่อิเหนาไว้ชีวิตนักโทษ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

แอนดรูว์ ชาน และ มยูรัน สุกุมารัน สองพลเมืองออสเตรเลียหัวหน้าแก๊ง บาหลีไนน์ ที่พยายามลักลอบขนเฮโรอีนจากเกาะบาหลีเมื่อปี 2005 และถูกศาลอินโดนีเซียตัดสินประหารชีวิต
รอยเตอร์ - นายกรัฐมนตรี โทนี แอ็บบอตต์ แห่งออสเตรเลียออกมาชี้แจงแถลงไขวันนี้ (19 ก.พ.) หลังถูกวิจารณ์ว่า “ลำเลิกบุญคุณ” ความช่วยเหลือเมื่อครั้งเกิดสึนามิ ปี 2004 เพื่อข่มขู่อินโดนีเซียให้ยอมไว้ชีวิต 2 พลเมืองออสซีที่ต้องโทษประหารในคดียาเสพติด

รัฐบาลออสเตรเลียยังคงใช้ความพยายามเต็มที่ที่จะกดดันอินโดนีเซียให้ไว้ชีวิต มยูรัน สุกุมารัน วัย 33 ปี และ แอนดรูว์ ชาน วัย 31 ปี หัวหน้าแก๊ง “บาหลีไนน์” ที่พยายามลักลอบขนเฮโรอีนน้ำหนัก 18 กิโลกรัมออกจากเกาะบาหลีไปยังออสเตรเลีย เมื่อปี 2005

กฎหมายอินโดนีเซียกำหนดโทษขั้นสูงสุดสำหรับผู้ก่อคดียาเสพติด และเริ่มประหารชีวิตนักโทษอีกครั้งในปี 2013 หลังจากที่เว้นช่วงไป 5 ปี

ผู้นำแดนจิงโจ้ถูกวิจารณ์อย่างหนัก หลังออกมาเตือนให้รัฐบาลอิเหนานึกถึงเหตุการณ์สึนามิในมหาสมุทรอินเดีย เมื่อปี 2004 โดยระบุว่า ชาวออสเตรเลียจะ “ผิดหวังอย่างรุนแรง” หากการประหารนักโทษยังเกิดขึ้น ทั้งๆ ที่แคนเบอร์ราเคยให้ความช่วยเหลือกว่า 1,000 ล้านดอลลาร์ออสเตรเลียแก่อินโดนีเซียที่ประสบภัยพิบัติทางธรรมชาติ จนมีผู้เสียชีวิตนับแสนคนที่จังหวัดอาเจะห์

อาร์มานาธา นาซีร์ โฆษกกระทรวงการต่างประเทศอินโดนีเซีย ได้ออกมาตอบโต้คำพูดของแอ็บบอตต์ทันทีว่า “คำขู่ไม่ใช่ภาษาของนักการทูต และไม่มีใครจะตอบสนองการข่มขู่ด้วยท่าทีอ่อนโยน”

แอ็บบอตต์ซึ่งมีคะแนนนิยมถดถอยและเพิ่งผ่านมรสุมเลือกตั้งผู้นำพรรคคนใหม่มาหมาดๆ ออกมาชี้แจงวันนี้ (19) ว่า ตนเพียง “อ้างถึงความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้น” ระหว่างสองประเทศเท่านั้น

“ผมแค่ต้องการชี้ให้เห็นว่า ออสเตรเลียกับอินโดนีเซียมีมิตรภาพที่ลึกซึ้งต่อกัน และเราจะคอยอยู่เคียงข้างเพื่อให้ความช่วยเหลือเสมอเมื่ออินโดนีเซียประสบปัญหา” แอ็บบอตต์ แถลงต่อสื่อมวลชนที่รัฐแทสเมเนีย

เมื่อผู้สื่อข่าวตั้งคำถามว่า เขาจงใจยกเรื่องความช่วยเหลือคราวเกิดสึนามิ ปี 2004 ขึ้นมาขู่อินโดนีเซียหรือไม่ ผู้นำแดนจิงโจ้ก็ยืนยันว่าตนเพียงย้ำเตือนถึงมิตรภาพระหว่างกันเท่านั้น

อินโดนีเซียได้เลื่อนกำหนดส่งตัว สุกุมารัน และ ชาน รวมถึงนักโทษอื่นๆ อีก 3 คนไปยังแดนประหาร หลังจากมีข้อกังวลทางการแพทย์ และครอบครัวได้ร้องขอเวลาอยู่กับนักโทษให้นานกว่านี้

ทั้งผู้นำออสเตรเลีย และ บัน คีมูน เลขาธิการสหประชาชาติ ต่างวิงวอนให้อินโดนีเซียยกเลิกโทษประหารต่อผู้ก่อคดียาเสพติด โดยขณะนี้ยังมีพลเมืองอีกหลายสัญชาติที่ถูกจำคุกและรอวันประหาร ทั้งชาวบราซิล, ฝรั่งเศส กานา, อินโดนีเซีย, ไนจีเรีย และฟิลิปปินส์

อินโดนีเซียยืนยันว่า การลงโทษประหารชีวิตไม่ได้เจาะจงพลเมืองของประเทศใดประเทศหนึ่ง แต่มีเป้าหมายเพื่อกวาดล้างการค้ายาเสพติด ซึ่งถือว่าเป็น “อาชญากรรมที่ร้ายแรง”

ความสัมพันธ์ทางการทูตที่ลุ่มๆ ดอนๆ ระหว่างออสเตรเลียและอินโดนีเซียกลายเป็นอุปสรรคบั่นทอนความร่วมมือหลายด้าน โดยเฉพาะการปราบปรามขบวนการค้ามนุษย์
นายกรัฐมนตรี โทนี แอบบ็อตต์ แห่งออสเตรเลีย
สภาพความเสียหายที่จังหวัดอาเจะห์ของอินโดนีเซีย หลังถูกสึนามิซัดถล่มเมื่อปี 2004 (แฟ้มภาพ)

กำลังโหลดความคิดเห็น